policy brieft : นโยบายคมนาคมขนส่งเพื่อความปลอดภัยจากอุบัติเหตุจราจร โดย ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล  คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี 3 กันยายน 2557

1.2/3 ของจำนวนคนตายจากอุบัติเหตุจราจรปีละกว่าสองหมื่นคน ไม่อาจแก้ได้ด้วยการรักษาพยาบาลใดๆ

2.อุบัติเหตุจราจรเป็นไปในระบบขนส่งคมนาคมที่เน้นการขนรถมากกว่าขนคน นั่นคือ เป็นระบบที่การขนส่งสัญจรทางรางและรถเมล์ไม่ทั่วถึง ด้อยคุณภาพ ไม่คุ้มค่า และล้าหลัง

3.เหตุที่ระบบเช่นนี้ยังดำรงอยู่ แม้องค์ความรู้และแบบอย่างที่ดีปรากฎให้เห็นมาช้านาน เป็นเพราะ กระบวนการนโยบาย กระบวนการวางแผน การควบคุมกำกับ และการติดตาม ประเมินผลเป็นระบบปิด นั่นคือขาดการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เพียงพอของทุกภาคส่วน จึงไม่อาจถ่วงดุลการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม

4.ในระบบเปิด ซึ่งมีแบบอย่างที่ดีในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร กลไกและกระบวนการดังกล่าว แยกกันชัดเจนระหว่างบทบาทการกำหนดนโยบาย บทบาทการดำเนินนโยบายและแผน(อนุมัติสัมปทาน ควบคุมสัมปทาน จ้างเหมาก่อสร้าง บังคับใช้กฎหมาย) และบทบาทให้บริการหรือรับเหมาก่อสร้าง  จึงเกิดการถ่วงดุล และส่งเสริมการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับเหมา นอกจากการแยกบทบาทดังกล่าว สองบทบาทแรกยังเป็นไปด้วยการส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เพียงพอของทุกภาคส่วน เช่น การกำหนดเงื่อนไขอนุมัติและต่อสัญญาสัมปทานเดินรถเมล์ให้ยึดโยงกับผลการสำรวจความพึงพอของผู้ใช้บริการรายไตรมาส  การระดมความเห็นของผู้ใช้รถใช้ถนนผ่านหลายช่องทางเพื่อนำไปพิจารณาประกอบการวางแผนปรับปรุงถนนรายปี  เป็นต้น 

5.ระบบคมนาคมขนส่งที่ดีคือ ระบบที่เชื่อมโยงทุกลักษณะ(mode)การเดินทางขนส่งเข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ(seamless modal links) โดยเน้นระบบขนคนมากกว่าขนรถ และสอดรับกับการวางผังเมืองให้เอื้อประโยชน์แก่การใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่า และกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ถ้าเราเชื่อเช่นนั้น จำเป็นต้องพัฒนากลไกบูรณาการนโยบายคมนาคมขนส่งและผังเมือง ตั้งแต่บัดนี้ แม้ว่าจะเห็นผลในระยะยาวก็ตาม

6.ข้อเสนอแนะ 3 ระยะ

ระยะสั้น  1-2 ปี

6.1 ด้านถนน ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพถนนมากกว่าขยายถนน โดยยึดมาตรฐานด้านความปลอดภัย เช่น

ก) การปรับปรุงป้ายข้อความและสัญญาณให้เป็นมิตรกับคนใช้ทาง ลดความสับสน ตกหล่นในการชี้นำทาง ตลอดจนป้องกันและขจัดสิ่งปิดบังป้ายและสัญญาณ  

ข) ส่งเสริมการใช้วงเวียนด้วยขนาดต่างๆตามมาตรฐานสากลมากกว่าการใช้สัญญาณไฟจราจร 

ค) ทบทวนการใช้มาตรการทางวิศวกรรมจราจรเพื่อชะลอความเร็วของถนนทุกประเภทตามมาตรฐานสากล   

6.2 ด้านระบบขนส่ง ทบทวนหลักเกณฑ์ต่อไปนี้  

ก) สัญญาสัมปทานเดินรถเมล์ทุกประเภท เพื่อให้เสียงผู้ใช้บริการมีอิทธิพลต่อการอนุมัติ และต่ออายุสัญญาจนเห็นผลชัดเจนในด้านคุณภาพ ความคุ้มค่าและความปลอดภัย  

ข) จดทะเบียนรถเมล์ทุกประเภท เพื่อแทนที่การใช้รถเมล์สองชั้น ด้วยรถเมล์ชั้นเดียวบนเส้นทางนอกเมือง   

ค) พิจารณาส่งเสริมการลงทุนระบบขนส่งทางรางชนิดเบาหรือบีอาร์ทีในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ  โดยยึดหลักไร้รอยต่อทุกช่องทาง

6.3 ด้านกระบวนการนโยบายและแผน เปิดช่องทางรับรู้รับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้บริการรถสาธารณะทุกประเภทอย่างทั่วถึงโดยใช้หลายรูปแบบ/ช่องทาง แล้วประมวลผลรายไตรมาสเข้าสู่การพิจารณาจัดทำนโยบายและแผนในสองด้านดังกล่าว (6.1+6.2) พร้อมทั้งรายงานผลต่อสาธารณะรายปีโดยเชื่อมโยงกับผลการประมวลความคิดเห็นดังกล่าว

6.4 จัดตั้งกลไกบริหารการเปลี่ยนแปลงระยะกลางและระยะยาวโดยพิจารณากฎหมายตะวันรอน กำหนดให้มีตัวแทนทุกภาคส่วนที่สำคัญร่วมดำเนิน  โดยมีเป้าประสงค์ดังข้อถัดไป และมีงบประมาณรองรับอย่างเหมาะสมเพียงพอ(จากกองทุนเลขสวยเป็นทางเลือกหนึ่ง)

ระยะกลาง 2-4 ปี

6.5 แยกบทบาทการกำหนดนโยบาย บทบาทการดำเนินนโยบายและแผน(อนุมัติสัมปทาน ควบคุมสัมปทาน จ้างเหมาก่อสร้าง บังคับใช้กฎหมาย) และบทบาทให้บริการหรือรับเหมาก่อสร้างให้เป็นอิสระต่อกัน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ตลอดจนส่งเสริมการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับเหมา

6.6 ส่งเสริมผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะให้ร่วมแสดงความเห็นต่อการดำเนินบทบาทของกลไกทั้งสามในข้อ 6.4 โดยสร้างและส่งเสริมช่องทางระดมรับฟัง/แลกเปลี่ยนข้อมูล/ความเห็นอย่างหลากหลายทั่วถึงสม่ำเสมอเช่น ทุกรายไตรมาส  เพื่อป้อนสู่การกำกับ ทบทวน ปรับปรุงบทบาทและการดำเนินการของกลไกทั้งสาม

6.7 กำหนดให้มีตัวแทนภาคประชาสังคมและนักวิชาการ ในกลไกกำหนดนโยบาย และกลไกดำเนินนโยบายและแผนในสัดส่วนที่เพียงพอที่จะถ่วงดุลภาคธุรกิจ ข้าราชการ และฝ่ายการเมือง

ระยะยาว 4-5 ปี

ทบทวนและ/หรือออกกฎหมายเน้นระบบขนคนมากกว่าขนรถ โดยสอดรับกับการวางผังเมืองให้เอื้อประโยชน์แก่การใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าและ  กระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด  ทั้งนี้ ประเด็นที่พึงพิจารณาได้แก่

6.8 แผนการลงทุนระบบถนนแบบกำหนดลำดับชั้นการใช้(hierarchy) และเน้นคุณภาพ ความปลอดภัยมากกว่ามุ่งขยายเส้นทางหรือช่องทาง(lanes)

6.9 แผนการลงทุนระบบรถโดยสารสาธารณะในเมืองเพื่อแทนที่การใช้รถส่วนบุคคลให้มากที่สุดหรืออย่างน้อยครึ่งหนึ่ง โดยยึดหลักไร้รอยต่อทุกช่องทาง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล : อุบัติเหตุจราจร กับนโยบายขนส่งและคมนาคม