หนึ่ง ผลกระทบต่อระบบการดูแลทางการแพทย์ที่ต้องปรับตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อทั้งต่อบุคลากรและต่อผู้ป่วย จะมีการปรับกระบวนการต่างๆ เช่น จำกัดจำนวนบุคลากรที่ทำงาน จำกัดจำนวนผู้ป่วยที่จะมารับการดูแล คัดกรองโรค การนอนโรงพยาบาลล่วงหน้าระหว่างรอผลคัดกรองก่อนผ่าตัด สำรองห้องผ่าตัดและห้องพักผู้ป่วย ฯลฯ
เรื่องเหล่านี้จะส่งผลให้กระบวนการรอคอยหรือคิวในการรอรับการดูแลรักษายาวนานขึ้น ศักยภาพเชิงปริมาณในการดูแลรักษาลดลง และอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ด้านสุขภาพจากการดูแลรักษาได้
สอง ผลกระทบต่อลักษณะการเจ็บป่วยของประชาชน มีแนวโน้มที่ประชาชนมีโรคหรือปัญหาสุขภาพและสังคมบางประเภทมากขึ้น เช่น เครียด ซึมเศร้า ความรุนแรงในครอบครัว อาชญากรรม นอกจากนี้โรคเรื้อรังหลายชนิดจะได้รับผลกระทบจากปัญหาโรค COVID-19 ที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาช้าลงหรือไม่เป็นไปตามนัดหมาย เช่น เบาหวาน ความดัน เอดส์ มะเร็ง เป็นต้น
สาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จะส่งผลทางตรงต่อลักษณะการดูแลสุขภาพของประชาชน รายได้ที่ลดลง รายจ่ายที่มากขึ้น รวมถึงหนี้สินครัวเรือน จะส่งผลให้คนจำนวนไม่น้อยมีปัญหาในการไปรับการดูแลรักษายามเจ็บป่วย แม้จะมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรืออื่นๆ อยู่ก็ตาม แต่ค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร การขาดรายได้จากการลางาน ล้วนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยอาจไม่สามารถไปรับการดูแลรักษาได้ รวมถึงการตัดสินใจไม่ไปรับยาต่อเนื่อง ไม่ไปตรวจตามนัด และอื่นๆ
ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรค COVID-19
หนทางช่วยเหลือที่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ควรพิจารณา
1. ประยุกต์ใช้การแพทย์ทางไกลเพื่อให้คำปรึกษาและการดูแลผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล แต่ทั้งแพทย์และผู้ป่วยควรคำนึงถึงโอกาสผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนในการตรวจวินิจฉัยด้วย
2. พัฒนาเครือข่ายบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการรัฐและเอกชนที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งลักษณะตั้งรับและเชิงรุก โดยหารือแนวทางให้เบิกจ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพต่างๆ ได้ เพื่อเสริมให้ระบบการแพทย์ทางไกลทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพื่อให้เกิดการจัดการตนเองของประชาชนในระยะยาว
3. หน่วยงานระดับพื้นที่ควรพิจารณาจัดะรบบขนส่งสาธารณะเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยากจนให้สามารถเดินทางไปยังสถานพยาบาลได้ตามนัดหมายที่จำเป็น
4. เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายคลินิกและร้านยาในชุมชน ในการให้บริการปรึกษา และดูแลรักษาผู้ป่วย รวมถึงการประสานงานร่วมกับระบบยาของโรงพยาบาลเพื่อนำส่งยาสู่ผู้ป่วยในพื้นที่หากจำเป็น
5. สถานประกอบกิจการขนาดกลางและใหญ่ควรพิจารณาจัดระบบดูแลรักษาบุคลากรในที่ทำงาน โดยประสานความร่วมมือกับสถานพยาบาลในพื้นที่อย่างเป็นระบบ
เป็นกำลังใจให้ทุกคน...
โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- 124 views