“สมาคมนักกำหนดอาหาร”เผย 80% คนไทยกินอาหารเกินความจำเป็นต่อร่างกาย แนะวิธีการดูแลป้องกันไม่ให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ด้วยการปรับพฤติกรรมการกินให้ถูกหลักโภชนาการ ควบคุมอาหาร อย่าปล่อยให้อ้วน ด้าน "สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ" ระดมบุคลากรทางการแพทย์สู่การป้องกันไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2560 สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการป้องกันและส่งเสริมคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดเวทีระดมทีมแพทย์ บุคลากร ผู้เชี่ยวชาญทางด้านงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน จากทั่วประเทศกว่า 100 คน จัดอบรมในแนวคิด “มีสุขภาพดี...คุมได้ แก้ไขได้ทัน...สรรค์ความช่วยเหลือ” ภายในงานได้มีการแบ่งกลุ่ม Workshop ฝึกปฏิบัติเพื่อสุขภาพที่ดีตามฐานต่างๆ
นพ.สันต์ หัตถีรัตน์
นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการอบรมบุคลากรทางการแพทย์ครั้งที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากทุกคนให้ความสนใจร่วมระดมความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เพื่อต่อยอดสู่ความชำนาญ และคาดหวังว่าเวทีครั้งที่ 2 นี้ จะสามารถขยายแนวคิดถ่ายทอดเผยแพร่ให้ความรู้ และช่วยเป็นกระบอกเสียงขยายเครือข่ายตามพื้นที่ ชุมชน ท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งทางสมาคมฯ จะมีผู้ที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมถ่ายทอดความรู้ ฝึกคนให้เป็นครูเพื่อนำไปสู่การป้องกันไม่ให้คนไทยเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ และยังสามารถดูแลความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและคนใกล้ชิด ได้
“นอกจากนี้ในเวทีจะมีการเปิดรับฟังความเห็นและคำแนะนำเพื่อการปรับปรุงสื่อต่างๆ ที่ทางโครงการได้จัดเตรียมให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถนำไปใช้ในการส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งเป็นอีกหนทางหนึ่งของการดูแลตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งแพทย์ หรือ เข้าทำการรักษาในโรงพยาบาล” ศ.นพ.สันต์ กล่าว
นพ.สันต์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวคิดของโครงการนี้ จะประกอบด้วย 4 กรอบหลัก คือ
1.การทำให้มีสุขภาพดี
2.หากมีโรคประจำตัว หรือเจ็บป่วยฉุกเฉินใด ผู้ป่วยหรือญาติสามารถดูแลและควบคุมโรคประจำตัว หรือการเจ็บป่วยฉุกเฉิน
3.หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินรุนแรง ผู้ป่วย หรือญาติ ควรทราบวิธี ช่องทางในการสอบถาม วิธีการแก้ไขเบื้องต้น หรือติดต่อขอรับบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
4.การเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ ให้พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่มีการเจ็บป่วยรุนแรงถึงขั้น เสียชีวิตได้อย่างเหมาะสมเมื่อพบผู้ประสบเหตุ
ศ.นพ.พินิจ กุลละวณิชย์
ศ.นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า 70% ของประชากรโลกที่เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนี้ เกิดจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ละเลยการออกกำลังกาย สำหรับประเทศไทยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขในปี 56 พบว่า สาเหตุการตายของคนไทย 3 อันดับแรกคือ มะเร็ง อุบัติเหตุ โรคหัวใจและหลอดเลือด ตามลำดับ
ศ.นพ.พินิจ กล่าวว่า สิ่งที่จะทำให้ประชาชนไม่เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและเจ็บป่วยฉุกเฉินคือ การออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก รวมทั้งดัชนีมวลกายให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ และสารเสพติด มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย มีการป้องกันที่ถูกต้อง นอกจากจะลดการติดโรคที่มาจากเพศสัมพันธ์แล้วยังเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อีก รวมทั้งมีตรวจร่างกายตามวัย ตามเพศ ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเหมาะสม
“สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงคือ คนไทยมีการกินอาหารที่มากเกินความจำเป็นต่อร่างกาย ทำให้เสี่ยงเกิดภาวะอ้วนมากขึ้น ดังนั้นผู้ที่อ้วน หรือภาวะน้ำหนักเกิน เสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งตับ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ” ศ.นพ.พินิจ กล่าว
นางศัลยา คงสมบูรณ์เวช
ด้านนางศัลยา คงสมบูรณ์เวช ประธานฝ่ายวิชาการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการกินอาหารของคนไทยส่วนมากมุ่งเน้นไปที่รสชาติและหน้าตาของอาหารมากกว่าจะคำนึงถึงคุณค่าสารอาหาร นอกจากนี้ยังมีการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล โซเดียม แป้ง ไขมัน แฝงเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้แคลอรี่เกิน สำหรับตัวอย่างของหวานและเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่เกินความจำเป็นที่เห็นกันอยู่เสมอ เช่น ชานมไข่มุก กาแฟเย็นรสต่างๆ เบเกอรี่ ขนมหวาน
“จากประสบการณ์ที่ดูแลผู้ป่วย พบว่า มีประชาชนเพียง 20% โดยประมาณที่บริโภคอาหารถูกต้อง ส่วนที่เหลือ 80% เป็นการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ได้รับสารอาหารไม่สมดุลต่อร่างกาย เช่น บางคนไม่กินผักหรือผลไม้ บางคนกินแป้ง ไขมัน โซเดียมมากเกินควร ส่งผลให้ได้รับพลังงานมากเกินความต้องการ ทำให้เกิดปัญหาโรคอ้วน เมตาโบลิกซินโดรม และกลุ่มโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ส่วนวิธีการรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและเป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างง่ายๆ ในการป้องกันโรค คือ ลดความหวาน มัน เค็ม รับประทานผักที่หลากหลายสี ผลไม้ที่หลากหลายชนิดตามฤดูกาล วันละ 2 ชนิดในปริมาณพอสมควร ข้าว แป้ง โปรตีนหรือเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน อย่างละ ¼ ของมื้ออาหารที่รับประทาน ผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ วันละ 1-2 ครั้ง ก็จะได้รับสารอาหารครบทุกหมู่ และได้รับสารอาหารสมดุล” นางศัลยา กล่าว
- 2006 views