มีข้อมูลที่น่าตระหนกจากตัวเลขของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือ พม.โดย นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวง พม. ระบุว่า สำหรับประเทศไทย ในปี 2560 มีผู้สูงอายุสูงถึง 11ล้านคน และจากการสำรวจทั่วประเทศพบว่า ขณะนี้มีผู้สูงอายุเกิน 100 ปี จำนวน 300คน และคาดการณ์ว่าในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากถึง 28% ของจำนวนประชากร
สำทับด้วยข้อมูลจาก ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า ขณะนี้ไทยจัดอยู่อันดับ 3 ในเอเชียสังคมผู้สูงอายุ รองลงมาจากเกาหลี และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่า การดูแลตนเองและมีสุขภาพดีเหมาะสมตามวัย ไปจนก้าวถึงการเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุยืนยาว มีคุณภาพ ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและประเทศชาติสังคมในอนาคต มีความสำคัญอย่างมากในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการดูแลตนเอง และเข้าใจวิธีป้องกันลดการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ โดยการปรับลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆจะช่วยแบ่งเบาภาระปัญหา ทั้งสังคม และรัฐบาล นั้นคือการลดการเข้าโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ชุดความรู้ ประสบการณ์ ของผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ ก็เป็นขุมทรัพย์ที่สำคัญ หากได้รับการถ่ายทอดเป็นประสบการณ์ในการเรียนรู้ ให้กับคนรุ่นหลัง ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น คนวัยทำงาน หรือ คนที่จะย่างก้าวสู่วัยสูงอายุ หรือ แม้แต่คนสูงวัยรุ่นเดียวกัน ในเคล็ดลับวิธี ในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมีคุณภาพ ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่เป็นภาระของลูกหลาน สังคม หรือ ประเทศ แต่กลับกัน กลับถือเป็นปูชนียบุคคลที่มีค่าของสังคมไทย
ดร.ประเสริฐ ณ นคร
เฉกเช่น ดร.ประเสริฐ ณ นคร อดีตนายกราชบัณฑิตยสภา ซึ่งปัจจุบันอายุ 99 ปี ได้เปิดเผยเคล็ดลับสำคัญ ที่ทำให้อายุยืน ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในแต่ละวัน โดยเน้นเรื่องของ การดูแลสุขภาพ ไม่ดื่มสุรา ไม่ทานเผ็ดไม่หวาน เค็ม และงดอาหารสุขๆดิบๆ ขณะที่ เรื่องของจิตใจสำคัญที่สุด ต้องไม่เครียด พักผ่อนให้เพียงพอ
โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มักประสบปัญหานอนไม่หลับ ดร.ประเสริฐ ระบุว่า สำหรับตนเองนั้น ได้ยินว่ามีฝรั่งคนนึง 15 ปี นอนไม่หลับแต่เขาก็ไม่เป็นไร ตั้งแต่นั้นมาผม ก็เลยรู้สึกว่า เขาไม่หลับ15 ปี ไม่เป็นไร ถ้าเราไม่หลับคืนสองคืนก็คงไม่เป็นไร ตั้งแต่นั้นผมก็ไม่วิตกถึงเรื่องนอนไม่หลับ สิ่งสำคัญคือ เวลาก่อนจะนอน คิดว่าได้ทำประโยชน์อะไรบ้าง ก็จะมีความสบายใจทำตัวให้ดีที่สุดวันนี้ อดีตดี ปัจจุบันดี อนาคตก็ดี ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติให้ดีที่สุด เมื่อเราคิดอย่างนี้แต่ละวันก็จะสบายใจ คลายความกังวล
ขณะที่ นพ.บรรลุ ศิริพานิช ที่ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ การเตรียมตัวก่อนเข้าสู่วัยบั้นปลายสูงวัย ในเรื่องหลักการออกกำลังเพื่อสุขภาพในวัย 93 ปีว่า ออกกำลังกายหนักพอสมควร คือ ให้เหงื่อออก ซึ่งวัยสูงอายุต้องเจียมตัว ควรเน้นการเดินให้ได้ทุกวันประมาณ30 นาทีขึ้นไป
นอกจากนี้ นพ.บรรลุ ได้ให้ข้อคิดเตือนใจว่า สิ่งสำคัญมากอีกอย่างในการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุนั้นคือ กติกาประจำตัวคือการออมเงิน เพราะเมื่ออายุมากขึ้น จะมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นจึงต้องเริ่มเก็บออม หากไปคิดเก็บเงินช่วงอายุเยอะก็ไม่ทันหรือ ไม่เพียงพอแล้ว
การเตรียมตัวเรื่องเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะในเรื่องเงินทอง ควรเตรียมเก็บออมตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เพราะหากแก่แล้วจะลำบาก ถึงแม้ผู้สูงอายุหลายคนอาจจะมีบัตรทอง หรือ บัตรประกันสุขภาพ แต่ท้ายที่สุดถ้าไม่มีเงินก็ลำบากมากในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลและการใช้ชีวิต
ขณะที่ นางสุวิมล สุวิทย์สกุลวงษ์ อายุ 67 ปี ข้าราชการบำนาญ ระบุว่า อยากเรียกร้องให้รัฐบาล ดูแลผู้สูงอายุอย่างจริงจังโดยเฉพาะผู้สูงอายุในต่างจังหวัด ที่เข้าไม่ถึงการบริการสุขภาพ หรือ การบริการทางการแพทย์มากนักในหลายพื้นที่ และส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
แม้จะมีบัตรประกันสุขภาพ มีบัตร 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ยังมียาหลายตัวหรือบางตัว ที่อยู่นอกบัญชีซึ่งต้องยอมรับว่าหลายคนประสบปัญหาเรื่องกำลังทรัพย์มีไม่เพียงพอ หรือ ลำบาก ซึ่งก็เข้าใจว่าขณะนี้รัฐบาลเองก็พยามที่จะช่วยเหลือประชาชนในเรื่องนำงบประมาณมาแต่ก็ไม่เพียงพอกับปริมาณของผู้สูงอายุที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในทุกพื้นที่
“ก็คงต้องพบกันคนละครึ่งทาง รัฐช่วยเหลือ และส่วนตัวเราเองผู้สูงอายุก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง เตรียมตัวเองด้วย แต่ปัญหาสำคัญที่เป็นห่วงคือและพบเจอโดยตรงนั้นคือบรรทัดฐานในการช่วยเหลือ ในการเข้าถึง ปัญหาพวกมากลากไป ใครไม่มีเส้นสาย ก็เข้าไม่ถึง เข้าไม่ได้ยิ่งเรื่องทุจริตยิ่งค้นก็ยิ่งเจอ รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการแก้ไขเรื่องเหล่านี้ เพราะต้องเข้าใจว่า ผู้สูงอายุลำบากมากบางคนเขาก็ไม่มีจริงๆ รัฐต้องกระจายการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม เพราะชีวิตอยู่ยาก เมื่อยิ่งอายุมากขึ้น หากเราเข้าไม่ถึงระบบประกันสุขภาพ” นางสุวิมล กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ โรงพยาบาลราชวิถี กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และโครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดีมีอายุยืนยาวที่สมบูรณ์ ภายใต้แนวคิด “สองวัยใส่ใจสุขภาพ” เพื่อให้ผู้สูงอายุและผู้ดูแล สามารถดูแลตนเองได้ไม่เจ็บป่วยฉุกเฉิน และเรียนรู้ ประสบการณ์แลกเปลี่ยนข้อมูล จากการถ่ายทอดประสบการณ์จากปูชนียบุคคลที่มีคุณภาพเพื่อนำไปปรับใช้ประโยชน์ร่วมกันเพื่อเตรียมรับสังคมสูงวัยในอนาคต
- 109 views