ขณะนี้กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนนักบินสำหรับสายการบินบางแห่ง เท่าที่ทราบประเทศไทยเราผลิตนักบินไม่เพียงพอต่อความต้องการของสายการบินต่างๆ ในปัจจุบัน และความต้องการนักบินจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากชาวโลกมีฐานะดีขึ้น โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ทำให้มีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นทุกปี

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์

ผมมีความเห็นมานานแล้วว่า ประเทศไทยควรมีกรรมการระดับชาติพิจารณาความต้องการบุคลากรในอาชีพต่างๆ ในปัจจุบัน และมองไปในอนาคตด้วยตั้งแต่นักบิน แพทย์ (แพทย์สาขา อนุสาขาอะไรบ้าง) พยาบาล เภสัช ทันตแพทย์ วิศวกร อาชีวะ สถาปนิก นักเศรษฐศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ รวมทั้งนักวิจัย ครู  นักกฎหมาย และอาชีพอื่นๆ ถ้าเรารู้ความต้องการใน 5-10 ปีข้างหน้า จะได้วางแผนการผลิตให้เหมาะสม ทั้งปริมาณและคุณภาพ ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนเลือกเรียนเอง โดยไม่รู้ว่า เรียนจบแล้วจะมีงานทำหรือไม่ ควรมีการแนะประชาชนว่า อาชีพอะไรที่จำเป็นมากน้อย ความจริงกรรมการเช่นนี้ควรมีไปถึงการผลิตอาหารหรือผลผลิตการเกษตรและอื่นๆ ด้วย จะได้ไม่ปลูกยางมากไปหรือน้อยไป ปลูกข้าวโพด ปลูก ผลไม้ ฯลฯ

อย่างเช่น แพทย์ ขณะนี้มีแพทย์ประมาณ 50,000 คน สำหรับประชาชน 65 ล้านคน หรือถ้าคิดง่ายๆ คือ มีแพทย์ 1 คนต่อประชาชน 1,300 คน บางท่านอาจคิดว่าตัวเลขนี้ ไม่เลวนัก แต่ประเด็นมีอยู่ว่า ประเทศที่เจริญแล้วมีแพทย์  1 คนต่อประชาชนไม่กี่ร้อยคน ยังบอกว่ามีแพทย์ไม่เพียงพอ ส่วนไทยเราดีกว่าเดิมมาก สมัยหนึ่งตอนผมเป็นรองคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต ดูแลโครงการผลิตแพทย์สำหรับชาวชนบท หรือ MESRAP หรือ Medical Education for Students in the Rural Area Program  ที่จังหวัดศรีสะเกษ  มีแพทย์ 1 คนต่อประชาชน 88,000 คน!!!

และอีกประเด็นสำคัญคือ แพทย์ 1 คนต่อประชาชน 1,300 คนนั้น เป็นตัวเลขเฉลี่ยทั้งประเทศแต่ในความเป็นจริง แพทย์มักอยู่ที่กรุงเทพฯ หรือรอบๆ กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ๆ และอำเภอใหญ่ๆ ส่วนอำเภอเล็กๆ เมืองเล็กๆ ที่ห่างไกลความเจริญ ที่ทุรกันดาร ยังมีแพทย์ พยาบาล เภสัชฯ ทันตแพทย์ ฯลฯ น้อยมาก แม้แต่บางจังหวัด เช่น บึงกาฬ แม่ฮ่องสอน ยังมีแพทย์น้อยมาก เช่น บึงกาฬ มีเพียง 11 คน  อาจจะกำลังมาอีก 1-2 คน ส่วนแม่ฮ่องสอน ผมไปเยี่ยมมา  2 ครั้ง ห่างกันหลายปี ยังมีจำนวนแพทย์เท่าเดิม

ฉะนั้นถ้ารัฐบาลเห็นว่าประเทศไทยยังขาดแพทย์ (และอาชีพอื่นๆ) ควรผลิตบุคลากรต่างๆ เหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ ต้องมีความสามารถในการกระจายบุคลากรต่างๆ และรักษาไว้ในระบบให้ได้ด้วยความสมัครใจของบุคลากรเหล่านี้เอง โดยไม่มีการบังคับ ซึ่งนั่นก็คือ สวัสดิการต้องดี

ผมคิดและอยากเห็นประเทศทำอย่างนี้มานานแล้ว  ยกตัวอย่างด้านแพทย์ คืออยากให้ฝ่ายรัฐบาล ซึ่งอาจประกอบด้วย  ก.พ. สำนักงบประมาณ สภาพัฒน์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม ฯลฯ มาประชุมกับฝ่ายแพทย์ ซึ่งอาจประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ต่างๆ ราชวิทยาลัย สมาคมแพทย์ แพทยสภา ฯลฯ เพื่อปรึกษาหารือว่า ประเทศไทยปัจจุบันและ 10 ปีข้างหน้า ควรมีแพทย์ 1 คนต่อประชากรเท่าไหร่ ถ้าถามความคิดเห็นผม อาจตั้งเป้าไว้ก่อนว่า ควรมีแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,000 คน เมื่อถึงเป้าแล้ว ค่อยคิด กันใหม่ ขณะนี้แต่ละปีมีประชากรเพิ่มเพียงปีละประมาณ 4 แสนคน (เกิด 8 แสน ตาย 4 แสน) ฉะนั้นจะต้องเอาตัวเลขนี้มาคำนวณด้วย ถ้าต้องการแพทย์ 1 คน  ต่อประชากร 1,000 คน ถ้าเรามีประชากร 65 ล้านคน เราจะต้องมีแพทย์ 65,000 คน และต้องเพิ่มทุกปีอีกปีละ 400 คน ทั้งนี้ยังไม่นับแพทย์ผู้เสียชีวิต ผู้เกษียณ หรือ ผู้หยุดทำหน้าที่แพทย์ในแต่ละปีด้วย

ถ้าเรามีกรรมการที่ดูแลเรื่องนี้ จะได้เก็บข้อมูลเชิงลึก ได้รู้ว่าแต่ละปีควรผลิตแพทย์แค่ไหน เพื่อให้มีพอต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเพื่อทดแทนจำนวนแพทย์ที่ออกนอกระบบไป ไม่ว่าจากสาเหตุอะไรก็ตาม

ในวงการแพทย์มีสาขา อนุสาขาต่างๆ มากมาย  กว่า 80 สาขา อนุสาขา (ที่มีการฝึกอบรมที่แพทยสภา) ฉะนั้นคณะกรรมการจึงควรศึกษาอย่างละเอียด แล้วเสนอว่า  แพทย์แต่ละสาขา อนุสาขา ควรมีเท่าไหร่จึงจะเพียงพอต่อประชาชน เช่น ศัลยแพทย์ทั่วไป อายุรแพทย์ทั่วไป กุมารแพทย์ ทั่วไป และอนุสาขาต่างๆ ฯลฯ

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงควรมีกรรมการแห่งชาติ ที่จะพิจารณาเรื่องนี้ครับ

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 4 เมษายน 2559