นโยบายสาธารณะในการใช้สารสกัดกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์

นโยบายสาธารณะในการใช้สารสกัดกัญชามาในประเทศไทย คือ …บทพิสูจน์ระบบสาธารณสุขของประเทศไทย

คำว่า “สาธารณะ” ในที่นี้ ไม่ได้เป็นการเฉพาะเจาะจงแต่เพียงผู้บริหารประเทศ บุคลากรทางการแพทย์ หรือนักวิชาการเท่านั้น ที่จะมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายของประเทศ แต่หมายความว่า ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมเพื่อให้ระบบดำเนินไปข้างหน้าด้วยกันได้

นโยบายสาธารณะเป็นการสร้างภาพรวมระบบ เปิดพื้นที่ชวนคิด ระบุจุดร่วม ประสานจุดต่าง เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติ

นโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ (Health Public Policy) หมายความว่า แนวทางในการปฏิบัติงานของรัฐบาลหรือโครงการที่รัฐบาลกำหนดขึ้นและมีผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประชาชนในสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมทั้งทางสังคมและทางกายภาพให้เอื้อต่อการมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี และมุ่งให้ประชาชนมีทางเลือกและสามารถเข้าถึงทางเลือกที่ก่อให้เกิดสุขภาพดีได้ ซึ่งนโยบายสาธารณะทางสุขภาพที่ดีจะต้องสอดคล้องกับค่านิยมและความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อถูกนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จะต้องทำให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเสมอภาคทั่วหน้า และต้องไม่ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ยากจน และมีคุณภาพชีวิตแย่ลง

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศแรกที่มีการอนุญาตให้นำสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยชน์ เนื่องจากตั้งแต่ประเทศไทยประกาศให้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีผลให้ใช้บังคับ พืชกัญชาก็ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อย้อนกลับมามองสภาพบ้านเมืองของสังคมไทยในอดีตก่อนปี พ.ศ. 2522 ที่ประชาชนสามารถปลูกกัญชาตามบ้านเรือนเอาไว้เพื่อใช้ประกอบอาหารหรือใช้รักษาโรคได้โดยไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด กัญชาจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตชาวบ้านมาตั้งแต่โบราณกาล แต่ก็เป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่ขณะนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการอนุญาตให้ใช้ “กัญชาเสรีเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จากเดิมที่ใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 “ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติด เว้นแต่รัฐมนตรีจะได้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเป็นราย ๆ ไป” แต่ภายหลังจากมีการประกาศให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 มาตรา 26/2 ความว่า “(1) ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา ทั้งนี้ให้รวมถึงการเกษตรกรรม พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์หรืออุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ด้วย ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ” ซึ่งนโยบายเรื่องการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่มุ่งเน้นประโยชน์ในทางการแพทย์อย่างแท้จริง เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้กัญชาทุกรายมีสิทธิในการเข้าถึงกัญชาเพื่อการรักษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง และการเข้าถึงกัญชาจะต้องไม่เป็นการจำกัดรูปแบบเฉพาะผลิตภัณฑ์กัญชาเกรดทางการแพทย์ (Medical Grade) เท่านั้น แต่ผู้ป่วยจะต้องมีเสรีภาพในการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทุกรูปแบบ ทั้งรูปแบบยาแผนปัจจุบัน (Modern Drugs) ตำรับยาตามตำรายาแผนไทย ตำรับ Special Access Scheme (SAS) สำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย และตำรับยาจากองค์ความรู้และภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน (Traditional Products)

แม้ว่านโยบายการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์จะส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทยอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม นโยบายสาธารณะในการควบคุมการนำสารสกัดกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศเช่นเดียวกัน อาจกล่าวได้ว่า นโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องระบบสาธารณสุข พร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายนั้น ซึ่งขอบเขตของนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพนี้จะต้องครอบคลุมนโยบายด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายด้านสังคม นโยบายด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น ทั้งนี้ ความสำเร็จของนโยบายสาธารณะนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญหลายประการ ได้แก่

ประการที่หนึ่ง เป้าประสงค์ที่ชัดเจน การจะระบุวัตถุประสงค์การดำเนินนโยบายสาธารณะที่ควบคุมการใช้กัญชาทางการแพทย์ให้ชัดเจน จำเป็นต้องอาศัยความครบถ้วนของข้อมูลทั้งหมด (Totality of Evidence) ได้แก่ หลักฐานงานวิจัยทางคลินิก (Research) ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (Knowledge) ประสบการณ์จากประเทศอื่นเป็นฐานประกอบ (Experience) และผนวกเข้ากับบริบทของสังคมไทย (Local Context) ทำให้การกำหนดนโยบายการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นไปในลักษณะ Evidence-informed Policy-making ซึ่งจะทำให้ทราบถึงระดับการผ่อนปรนที่เหมาะสม เพื่อป้องกันความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้นจากความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน อีกทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงต่อความล้มเหลวเมื่อนำนโยบายไปปฏิบัติ

ประการที่สอง การบริหารราชการแผ่นดิน (Health Politics and Actions) ซึ่งหมายความรวมถึง ระบบการกำกับดูแลการใช้กัญชาทางการแพทย์ การจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างเหมาะสม เช่น งบประมาณการเบิกจ่ายยากัญชาตามสิทธิประกันสังคม เป็นต้น

ประการที่สาม ความพร้อมของทรัพยากรทางสาธารณสุข (Public Health Resources) ซึ่งหมายความรวมถึงทรัพยากรบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับผิดชอบ กล่าวคือ จะต้องมีหน่วยงานกลางกัญชาของประเทศที่มีศักยภาพเป็นผู้รับผิดชอบระบบการกำกับดูแลโดยตรง เพื่อให้กลไกการควบคุม ตรวจสอบ ประเมินผลการนำนโยบายกัญชาไปปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม และมั่นใจว่าจะบรรลุเป้าประสงค์การใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล นอกจากนี้ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านอื่น ๆ อาทิ นักวิชาการ บุคลากรสาธารณสุข แพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์พื้นบ้านหรือแพทย์ทางเลือก เป็นต้น

ประการที่สี่ ต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นอย่างดี (Community Health Issues) คำว่า “สาธารณะ” ในที่นี้ หมายความรวมถึง ประชาชนทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมเพื่อให้ระบบดำเนินไปข้างหน้าด้วยกันได้ โดยการที่ประชาชนจะให้การสนับสนุนนโยบายใด แสดงว่า นโยบายนั้นจะต้องสอดคล้องกับทัศนคติ ค่านิยม พื้นฐานความคิดความเข้าใจ ความต้องการของประชาชน และวิถีชุมชน ซึ่งความรวดเร็วของการส่งและรับข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบัน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า สื่อมวลชน คือ กลไกสำคัญที่มีผลต่อการรับรู้ ความคิดความเข้าใจของประชาชน รวมไปถึงการกำหนดค่านิยมของผู้คนในสังคม ดังนั้นการพัฒนาให้บุคคลทางด้านการสื่อสารเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนการนำเสนอข่าวสารออกสู่ประชาชน อาจเป็นนิมิตหมายที่ดีในการสร้างเอกภาพในการสื่อสารและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในการใช้สารสกัดกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ

ระดับการควบคุมกับผลกระทบทางสุขภาพและสังคม

ผ่อนปรนเท่าไร แค่ไหนถึงเรียก สมดุล

สร้างประโยชน์สูงที่สุด ความปลอดภัยสูงที่สุด เป็นไปได้อย่างไร

จากตัวอย่างกรณีศึกษาของยา Pseudoephedrine ที่มีข้อบ่งใช้รักษาอาการคัดจมูก เมื่อพบว่ามีการนำตัวยานี้ไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ส่งผลให้ยาดังกล่าวไม่สามารถหาซื้อได้จากร้านขายยาทั่วไป แต่จะมีใช้เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น จะเห็นได้ว่าวิธีการแก้ปัญหาดังตัวอย่างนี้เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม เช่นเดียวกันกับกรณีของกัญชา ในอดีตที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประกาศให้กัญชาเป็นพืชเสพติดมาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นการจำกัดสิทธิการเข้าถึงการรักษาที่เข้มงวดมากเกินไป (Ultra-prohibition) นำไปสู่ปัญหาการแพร่กระจายของกัญชาผิดกฎหมาย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีมาตรฐาน มีการปนเปื้อนของโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา หรือสารพิษอื่น ๆ มากมายที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยแทนที่จะได้รับประโยชน์จากการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค ขณะเดียวกัน บุหรี่และแอลกอฮอล์ซึ่งถือเป็นสารที่ก่อให้เกิดความมึนเมาและการเสพติดได้มากกว่ากัญชา อีกทั้งยังไม่มีประโยชน์ในทางการแพทย์แล้วด้วยนั้น กลับเป็นการเปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเสรี แม้จะบอกว่ามีกฎหมายจำกัดอายุผู้ซื้อ แต่ก็ไม่เป็นผลดีต่อประชาชนอย่างแน่นอน ดังที่ได้เห็นจากการรายงานข่าวอุบัติเหตุบนท้องถนนหรือปัญหาการทะเลาะวิวาทที่เกิดขึ้นทุกวัน รวมถึงแนวโน้มตัวเลขผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำที่มีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในการจะกำหนดระดับการควบคุมการผ่อนปรนการใช้กัญชาที่เหมาะสมจะต้องพิจารณาถึงจุดสมดุล (Strict Legal Regulation) ที่จะสามารถนำกัญชามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุดทั้งทางการแพทย์และทางเศรษฐกิจ โดยจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสาธารณะทางสุขภาพและสังคมน้อยที่สุด (Social and Health Harms Minimization)

กัญชา พืชยาทางการแพทย์ หรือ ยาเสพติดมอมเมา ในวันที่ค่านิยมและความเชื่อเปลี่ยนแปลงไป เราไม่ลืมใครไว้ข้างหลังใช่ไหม?

ขึ้นชื่อว่าเป็น “ยาเสพติด” แล้ว ใครเสพก็ติด ติดแล้วเลิกยาก เมื่อร่างกายได้รับกัญชาเกินขนาดก็จะออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ส่งผลให้เกิดอาการมึนเมา นานวันเข้าก็กลายเป็นยาเสพติดให้โทษ ทว่าท่ามกลางพิษภัยของผู้เสพกัญชาจนติด กลับมีสารสกัดน้ำมันกัญชาที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคมากมาย ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ได้เกิดกระแส “กัญชาฟีเวอร์” ไปทั่วโลก จากการที่ทัศนคติ ค่านิยม แนวคิดความเชื่อของผู้คนที่เคยมีต่อกัญชาเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะในการนำมาใช้บรรเทาความเจ็บปวดจากการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัด ไปจนถึงความหวังในการปราบปรามผลิตภัณฑ์กัญชาผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเสียงคัดค้านและคำถามมากมายที่ยังคาใจผู้ที่ยังไม่เห็นด้วยกับนโยบายกัญชาภายในประเทศ สิ่งสำคัญที่อยากให้ทุกท่านได้ทำความเข้าใจก่อน คือ ทุกอย่างย่อมมี 2 ด้านเสมอ การกำหนดระดับการควบคุมต้องวิเคราะห์แยกแยะถึงประโยชน์ (Benefit) ในการรักษาโรค กับความเสี่ยง (Risk) ซึ่งหนึ่งในความเสี่ยงที่เป็นที่น่ากังวลมากที่สุดอาจเป็นปัญหาการใช้กัญชาในทางที่ผิด และการเพิ่มขึ้นของผู้เสพหน้าใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประชากรกลุ่มเด็กและเยาวชน ในทางกลับกัน หากเปลี่ยนแนวความคิดจาก ‘ผู้เสพติด คือ ผู้กระทำผิดกฎหมาย’ เป็น ‘ผู้เสพติด ก็คือ ผู้ป่วยคนหนึ่ง’ จะทำให้สามารถนำบุคคลเหล่านี้เข้าสู่ระบบเพื่อทำการบำบัดต่อไปได้ ดังนั้น ระดับการควบคุมการใช้กัญชาที่มีประสิทธิภาพจะต้องรู้จักความพอดีและความเหมาะสมของจุดสมดุลที่เกิดบาลานซ์ระหว่างประโยชน์และความเสี่ยงมากที่สุด

ความเข้าใจผิดเรื่องสายพันธุ์ กัญชง กับ กัญชา

กัญชง คือ พืชเศรษฐกิจมาแรง สร้างเกษตรกรไทยลืมตาอ้าปาก สร้างรายได้ให้ประชาชน

ปัจจุบันยังมีประชาชนมากกว่า 50% ที่ยังแยกแยะความแตกต่างระหว่าง กัญชา (Cannabis หรือ Marijuana) และกัญชง (Hemp) ไม่ได้ เนื่องจากพืชทั้งสองชนิดเป็นพืชในตระกูลเดียวกัน มีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกันมาก จนทำให้คนจำนวนไม่น้อยเหมารวมทั้งกัญชงและกัญชาเป็นพืชเสพติดทั้งหมด แต่ในความเป็นจริงแล้ว กัญชากับกัญชงเป็นพืชคนละชนิด และถึงแม้ว่าทั้งพืชกัญชาและกัญชงจะสารที่ออกฤทธิ์หลัก 2 ตัวเหมือนกัน ได้แก่ สาร CBD และ THC แต่พืชทั้ง 2 สายพันธุ์กลับมีปริมาณสารออกฤทธิ์ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะกัญชง ซึ่งถ้าอ้างอิงตามกฎหมายสากลที่ระบุว่า พืชที่ใหปริมาณสาร THC น้อยกว่า 0.3% ไม่ถือว่าเป็นพืชเสพติด และปัจจุบันหน่วยงาน U.S. Drug Enforcement Administration (DEA) ก็ได้ถอดถอนกัญชงออกจากรายการสารที่อยู่ภายใต้การควบคุมการใช้ตามกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กัญชงจึงถือเป็นพืชที่ปลูกได้อย่างเสรีเพื่อเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (Industrial Hemp) ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า กัญชงไม่ใช่พืชเสพติด ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ในทางกลับกัน กัญชงคือพืชเศรษฐกิจ ที่มีศักยภาพในการนำมาใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจในอุตสาหกรรมหลากหลาย กัญชงไม่ได้เป็นเพียงแหล่งของสาร CBD (Hemp-derived CBD) คุณภาพดีที่มีความปลอดภัยสูงเท่านั้น ทุกส่วนของกัญชงสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หมด อาทิ

เมล็ดกัญชง มีโปรตีนที่มีคุณคาทางโภชนาการสูงกว่าและราคาถูกกว่าถั่วเหลืองหลายเท่า จึงมีการวิจัยเพื่อแปรรูปเมล็ดกัญชงเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชทดแทนถั่วเหลือง นอกจากนี้ น้ำมันในเมล็ดกัญชงยังมีกรดไขมัน Omega-3 ซึ่งเป็นกรดไขมันดีชนิดเดียวกันกับที่พบในน้ำมันปลา

ต้นกัญชง ซึ่งให้ปริมาณเส้นใยมากกว่าต้นกัญชาถึง 20% และเส้นใยมีคุณภาพดี แข็งแรง ทนทานมากกว่าเส้นใยฝ้ายถึง 2 เท่า ทำให้ในสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นนิยมนำเส้นใยกัญชงมาใช้ทดแทนเส้นใยสังเคราะห์เพื่อใช้เป็นส่วนประกอบหลักของชิ้นส่วนภายในรถยนต์ เช่น แผงประตู ถาดรอง เบาะหลัง และบุผนังที่เก็บของท้ายรถ เป็นต้น อีกทั้งจีนและแคนาดาเองก็เป็นประเทศที่มีมูลค่าการตลาดในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเยื่อกระดาษจากเส้นใยกัญชาอันดับต้น ๆ ของโลก

ตามที่ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เรื่อง กำหนดลักษณะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2562 ระบุว่า กัญชงเป็นชนิดย่อยของพืชกัญชา ที่มีปริมาณสาร THC ในใบและช่อดอกไม่เกิน 0.5% ต่อน้ำหนักแห้ง นอกจากนี้ยังกำหนดนิยามของเมล็ดพันธุ์กัญชงว่ามีปริมาณสาร THC ในใบและช่อดอกไม่เกิน 0.3% ต่อน้ำหนักแห้ง ทั้งนี้ก็เพื่อจุดประสงค์ในการแยกระบบการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์กัญชงและกัญชาออกจากกัน และเป็นการมุ่งส่งเสริมการปลูกกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจเป็นหลัก

นอกจากนี้ การปลดล็อกสารสกัดกัญชงและกัญชาตามที่ระบุในประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ซึ่งได้ถอดถอนรายการกัญชงและกัญชาดังต่อไปนี้ออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ก็นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของนโยบายสนับสนุนการใช้กัญชาเพื่อสร้างประโยชน์ในทางการแพทย์และเชิงเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทยอย่างแท้จริง

สารสกัดจากพืชกัญชงและพืชกัญชา ได้แก่ สาร cannabidiol (CBD) ที่มีความบริสุทธิ์มากกว่าหรือเท่ากับ 99% และมีปริมาณสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ไม่เกิน 0.01% โดยน้ำหนัก

ผลิตภัณฑ์ที่มี CBD เป็นส่วนประกอบหลัก และมีสาร THC เป็นองค์ประกอบไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก ซึ่งเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร

เมล็ดกัญชง (Hemp seed) หรือน้ำมันจากเมล็ดกัญชง (Hemp seed oil) หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ให้สามารถใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอางได้ แต่เมล็ดที่ใช้ต้องเป็นเมล็ดที่ไม่สามารถนำไปเพาะพันธุ์ต่อได้

เปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากส่วนประกอบนี้ของกัญชาและกัญชง

ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์กับสังคมไทย

น้ำมันกัญชาใต้ดิน ไม่ได้มาตรฐาน มีแต่สารตกค้างอันตราย จริงหรือ?

ผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีให้พบเห็นได้ทุกวันนี้ มีตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นยากัญชารูปแบบ Pharmaceutical Products ที่ต้องได้รับรองมาตรฐานโดยสำนักงานคณะกรรมการอาการและยา (อย.) ได้แก่ สารสำคัญชนิดเดียวในรูปสารสังเคราะห์ (Synthetic THC: Marinol® หรือ Syndros®) หรือสารกัด (Plant-based CBD: Epidiolex®) หรือสารสกัดที่ทราบปริมาณ CBD:THC (Plant-based equal CBD/THC: Sativex®) ซึ่งการจะนำเข้าผลิตภัณฑ์ยากัญชาประเภทนี้ต้องมีการขออนุญาตนำเข้าและขึ้นทะเบียนตำรับยากับ อย. อย่างถูกต้อง และจะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติ คุณภาพและประสิทธิภาพของยาตามกฎหมาย ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่พบข้อมูลว่ามีบุคคลหรือหน่วยงานใดขออนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์ยากัญชาประเภทนี้ ขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์กัญชารูปแบบที่มีใช้ในประเทศไทยจะอยู่ในรูปแบบ Herbal Cannabis Preparations ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ผ่านการอนุมัติทะเบียนตำรับ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์กัญชารูปแบบ Herbal Cannabis Preparations ยังมีการแบ่งเป็นเกรดต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ วิถีชาวบ้าน (Self-remedy) คือการใช้ดอก/ใบ/ต้น/ราก ตำรับหมอพื้นบ้าน ตำรับยาแผนไทยตามตำรายา ไปจนถึงผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาของโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย และผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาที่มีการควบคุมมาตรฐานเกรดทางการแพทย์ของหน่วยงานรัฐ (Medical Grade) อย่างผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) และผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร

เป็นที่ทราบกันดีว่า การจะนำสารสกัดกัญชามาใช้รักษาผู้ป่วยให้ได้รับประโยชน์สูงสุดนั้น ต้องเน้นมาตรฐาน คุณภาพ ความปลอดภัยครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การผลิต การตรวจสอบคุณภาพ ไปจนถึงการใช้ ซึ่งทุกกระบวนการจะต้องมีการควบคุมและผ่านการตรวจมาตรฐานแล้วว่า มีความปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลง โลหะหนัก สารเคมีตกค้าง และการจ่ายยากัญชาก็จะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ทางการแพทย์ ทำให้ประชาชนบางกลุ่มเกิดความหวาดกลัวที่จะใช้กัญชาวิถีชาวบ้าน หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ‘กัญชาบ้าน ๆ’ ที่ชอบเรียกกัน เนื่องจากผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยที่แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะเป็นกัญชาเกรดทางการแพทย์ที่มีคุณภาพมาตรฐานดีที่สุดหรือผลิตภัณฑ์ยากัญชานำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าหากใช้ผิดวิธีก็ย่อมก่อให้เกิดอันตรายรุนแรงต่อผู้ใช้ได้เช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันกัญชาสกัดเย็น น้ำมันกัญชา อ.เดชา หรือ อ. ไหน ๆ ก็ตาม ก็ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากสามารถควบคุมมาตรฐานได้ก็สามารถใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ไม่แตกต่างกัน

กัญชา Micro dose เริ่มใช้ทีละน้อย ค่อย ๆ เพิ่มทีละนิด ใช้ให้เป็น ‘ยา’ ไม่มีคำว่าเมา

คำนี้จะกลายเป็นคำขวัญประจำตัวผู้ใช้กัญชาทุกท่านที่ต้องการหาขนาดยาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตนเอง ในการเริ่มต้นได้รับสารกัญชาเข้าสู่ร่างกาย ผู้ป่วยจะต้องทำให้ร่างกายชินกับสารกัญชาที่รับเข้าไปจากภายนอกก่อนที่จะเพิ่มขนาดยาทีละน้อยจนไปถึงขนาดยาที่สามารถบรรเทาอาการหรือรักษาโรคได้ วิธีการใช้กัญชานี้ เรียกว่า ไมโครโดส (Micro dose) หรือการไตเตรทขนาดยาด้วยตนเอง ซึ่งหมายความว่าผู้ป่วยแต่ละรายจะต้องรับผิดชอบในการหาขนาดยาต่ำที่สุดที่มีประสิทธิภาพสำหรับร่างกายและจิตใจของตนเอง

หนึ่งในความท้าทายในการค้นหาปริมาณที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายคือ การทราบถึงปริมาณที่แน่ชัดของสาร CBD และ THC ในผลิตภัณฑ์กัญชา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ผลิตภัณฑ์กัญชาจากแต่ละแหล่งที่มาย่อมมีสัดส่วนสารออกฤทธิ์แต่ละชนิดในปริมาณที่แตกต่างกันไป เนื่องด้วยพืชกัญชาจัดเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดความผันแปร (variation) ได้เช่นเดียวกับพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ทั้งจากความหลากหลายของสายพันธุ์กัญชาเอง กระบวนการปลูกแต่ละแบบก็ทำให้สารออกฤทธิ์แต่ละสายพันธุ์ผิดเพี้ยนไปได้ วิธีการสกัด หรือแม้กระทั่งการหมักบ่ม แปรรูป ก็ยิ่งส่งผลให้สารสำคัญออกฤทธิ์เกิดการเปลี่ยนรูปไปได้ ดังนั้น ถ้าหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบตรงนี้สามารถสร้างแพลตฟอร์ม (Platform) กลางที่ประชาชนทุกคนสามารถทำตามได้หมด กัญชาวิถีชาวบ้าน หรือ กัญชา Micro dose ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกลัวอีกต่อไป

ทิศทางระบบการกำกับดูแลการนำสารสกัดกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

การเข้าถึงทางการแพทย์ การลดความเสี่ยงจากการใช้กัญชา ความปลอดภัยต่อสาธารณะ และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน … หัวใจสำคัญของระบบควบคุมการใช้กัญชาทางการแพทย์

การจะกำหนดกรอบนโยบายและแผนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ เป็นกระบวนการที่จะต้องกระทำเป็นวงจร กล่าวคือ กำหนด – ดำเนินการ – ประเมินผล – ประยุกต์และปรับปรุง โดยเฉพาะนโยบายระดับชาติอย่างนโยบายการนำสารสกัดกัญชามาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ยิ่งต้องอาศัยความครบถ้วนของข้อมูล ความรู้ และหลักฐานทางวิชาการมาใช้ประกอบการกำหนดนโยบาย และเพื่อปรับปรุงนโยบายให้เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทย ซึ่งจะมุ่งเน้นให้บรรลุเป้าประสงค์ 4 ประเด็นหลัก อันได้แก่ 1. การเข้าถึงทางการแพทย์ 2. การลดความเสี่ยงจากการใช้กัญชา (Risk-based approach) 3. ความปลอดภัยต่อสาธารณะ และ 4. การจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ที่จะเป็นหัวใจสำคัญในการพิจารณาการวางกรอบนโยบายและสร้างแผนที่นำทาง (Roadmap) เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายกัญชาดำเนินไปได้ในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง

ทำไมต้องเข้าถึงกัญชาเพื่อรักษาตนเองแบบวิถีชาวบ้าน?

Epidiolex® 83,938 บาท/เดือน น้ำมันกัญชาองค์การเภสัชกรรม 2,500 บาท/เดือน ปลูกเอง สกัดเอง 0 บาท/เดือน

เป็นที่น่าสังเกตว่า หากประเทศไทยประกาศให้ใช้ยากัญชานำเข้าจากต่างประเทศ ในกรณีผู้ป่วยโรคลมชักอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการรักษาอย่างน้อย 10,000 บาท/เดือน และสูงไปถึงมากกว่า 80,000 บาท/เดือน ขณะที่การใช้น้ำมันกัญชาที่ผลิตโดยหน่วยงานรัฐภายในประเทศ (น้ำมันกัญชาองค์การเภสัชกรรม) ผู้ป่วยจะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาลดลงเหลือเพียง 1 ใน 4 หรือ 2,500 บาท/เดือนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าหากประเทศไทยมีนโยบายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยสามารถปลูกและสกัดกัญชาเพื่อใช้สำหรับการรักษาโรคตนเองได้ จะถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาข้อจำกัดการเข้าถึงการรักษาจากราคายาได้เป็นอย่างดี ดังนั้น นโยบายที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์อย่างแท้จริง ต้องไม่มุ่งแต่เพียงส่งเสริมบทบาทของหน่วยงานของรัฐเท่านั้น แต่ต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเข้าถึงการใช้กัญชาวิถีชาวบ้านไปพร้อมกันด้วย ทั้งการเข้ามามีบทบาทของหมอพื้นบ้านและการสนับสนุนให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้

ระบบการควบคุมกัญชาของประเทศไทยจึงต้องเป็นการดำเนินการ “ปลดล็อคระดับการเข้าถึงกัญชาเสรี (Unlock level)” ไปทีละระดับ โดยจะแบ่งเป็นระยะ (Phase) ต่าง ๆ ซึ่งสถานการณ์การใช้กัญชาในประเทศไทยขณะนี้อยู่ที่ระยะ 3.5 กล่าวคือ ประเทศไทยได้ผ่านระยะที่ 3.0 ที่มีการอนุญาตการปลูกและการผลิตกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว (Cultivation & Production for Medical purpose) และอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ระยะที่ 4.0 คือ การปรับการเข้าถึงกัญชาสู่ระดับชุมชน เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงกัญชาในการรักษาตนเองแบบวิถีชาวบ้าน (Self-remedy)

ไม่ได้ทำเชิงธุรกิจ อุตสาหกรรม ทำไมต้องมี Supply Chain กัญชา?

Supply Chain จะวิ่งไปข้างหน้าได้ ไม่ได้วิ่งด้วยใครคนใดคนหนึ่ง ถนนสายที่ระบุเส้นทางไว้แล้ว จะต้องไม่แคบจนเกินไป … มันต้องกว้างพอที่จะรองรับทุกคนให้วิ่งไปข้างหน้าด้วยกันได้

การจะนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์โดยไม่ต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ประเทศไทยจะต้องมีการดำเนินการเองอย่างครบวงจรในห่วงโซ่อุปาทาน (Supply Chain) เริ่มตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ คือ การวิจัย พัฒนา คัดเลือกสายพันธุ์ และการปลูกต้นกัญชาเป็นวัตถุดิบที่มีสารสำคัญเหมาะสมที่จะใช้ในทางการแพทย์ ปราศจากการใช้สารพิษ สารเคมีระหว่างการปลูก เมื่อมีการวิจัย พัฒนาสายพันธุ์กัญชาไทยให้ได้มาตรฐาน สามารถปลูกได้ในสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศของประเทศไทยแล้ว จะเป็นการลดต้นทุนการผลิตวัตถุดิบให้ต่ำลงได้ กระบวนการส่วนกลางน้ำ คือ การวิจัย พัฒนา และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาที่มีสาร CBD และ THC ตลอดจนสารอื่น ๆ ที่ใช้ประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย โดยหากเป็นการผลิตในระดับที่ใหญ่ขึ้นเป็น Mass Production กล่าวคือ การผลิตในปริมาณมากโดยนำวิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการผลิต นอกจากจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการปลูก การผลิต เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้กัญชาที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนต่อหน่วยให้มีราคาถูกลงอย่างมากอีกด้วย และกระบวนการส่วนปลายน้ำ คือ การนำไปใช้รักษาผู้ป่วยภายใต้ความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะต้องทำการเก็บข้อมูลการวิจัยควบคู่กันไป รวมถึงการนำไปศึกษาวิจัยทดลองทางคลินิกของแพทย์และทีมผู้วิจัยด้วย ​​

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการใช้กัญชาทางการแพทย์ยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย อีกทั้งผลิตภัณฑ์กัญชาบางรายการยังจัดอยู่ใน พ.ร.บ. ยาเสพติด การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์กัญชาจะต้องมีการขออนุญาต ซึ่งจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ระบุในกฎกระทรวงอย่างเข้มงวด จึงมีความจำเป็นต้องมีระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปาทาน (Supply chain management) ที่ช่วยให้ผู้ผลิต หน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบกำกับดูแล นักวิจัย ผู้จัดจำหน่าย และผู้ป่วยที่ต้องการนำกัญชามาใช้สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์กัญชา ขั้นตอนการวิจัย อีกทั้งยังสามารถนำมาช่วยในการประกันคุณภาพของวัตถุดิบพืชกัญชาและสารสกัดที่ได้อีกด้วย เรียกได้ว่า สามารถติดตามสถานะการปลูกกัญชาตั้งแต่ต้นน้ำจนไปถึงการออกวางจำหน่ายช่วงปลายน้ำเลยทีเดียว ดังนั้น การพัฒนาระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปาทานที่ดี นอกจากจะช่วยเพิ่มความโปร่งใส (Transparency) ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ได้ถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยแล้ว ยังสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและลดความกังวลของภาครัฐในการควบคุม กำกับดูแลการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาได้อีกด้วย

ผู้เขียน : ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน