วิชาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่มีเกียรติและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนชาวไทยและชาวโลก เป็นวิชาชีพที่ทุกคนให้ความเคารพ นับถือ รักและเทิดทูนอย่างยิ่ง แต่...ก็เหมือนทุกอย่างในชีวิตจริงพวกเรา ที่เรารัก เคารพ นับถือ ไม่ว่าบิดา มารดา ภรรยา สามี ลูก เจ้านาย ลูกน้อง เพื่อน ฯลฯ แต่เราก็ไม่เห็นคุณค่าหรือไม่แสดงออก ไม่รู้ซึ้งแก่ใจ ถึงคุณงามความดีของบุคคลเหล่านี้ จนกระทั่งคนที่เรารัก นับถือ ต้องจากไปก่อนจึงจะเห็น หรือนึกขึ้นได้ว่า เรามีของดีอยู่ในมือแท้ๆ แต่ยังปล่อยให้ไป
ปัญหาของพยาบาลในประเทศไทยมีมากมาย แต่ไม่มีใครช่วยเหลืออย่างจริงจัง อย่างต่อเนื่อง เช่น ปัจจุบันนี้เราขาดพยาบาลประมาณ 40,000 คน เราผลิตเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่พอกับความต้องการ ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (คือเกิน 60 ปี) ถึง 14.9% ของประชากรทั้งหมดของประเทศในปี พ.ศ.2557 และคาดว่าภายใน 15 ปี ยอดผู้สูงอายุจะพุ่งขึ้นไปถึง 25% ซึ่งหมายความว่า เราต้องการคนดูแลผู้สูงอายุมาก รวมทั้งพยาบาลด้วย
เราต้องผลิตพยาบาลเพิ่มมากกว่านี้ แต่ประเด็นสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรจึงจะกระจายพยาบาลให้ไปอยู่ทั่วประเทศไทยให้ได้ และเราไม่มีระบบที่ดีที่จะเก็บรักษาพยาบาลเหล่านี้ไว้ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ ความก้าวหน้า ทำให้พยาบาลจำนวนมากออกจากระบบราชการ ไปอยู่โรงพยาบาลเอกชนซึ่งให้เงินเดือน ค่าตอบแทน สูงมาก หรือหลายๆ คนออกจากอาชีพพยาบาลไปเลย
ข้อมูลจากสภาการพยาบาลพบว่าในปี พ.ศ.2557 ควรมีพยาบาลประมาณ 160,000 คน หรืออัตราส่วนพยาบาล 2.5 คนต่อประชากร 1,000 คน หรือพยาบาล 1 คนต่อประชาชน 400 คน และถึงแม้มีกำลังผลิตปีละ 9,000-10,000 คน แต่ต้องประสบการสูญเสียพยาบาลอย่างรุนแรงในอัตราร้อยละ 4.44 ต่อปี จากการมีอายุทำงานในวิชาชีพสั้น คือเฉลี่ยเพียง 22.5 ปีเท่านั้น ทำให้สูญเสียกำลังคนถึงปีละประมาณ 4,000-5,000 คน และความขาดแคลนนี้จะรุนแรงขึ้นในอนาคต หากลดการสูญเสียพยาบาลไม่ได้ เพราะคาดว่าช่วงปี พ.ศ.2560-2570 ประเทศไทยจะมีความต้องการพยาบาลในอัตราส่วน 2.7 คนต่อประชากร 1,000 คน เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ฯลฯ หรือจะต้องมีพยาบาล 170,000-180,000 คน
พยาบาลที่มีอยู่ เมื่อจบการศึกษากลับไม่ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการจำกัดปริมาณกำลังคนภาครัฐ ที่ขาดตำแหน่งราชการเพื่อบรรจุ ส่งผลให้พยาบาลรุ่นใหม่ที่เข้าสู่ระบบบริการภาครัฐมีอายุการทำงานสั้น จากการขาดความเชื่อมั่นการทำงานในสถานการณ์จ้างงานแบบลูกจ้างชั่วคราว ทำให้ประมาณ 48.68% ออกจากงานภายใน 1 ปีแรก ขณะที่ผู้ที่ได้รับการบรรจุมีอัตราการคงอยู่นานมากกว่าถึง 9 เท่า ! ซึ่งหากประมาณค่าความสูญเสียเป็นตัวเงินจากการลาออกและมีอายุการทำงานสั้นของลูกจ้างเหล่านี้ มีอัตราการสูญเสียร้อยละ 80.05 ต่อปี สูงกว่ากลุ่มข้าราชการถึง 18 เท่า
ทำให้เกิดความสูญเสียมากในระบบกำลังคน ซึ่งหากคำนวณเป็นตัวเงินตามที่ศึกษาพบว่า cost of turnover ของพนักงานที่เข้าใหม่ ประมาณร้อยละ 30-50 ของ annual salary เงินเดือนของตำแหน่งนั้นใน 1 ปี เช่นในระหว่าง 5 ปีที่ผ่านมามีพยาบาลที่ค่าจ้างประมาณ 15,000 บาทต่อเดือน ลาออก 1,000 คน/ปี เป็นการสูญเสียถึง 90,000,000 บาทต่อปี โดยรัฐและประชาชนไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรจากการลงทุนมหาศาลในการผลิตพยาบาลใหม่มาชดเชย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงสาธารณสุขที่ลงทุนผลิตพยาบาลวิชาชีพถึงปีละ 2,500 - 3,000 คน แต่ไม่มีอัตรารองรับ จึงต้องสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอายุกำลังคนพยาบาลของหน่วยบริการสุขภาพภาครัฐ ทำให้เกิดภาวการณ์ขาดแคลนกำลังคนที่มีทักษะสูงและสร้างคนรุ่นใหม่ไม่ทัน ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า อาจเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการของสถานบริการสุขภาพภาครัฐที่ต้องดูแลประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
ฉะนั้นผมจึงอยากให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพยาบาล ทุกหน่วยของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โปรดกรุณาให้ความสนใจ กระตุ้น สนับสนุน ให้พยาบาลอยู่ในวิชาชีพนานที่สุด อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตและการงานที่ดี พยาบาลเหล่านี้ยอมเสียสละเพื่อผู้ป่วย เพื่อส่วนรวม เราจะหันมาช่วยเขาบ้างไม่ได้เชียวหรือ จริงๆ แล้วเพียงช่วยให้เขามีสิ่งต่างๆ ตามสิทธิ์ที่ควรจะมีเท่านั้น เขาก็มีความสุขแล้ว
ผู้เขียน : นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 8 มีนาคม 2558
- 38 views