แนวโน้มคนไทยตาย พิการ กะทันหันเพิ่ม ยอดผู้ป่วยฉุกเฉินเข้าโรงพยาบาล 25 กว่าล้านคน/ปี แนวโน้มยิ่งเพิ่มขึ้น เหตุจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สามารถป้องกันได้ สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ รพ.ราชวิถี สสส. ทำหลักสูตรป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เร่งกระตุ้นสร้างความตระหนักในสังคม เรียนรู้ เข้าใจ รู้จักการป้องกันลดความสูญเสียไม่คาดคิด 

เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่โรงพยาบาลราชวิถี นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับ โรงพยาบาลราชวิถี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “โครงการส่งเสริม และป้องกัน คนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน” เพื่อให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันการเจ็บป่วยจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้

นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินปีละ 25 กว่าล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิต และพิการ ซึ่งอัตราผู้ป่วยฉุกเฉินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก อุบัติเหตุ โรคหัวใจเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ ซึ่งหลายสาเหตุสามารถป้องกันได้

สมาคมเวชศาสตร์ฯ จึงร่วมกับ โรงพยาบาลราชวิถี และ สสส.จัดโครงการ “ส่งเสริม และป้องกัน คนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน” มีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดีจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต หรือหากมีโรคประจำตัวก็อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ โดยไม่เจ็บป่วยฉุกเฉิน หากเกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้น ก็สามารถหยุดยั้งอาการไม่ให้กำเริบจนเสียชีวิตหรือพิการถาวร โดยจะมีการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งสำหรับประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์อย่างเป็นระบบ และสื่อสารต่อสาธารณอย่างต่อเนื่อง

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า สาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยในลำดับต้นๆ เกือบทุกปี คือ โรคมะเร็ง อุบัติเหตุและการเป็นพิษ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า 68% ของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก เกิดจากโรคที่ไม่ติดต่อ หรือโรคเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยง 10 ประการ คือ กรรมพันธุ์ เพศ อายุ ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิต และไขมันในเส้นเลือด ซึ่งโรคเหล่านี้ส่วนใหญ่ป้องกันได้ ด้วยการดูแลสร้างเสริมสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลัง ดูแลน้ำหนักให้อยู่ในระดับปกติ ลดปัจจัยเสี่ยงไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่ใช้ยาเสพติด มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เดินสายกลางในชีวิตเพื่อไม่ให้เกิดความเครียด

นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวถึง โครงการส่งเสริม และป้องกัน คนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน มียุทธศาสตร์ดำเนินการ 4 ขั้นตอน ดังนี้

1.การระดมสมองและเชื่อมประสาน

2.การจัดทำคู่มือสื่อแนะนำหลักสูตร ระบบปฏิบัติการและการรวบรวมข้อมูล

3.พัฒนาเครื่องมือ บุคลากร และเครือข่าย

4.สร้างความยั่งยืนของการส่งเสริมป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน 

เป้าหมายสำคัญของโครงการคือ การสร้างต้นแบบหลายๆ ด้าน เช่น หลักสูตรสำหรับนักเรียนในระดับประถมและมัธยมศึกษาในการป้องกันตนเองไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน การส่งข้อเสนอและนโยบายที่ประสบผลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการดำเนินการต่อไป นอกจากนั้น ยังได้กล่าวถึงกรณีศึกษาที่เสียชีวิตจากเหตุอันไม่สมควร ที่นำไปสู่การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุ การดูแลตนเองเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุ และการช่วยเหลือจากหน่วยงานทางการแพทย์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สสส.มีความยินดีที่จะได้ร่วมทำงานกับสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย บุคลากรที่คลุกคลีอยู่กับการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทั่วประเทศ จะเป็นผู้ที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในการรักษาสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉินได้ดีที่สุด เป้าหมายการทำงานของ สสส.คือ สนับสนุนทุกภาคส่วนร่วมทำงานสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่

1.ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปลง 10%

2.การลดความชุกของการบริโภคยาสูบของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปลง 30%

3.ความชุกของการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอลดลง 10%

และ 4.ค่าเฉลี่ยปริมาณการบริโภคเกลือ/โซเดียมในประชากร ลดลงร้อยละ 30 มิลลิกรัมต่อวัน