แพทย์รามาฯ เผยคนไทยป่วยโรคไตเรื้อรังกว่า 17% แนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เบาหวาน ความดัน พฤติกรรมการบริโภค กินหวาน มัน เค็ม หรือสมุนไพรบางชนิด แนะคัดกรองสุขภาพ โดยเฉพาะ 4 กลุ่มเสี่ยง ย้ำข้อสังเกตปัสสาวะกลางคืนแบบใดเข้าข่ายป่วยโรคไต เผยแนวทางรักษา และป้องกันก่อนเกิดโรค
ไทยป่วยโรคไตกว่า 17%
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ผศ.นพ.คณิน ธรรมาวรานุคุปต์ อายุรแพทย์โรคไต สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ความรู้เรื่อง โรคไตเรื้อรัง ภายในรายงาน FM 91 ก้าวทันโรคกับแพทยสภา โดยดีเจ ลัดดาวัลย์ คัชชาพงษ์ ว่า โรคไต ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขทั้งประเทศไทยและทั่วโลก ความชุกของผู้ป่วยไตในไทยมีกว่า 17% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุส่วนใหญ่เบาหวานและความดัน รองลงมาคือ นิ่วในไต ภาวะไตอักเสบ รวมถึงกรรมพันธุ์ไต อย่างนิ่วในไต มีหลายสาเหตุ เช่น อาหารการกิน กินสมุนไพรบางชนิด หรือเกิดจากกรรมพันธุ์ก็ได้
ทั้งนี้ โรคไตมี 2 แบบ คือ แบบไตเสื่อมเฉียบพลัน และแบบไตเสื่อมเรื้อรัง โดยไตเสื่อมแบบใดจะพิจารณาจากค่าการทำงานของไตเสื่อมลงกว่าปกติ โดยตัดเวลา 3 เดือน หากไตเสื่อมลงกว่าปกติน้อยกว่า 3 เดือนจะเป็นแบบเฉียบพลัน แต่หากมากกว่า 3 เดือนจะเป็นไตเรื้อรัง
5 ระยะโรคไตเรื้อรัง
“ไตเรื้อรัง” คือ การทำงานไตเสื่อมลงน้อยกว่า 60% ยาวนานเกิน 3 เดือน แบ่งเป็น 5 ระยะ คือ ระยะที่1 ค่าการทำงานของไตอยู่ที่มากกว่า 90% ซึ่งจริงๆต้องพิจารณาจากหน้าตาไต เช่น ไตมีถุงน้ำเยอะ แม้อัตราการกรองของไตมากกว่า 90% ก็ถือว่าเป็นโรคไตระยะที่ 1 ได้ ส่วนระยะที่ 2 ค่าการทำงานของไตอยู่ที่ 60-90% ระยะที่ 3 ค่าการทำงานของไต 30-60% ระยะที่ 4 ค่าการทำงานของไต15-30% และระยะที่ 5 (ระยะสุดท้าย) ค่าการทำงานของไตต่ำกว่า 15%
“ไตเสื่อม” ไม่สามารถฟื้นคืนได้
“หากค่าการทำงานของไตเสื่อมลงแล้ว จะไม่สามารถฟื้นให้กลับมาดีขึ้น แต่สามารถชะลอไม่ให้เสื่อมเร็วลงไปอีกได้ เช่น ผู้ป่วยค่าการทำงานไตอยู่ที่ 65% หากไม่ทำอะไรผ่านระยะเวลาหนึ่งอาจลดลงมาเร็วเหลือ 50% แต่หากรู้เร็วปฏิบัติตัวถูกต้อง อาจลดลงเหลือ 62% ได้” ผศ.นพ.คณิน กล่าว
อาการผู้ป่วยไตเรื้อรัง ปัสสาวะผิดปกติ อ่อนเพลีย
สำหรับอาการของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง อายุรแพทย์โรคไต ให้ความรู้ว่า “ผู้ป่วยโรคไต จะไม่มีอาการอะไรเลย จนไปถึงรุนแรง ช่วงที่ไม่มีอาการ แต่เมื่อตรวจปัสสาวะอาจเห็นเม็ดเลือดแดง หรือโปรตีนรั่วออกมาเจือปนได้ หรือปัสสาวะมีฟองมากขึ้น หรือปัสสาวะกลางคืน 2 ครั้งขึ้นไป เช่น นอนหลับไปแล้วต้องตื่นมาก็ให้ระวัง หรือปัสสาวะน้อยลง บางคนกินไม่ค่อยได้ อ่อนเพลีย ตัวบวม ขาบวม เหนื่อยง่ายขึ้น อาการจะค่อยๆมากขึ้นจนสุดท้ายเป็นโรคไตระยะสุดท้ายได้ ซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆมาทีละอย่าง ตั้งแต่น้อยจนถึงมาก บางคนหากค่าทำงานไตเสื่อมลงเหลือ 20% แต่ไม่มีอาการก็ยังได้
ผศ.นพ.คณิน ย้ำถึงการปัสสาวะกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง ให้สังเกตด้วยว่า เมื่อตื่นมาแล้วไม่ต้องดื่มน้ำซ้ำ แต่ยังปัสสาวะกลางคืนก็ถือว่าเสี่ยงได้ เนื่องจากร่างกายเราภายใน 4 ชั่วโมงจะขับปัสสาวะจากน้ำที่ดื่มเกือบออกเกิน 80% หากตื่นมาดื่มก็จะต้องถ่ายออก แต่หลักการคือ ตื่นมาแล้วต้องไม่ดื่มน้ำ ให้สังเกตตรงนี้ได้ นอกจากนี้ การปัสสาวะเป็นฟอง หรือกลิ่นผิดปกติ ขอให้มาตรวจก่อน ส่วนภาวะบวม อาจไม่ใช่แค่โรคไต ยังมีโรคหัวใจ โรคตับ ดังนั้น ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยดีที่สุด เพราะโรคไตเป็นโรคเงียบ บางคนไม่แสดงอาการ บางคนแสดงอาการ
คัดกรอง 4 กลุ่มเสี่ยง
ดังนั้น สิ่งสำคัญขอให้มีการตรวจคัดกรองในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง โดยกลุ่มเสี่ยง คือ 1. อายุมากกว่า 60 ปีแนะนำตรวจคัดกรอง 2 อย่าง คือ เจาะเลือดดูค่าทำงานไต และเก็บปัสสาวะ 1 กระปุกเพื่อหาโรคไตได้ 2.กลุ่มโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคเก๊าต์ โรคนิ่วในไต เป็นต้น 3.กลุ่มมีประวัติสูบบุหรี่ มีผลทำให้เส้นเลือดไตแย่ลงได้ 4.กลุ่มกินยาสมุนไพร ยาจีน หรือยาแก้ปวดแก้อักเสบเยอะๆ ขอให้ตรวจคัดกรองไตเป็นช่วงๆ
ทั้งนี้ การเจาะเลือด ตรวจปัสสาวะจะพอทราบได้ระดับหนึ่ง หรือการตรวจอัลตราซาวด์เพื่อพิจารณาว่ามีลักษณะไตผิดปกติหรือไม่
การรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไต
สำหรับการรักษาด้วยการการบำบัดทดแทนไต มีทั้งการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตผ่านหน้าท้อง และที่แนะนำคือ การปลูกถ่ายไต จริงๆมีทางเลือกที่ 4 ในการรักษาตามอาการสำหรับคนไข้ที่มีโรคร่วมเยอะ การฟอกเลือดอาจเป็นอันตรายได้
(ข่าวเกี่ยวข้อง : บอร์ด สปสช. เห็นชอบข้อเสนอ นำระบบล้างไตช่องท้อง PD first กลับมาใช้ )
แนวทางป้องกันโรคไต
แนวทางป้องกันโรคไต ผศ.นพ.คณิน เผยว่า พฤติกรรมการรับประทานอาหารมีผลมาก ดังนั้น ควรปรับการบริโภค ลดอาหารรสชาติเค็มมากๆ เพราะทำให้ไตทำงานหนักขึ้น และค่อยๆเสื่อมเร็วกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม การกินของเค็ม ยังมีผลต่อการเกิดความดันโลหิตสูง และความดันโลหิต มีผลต่อเส้นเลือดสมอง เส้นเลือดหัวใจ และเส้นเลือดเลี้ยงไต
ดื่มน้ำสะอาดดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องน้ำด่าง
ส่วนเรื่องการดื่มน้ำนั้น ผศ.นพ.คณิน แนะนำว่า ควรเป็นน้ำเปล่าน้ำสะอาดดีที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นน้ำด่าง น้ำอะไรเพิ่มเติม ส่วนปริมาณการดื่ม คนทั่วไปควรดื่มวันละ 2 ลิตร หรือ 6-8 แก้วต่อวัน แต่หากป่วยไตระยะหลังๆ อย่างระยะที่ 4 และ 5 จะดื่มน้ำเยอะไม่ได้ แต่ให้สังเกตดังนี้ หากปัสสาวะเยอะ สามารถดื่มมากกว่าปัสสาวะได้ครึ่งงิตร ยกตัวอย่าง หากปัสสาวะ 1 ลิตร ให้ดื่มน้ำ 1 ลิตรครึ่ง
ลด “หวาน มัน ไขมัน” ชะลอไตเสื่อม
นอกจากนี้ ขอย้ำว่า อาหารเค็มน้อยจะเป็นประโยชน์ต่อไตมาก และต้องไม่หวานเกินไป และรับประทานอาหารไขมันต่ำ จะเป็นผลดีต่อไต สิ่งสำคัญคือ เน้นการปรับพฤติกรรมการบริโค งดเค็ม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อย 2 ลิตร และตรวจค่าไตอย่างต่อเนื่อง
“นอกจากอาหาร ยังมีเรื่องการควบคุมโรคร่วม เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน หากคุมได้ดี ไตก็จะดีขึ้นตามได้” อายุรแพทย์โรคไตฯ กล่าว และว่า ขอเตือนเรื่องการรับประทานวิตามิน หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรต่างๆ หากจะรับประทานขอให้นำไปให้แพทย์ประเมินก่อนว่า ทานได้หรือไม่ เพราะพวกนี้อาจมีผลต่อยาที่เรากินอยู่ด้วยเช่นกัน” ผศ.นพ.คณิน กล่าวทิ้งท้าย
จากความรู้ดังกล่าว หมั่นสังเกตอาการตนเอง และทางที่ดีป้องกันก่อนป่วยดีที่สุด
- 248 views