สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ระดมแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เร่งพัฒนาศักยภาพระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย เน้นป้องกันเพื่อลดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน-เสียชีวิต-พิการ คนไทยเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้าโรงพยาบาลกว่า 25 ล้านคนต่อปี

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 ที่โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย สถาบันประสาทวิทยา และสมาคมนักกำหนดอาหาร จัดเวทีระดมความคิดในโครงการส่งเสริมและป้องกัน คนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เข้าร่วมงานกว่า 100 คน 

นพ.สันต์ หัตถีรัตน์

นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้คนไทยมีแนวโน้มเจ็บป่วยฉุกเฉิน เสี่ยงเสียชีวิต พิการ กะทันหันเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินปีละกว่า 25 ล้านคน ขณะเดียวกันองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า 68%ของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก เกิดจากโรคที่ไม่ติดต่อ หรือโรคเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตันเป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพ

การจัดงานครั้งนี้เป็นการระดมสมองจากบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการรักษาผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อการขยายแนวคิดในการป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และการรับฟังความเห็นและคำแนะนำเพื่อการปรับปรุงสื่อต่างๆ ที่ทางโครงการฯ ได้จัดเตรียมให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน หากสามารถทำให้แพทย์พยาบาลเปลี่ยนการมุ่งเน้นเฉพาะที่การรักษา ให้เป็นการส่งเสริมป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นได้ ก็จะช่วยลดการเสียชีวิต ความพิการ หรือความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยได้

นพ.สันต์ กล่าวว่า สำหรับแนวคิดของโครงการนี้ ประกอบด้วย 4 แนวคิด คือ

1.การทำให้มีสุขภาพดี

2.หากมีโรคประจำตัว หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินใด ผู้ป่วยหรือญาติสามารถดูแลและควบคุมโรคประจำตัว หรือการเจ็บป่วยฉุกเฉิน

3.หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินรุนแรง ผู้ป่วยหรือญาติ ควรทราบวิธี ช่องทางในการสอบถามวิธีการแก้ไขเบื้องต้น หรือติดต่อขอรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

4.การเตรียมบุคลาการทางการแพทย์ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีการเจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้อย่างเหมาะสมเมื่อพบผป.ประสบเหตุ

“การที่รัฐบาลพยายามสร้างกลไกการรักษาด้วยนโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิได้ทุกที่ฟรี 72 ชั่วโมง นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้ประชาชนไม่ต้องสำรองเงินจ่าย แต่การดำเนินการนั้นจำเป็นจะต้องมีความรัดกุมเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการใช้ระบบที่ฟุ่มเฟือยไม่ถูกต้อง และมีความครอบคลุม” นพ.สันต์ กล่าว

นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บริการการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย ได้เริ่มต้นมานับตั้งแต่โครงการต้นแบบโดยจัดตั้งศูนย์กู้ชีพ “นเรนทร” ที่โรงพยาบาลราชวิถี เมื่อปี พ.ศ.2538 จนกระทั่งปัจจุบันหลังจาก พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 มีผลบังคับใช้ ทำให้เกิดหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อระบบการแพทย์ฉุกเฉินขึ้น ได้แก่ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นผู้ออกแบบและจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยรวบรวมหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ. ต่างๆ เข้ามาร่วมในระบบบริการฯ ได้แก่ ผู้ให้บริการซึ่งส่วนใหญ่คือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข งบประมาณและกองทุนต่างๆ หน่วยงานด้านวิชาการ องค์กรปกคองส่วนท้องถิ่น และแพทยสภา จึงทำให้เกิดระบบบริการที่ครอบคลุมและประหยัด โดยมีการลงทุนเพิ่มไม่มากนัก

ระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ดีนั้นจะต้องประกอบด้วยวัตถุประสงค์ที่เป็นผลสำเร็จ 3 ประการของการบริการได้แก่

1.ความรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์

2.คุณภาพของการดูแลรักษา

3.ความครอบคลุม เพื่อให้ผู้เจ็บป่วยสามารถได้รับการดูแลรักษาที่ทันต่อเหตุการณ์ไม่เสียชีวิตไปก่อน และได้รับการดูแลตามมาตรฐานที่เสมือนแพทย์ได้ดูแลเอง อย่างทั่วถึง เท่าเทียม ตลอดเวลา และได้รับการนำส่งไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้ปฏิบัติงานในระบบควรจะมีความเข้าใจในวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ประการนี้ โดยมีการสำรวจ ประเมินคุณภาพในพื้นที่ที่รับผิดชอบจะทำให้ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างตรงทิศทางและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 

“ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวกำหนดระบบของหน่วยการแพทย์ฉุกเฉินทุกหน่วยให้มีการทำงานและมีเป้าหมายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ในโครงการนี้จะมีการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ระดับต่างๆ ให้มีความรู้และทักษะช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ในชื่อหลักสูตร Comprehensive Life Support (CLS) หวังว่าเวทีครั้งนี้จะช่วยสร้างศักยภาพบุคลาการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ให้เกิดงานบริการที่รวดเร็ว ทันเวลา ถูกต้องทุกขั้นตอนตามหลักวิชาการ” นพ.สมชาย กล่าว

ด้าน รศ.นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสาเหตุการตายของคนไทยส่วนมากมาจากโรคที่เราสามารถป้องกันได้ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคมะเร็ง ในอีก 4 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ คือ จะมีผู้สูงอายุ 20% ของประชากรในประเทศ ดังนั้นการมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพตั้งแต่เด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ การที่จะทำให้ตนเองมีสุขภาพดี ไม่มีโรค ตั้งแต่เกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต หากสามารถปฏิบัติตาม10 เคล็ดลับ ได้แก่ มีหุ่นดี ทานอาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลัง พักผ่อนให้เพียงพอ อารมณ์ดีเดินสายกลาง งดสารเสพติด มีเพศสัมพันธ์ปลอดภัย ฉีดวัคซีนตามแนะนำ ตรวจสุขภาพตามความเหมาะสม และระวังภัยไม่ประมาท สามารถยกตัวอย่างง่ายๆเพิ่มเติม ได้แก่

1.ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างน้อยสัปดาห์ละ3วัน หรือ150-300 นาทีต่อสัปดาห์

2.รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เน้นผักและปลาเป็นหลัก หลีกเลี่ยงของเค็ม หวาน ของทอด

3.ไม่ใช้ยาเสพติด ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งจะสามารถลดการเกิดโรคที่เป็นสาเหตุการตายของคนไทยได้ครึ่งหนึ่ง รวมทั้งงดดื่มแอลกอฮอล์ และต้องไม่ใช้การฉีดสารเสพติดโดยมีการใช้เข็มร่วมกัน ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อเอชไอวีได้

4.การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยจะช่วยลดการเกิดโรคที่มีมาจากเพศสัมพันธ์ และเชื้อเอชไอวีได้

5.ต้องมีอารมณ์ดี ไม่มีความเครียด เพราะความเครียดเป็นสาเหตุของการเกิดโรคได้ เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง

6. หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี ควรเริ่มตั้งแต่อายุ 20-25 ปีเป็นต้นไป การตรวจคัดกรองโรคต่างๆ เมื่อถึงวัยจะเป็นหนทางหนึ่งของการมีสุขภาพที่ดีได้ หากตรวจเจอสิ่งผิดปกติในร่างกายจะได้ทำการรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นดีกว่าจะปล่อยให้โรคกำเริบออกมาแล้วจึงค่อยทำการรักษา