เมืองไทยนั้นไม่มีข้อมูลในมือ และไม่มีทางตอบได้ครับ ภายใต้สมมติฐานที่น่าสงสัยและน่าติดตามว่า เกมการเมืองนั้นจะครอบคลุมไปถึงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของธุรกิจและมูลค่าทางการตลาดจากผลิตภัณฑ์กัญชาหรือไม่ และมากน้อยเพียงใด และการเมืองนั้นจะเอี่ยวกับกลุ่มนักวิชาการ และสาวกสายเขียวตัวเบ้งมากน้อยเพียงใด
ใครมีความสามารถในการประเมิน ช่วยทำหน่อยก็ดี
แต่ในมือตอนนี้ มีตัวเลขประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากการเปิดเสรีกัญชาจากรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกามาให้ดูกันชัดๆ สรุปสั้นๆ ดังนี้
เก็บภาษีจากการเปิดเสรีกัญชา คุ้มป่ะ?
คำตอบ: เค้าพบว่าแต่ละครั้งที่รัฐเก็บภาษีได้ 1 ดอลล่าร์จากการขายกัญชาได้ ชาวโคโลราโดจะต้องเสียเงิน 4.5 ดอลล่าร์ เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเสรีกัญชา
ราคาค่างวดที่ประชาชนโดยรวมต้องจ่ายไปนั้น จะเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยจากเสรีกัญชาทั้งโดยตรงและโดยอ้อม รวมถึงความสูญเสียจากการที่เด็กนักเรียนชั้นต่างๆ ต้องออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับมัธยม
ฮ่าๆ ตกลงเสรีกัญชาแล้ว คนจะไม่เสพยากันจนมั่ว ใช่ไหม?
คำตอบ: สถิติที่เค้าเก็บรวบรวม พบว่าน่าเป็นห่วง เพราะอัตราการเสพผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบต่างๆ นั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่นักศึกษาที่เรียนในมหาวิทยาลัย แต่ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่ากลุ่มแรกคือ กัญชาก็ยังคงมีการเสพกันมากในกลุ่มประชากรในสังคมที่มีระดับการศึกษาน้อย พูดง่ายๆ คือ เสรีกัญชาแล้ว เพลิดเพลินกันทั้งที่เรียนสูง เรียนน้อย ปุ้นกันไปทั่ว ว่างั้นเถอะ
เสรีกัญชาไปเหอะ...ไม่ต้องกลัวติดยาเสพติด เพราะโอกาสติดน้อยกว่าเหล้าบุหรี่เยอะ ดีไม่ดี จะทำให้สังคมลดปัญหายาเสพติดด้วย ใช่ป่ะ?
คำตอบ: เสียใจด้วยนะครับ ข้อมูลที่เค้ามี ชี้ชัดว่า การใช้กัญชานั้นจะนำไปสู่การใช้ยาเสพติดชนิดอื่น หรือจะมีการเสพยาเสพติดชนิดอื่นควบคู่กันไปด้วย เช่น เหล้า ฯลฯ ดังนั้นไอ้ที่จะมาอ้างว่าเสี่ยงน้อยกว่าเหล้าบุหรี่นั้น ฟังไม่ขึ้นด้วยประการทั้งปวง อีกหน่อยอาจต้องเปลี่ยนแคมเปญงดเหล้าเข้าพรรษา เป็น "ร่วมกันแก้ปัญหากัญชาท่วมเมือง"
เฮ้ยๆ เค้าว่ากันว่า กัญชามาช่วยให้คนปลอดโรค ภาระแพทย์และบุคลากรสุขภาพจะได้ลดลง จริงไหมหนอ?
คำตอบ: เล่าให้ฟังแบบเหนื่อยใจได้ดังนี้ จำนวนการโทรศัพท์ปรึกษาศูนย์พิษวิทยาจากการเสพกัญชานั้นมากขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากเปิดให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ และเปิดเสรีกัญชา
ดังนั้นไม่ต้องมาเถียงว่าเป็น "สมุนไพรแห่งความเมตตา" จะสกัดเป็นยา ก็ทำเป็นยาแบบมาตรฐานสากล อย่ามาสร้างวาทกรรมลวงโลก เพื่อหาทางให้ภาวะติดยาเสพติดของตนเองนั้นกลายเป็นความถูกต้อง แลกกับความเสี่ยงสูญเสียและหายนะของสังคมในอนาคต
นอกจากนี้สถิติเล็กๆ ในโคโลราโดคือ ทุกปี จะมีอย่างน้อย 15 คนที่เสพกัญชาผ่านการสูบแล้วเกิดอุบัติเหตุเพลิงไหม้ระหว่างการเสพจนบาดเจ็บต่อร่างกาย
คนที่เสพกัญชายิ่งบ่อย ยิ่งจะมีแนวโน้มจะแอคทีพน้อยลง พูดง่ายๆ คือมีกิจกรรมทางกายน้อยลง มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เพราะมัวแต่นั่งฝันหวาน นอนฝันหวาน ฝันถึงสรรพคุณรักษาโรคสารพัดร้อยแปดพันเก้า หรือมีชีวิตเป็นอมตะ สมองไม่เสื่อม ทั้งๆ ที่ยากนักที่จะเป็นจริง และแน่นอนว่าระยะยาวก็ส่งผลต่อสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพตามมา
เอ๊ะ...เห็นเคยมีคนโฆษณาอย่างน่าเชื่อถือว่า กัญชาป้องกันสมองเสื่อมด้วยนะ เสพแล้วดีดี๊ดี สมองดีจริงไหม?
คำตอบ: เมื่อเทียบกับคนที่ไม่เสพกัญชา พบว่าคนที่ติดกัญชานั้น โดยทั่วไปแล้วจะไม่ค่อยสนใจหรือตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และมีอัตราการออกจากโรงเรียนหรือสถานศึกษาสูงกว่าคนไม่เสพ
แต่อาจมีข้อยกเว้น เช่น อาจมีคนติดกัญชาเรียนสูงๆ จบสูงๆ แต่ก็เป็นคนติดยาเสพติดได้ เหลียวซ้ายเหลียวขวาอาจเห็นได้ง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ
แถมยังมีข้อมูลจากการวิจัย ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าการเสพกัญชาระยะยาวนั้นจะทำให้ความจำแย่ลง ยิ่งถ้าเสพตั้งแต่อายุน้อยๆ เช่นก่อนอายุ 18 ปี
นี่ๆ กัญชามา จะพาเรารวยนะ ทั่นๆ เค้าว่ากันมา ใช่ไหม?
คำตอบ: เอางี้ละกัน จะบอกค่าใช้จ่ายที่คนเสพแต่ละคนต้องเตรียมรับมือ แม้เมืองเราจะไม่เหมือนเมืองเค้า ก็รับฟังและไปคิดต่อเอาเองละกัน เค้าลองประเมินแล้ว โหล่งโจ๊งหากเสพกัญชาอย่างเมามันส์จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายต่อปีจากสารพันปัญหาที่เกิดขึ้นคือคนละ 2,200 ดอลล่าร์ หากเสพปานกลาง 1,250 ดอลล่าร์ และหากเสพเบาๆ ก็ 650 ดอลล่าร์
พูดไปเรื่อย...ฉันเสพก็เป็นเรื่องของฉัน แกมาเกี่ยวอะไรด้วยล่ะ?
คำตอบ: ถ้าเสพเองตายเอง ไม่เป็นภาระคนอื่น ไม่เปลืองภาษีสังคม ก็คงไม่ว่าอะไร
แต่ที่โคโลราโดเค้าประเมินแล้วพบว่า คนเสพกัญชาร้อยละ 27 หรือเกือบ 1 ใน 3 ยอมรับว่า เสพแล้วไปขับรถอยู่ทุกวันขณะที่กำลังมีอาการเคลิบเคลิ้ม แถมร้อยละ 67 ยอมรับว่าเคยขับขณะเคลิบเคลิ้มอย่างน้อย 1 ครั้ง แม้จะไม่ทำทุกวันก็ตาม แค่นี้ก็ลองมโนดูละกันว่า ถ้าเคลิบเคลิ้มแล้วขับไปชนคนอื่น หรือชนลูกหลานและคนในครอบครัวของท่าน จะเอาไหม และมันเป็นเรื่องของคนเสพอย่างเดียวซะที่ไหนกัน ดังนั้น "อย่าแถ" กันนักเลยครับ
ภาษีที่สังคมต้องจ่ายสำหรับค่าเสียหายและความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการปุ้นกัญชาของพวกเธอนั้นสูงยิ่งนัก แค่ปี ค.ศ.2016 ทางโน้นเค้าประเมินว่าราว 25 ล้านดอลล่าร์ พวกที่เรียกร้องกันทุกวี่ทุกวันนั้นมาช่วยรับผิดชอบไหม
ธุรกิจกัญชา...จะทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยทรัพยากร ใช่ป่ะ หวังได้จริงจริ๊ง?
คำตอบ: ตอบยากนะ เอาแบบนี้ดีกว่า ที่โน่นเค้าประเมินในปี ค.ศ.2016 พบว่า ธุรกิจโรงงานกัญชาน่ะผลาญพลังงานไฟฟ้าแต่ละปีในปริมาณเทียบเท่ากับบ้านเรือนจำนวน 32,355 หลังเลยทีเดียว
บ้านเราตั้งหน้าตั้งตาทำอย่างที่กำลังโฆษณา ก็อย่าลืมเรียกกระทรวงพลังงานมาร่วมวางแผนด้วยล่ะ
อ้อๆ ลืมบอกไปว่า โรงงานกัญชาที่ประกอบการนั้น ปีนึงๆ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ราว 400,000 ปอนด์ด้วยนะ และยังประมาณไว้ว่าผลิตภัณฑ์กัญชาในรูปแบบต่างๆ ที่จัดจำหน่ายนั้น ทำให้เกิดขยะพลาสติกราว 18.78 ล้านชิ้น ดังนั้นอย่าลืมเรียกกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมาด้วยล่ะมิคกี้เม้าส์
เค้าคิดสะระตะแล้ว กัญชานั้นแม้ปั่นเงินให้หมุนเวียนได้ถึง 1,400 ล้านดอลล่าร์ แต่หากดูจริงๆ แล้วจะพบว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อรัฐในรูปแบบภาษีเงินได้ และมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นนั้น มีราว 400 ล้านดอลล่าร์ ในขณะที่ต้องแลกด้วยค่าเสียหายกว่า 1,100 ล้านดอลล่าร์
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นการฉายภาพผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปลดล็อคกัญชามาใช้ทางการแพทย์และการเปิดเสรีกัญชาที่ต่างประเทศ ตามข้อมูลเท่าที่มี ใครสนใจก็ลองไปศึกษากันต่อตามกำลัง
ปลดล็อคกัญชา...เกิดผลกระทบต่างๆ มากมายหลายด้าน
นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ที่ช่วยดูแลบ้านเมือง จำเป็นอย่างยิ่งที่น่าจะรับฟังข้อมูลให้รอบด้านนะครับ แม้เสียงจะปริ่มน้ำ แต่หากกระทำการอย่างรอบคอบ เพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนสำหรับทุกคนในสังคม น่าจะเป็นการดีกว่าการทำให้สังคมไม่ปลอดภัย และมีภาระระยะยาว
สวัสดีวันอาสาฬหบูชาครับ
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ้างอิง
Economic and Social Costs of Legalized Marijuana. Centennial Institute, 18 November 2018.
- 214 views