ล่าสุด Lui G และคณะ ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการแพทย์ระดับสากล Emerging Infectious Disease ฉบับเดือนกันยายน 2020

ศึกษาในผู้ติดเชื้อจำนวน 5 ราย ในฮ่องกง ที่มีลักษณะอาการแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ไม่มีอาการ อาการน้อย อาการรุนแรง พบว่าตะเกียบส่วนตัวที่ใช้สำหรับรับประทานอาหารของแต่ละคนที่นำมาตรวจนั้นสามารถตรวจพบสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี RT-PCR ได้ผลบวกทั้งหมด

แม้จะเป็นงานวิจัยในผู้ป่วยจำนวนน้อย และไม่ได้ตรวจว่ามีไวรัสตัวเป็นๆ อยู่หรือไม่ มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งที่มีคุณค่าจากงานวิจัยนี้คือ การตอกย้ำให้ระวังไว้ว่า อุปกรณ์การกินอาหารนั้นอาจเป็นตัวแพร่เชื้อโรค COVID-19 ได้

หากเราคิดต่อ เราจะพบว่า แคมเปญการรณรงค์ให้กินของร้อน ใช้ช้อนกลางในช่วงแรก แล้วเปลี่ยนเป็น 'กินร้อน ช้อนเรา" ในช่วงหลัง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ช้อนกลางร่วมกันนั้น...อาจไม่เพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อระหว่างรับประทานอาหาร ตราบใดที่การกินอาหารมีจานกลางที่ต้องแชร์กัน แล้วต่างคนต่างใช้ช้อนส้อมตะเกียบของตัวเองไปตักจากจานกลาง

ทางเลือกที่จะป้องกันได้คือ

หนึ่ง การมีช้อนกลางเป็นของแต่ละคนเพื่อตักจากจานกลาง...แต่ทางเลือกนี้ยุ่งยากในทางปฏิบัติ และมีโอกาสสูงที่จะใช้มั่ว รวมทั้งไม่เหมาะกับบริบทไทย

สอง การรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมการกินอาหารแบบส่วนตัว ของใครของมัน ชุดใครชุดมัน

เรื่องนี้สำคัญ ไม่ได้หมายถึงการกินข้าวแกงแบบมื้อเร่งด่วน แต่หมายถึงอาหารต่างๆ ที่คนไปสั่งกินที่ภัตตาคารต่างๆ อาจถึงเวลาที่ร้านอาหารจะลองพัฒนาบริการไปอีกขั้น โดยจัดเมนูแบบเบนโตะของญึ่ปุ่น แต่ใช้กับอาหารทุกชาติรวมถึงของไทย หรือจะทำแบบเดิม แต่พอสั่งแล้ว ควรให้พนักงานช่วยแบ่งเป็นที่ๆ สำหรับลูกค้าแต่ละคนโดยอัตโนมัติ ทำเป็น default option แบบใดแบบหนึ่ง ก็น่าจะดีครับ

ขอให้ทุกคนปลอดภัยจาก COVID-19

ด้วยรักต่อทุกคน

สวัสดีวันอาทิตย์ครับ...

 

อ้างอิง

Lui G, Lai CKC, Chen Z, Tong SLY, Ho WCS, Yeung ACM, et al. SARS-CoV-2 RNA detection on disposable wooden chopsticks, Hong Kong. Emerg Infect Dis. 2020 Sep [date cited].