“นพ.ไพบูลย์” คณะแพทย์รามาฯ ชี้ แค่กระจายอำนาจคืน รพ.ให้ชุมชนอย่างเดียวไม่พอ ต้องยกเครื่องการอภิบาลระบบสุขภาพด้วย และปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขใหม่ หากทำไม่ได้ก็เท่ากับได้แต่พูดเท่านั้น
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นถึงนโยบายหาเสียงพรรคเพื่อไทยซึ่งนำเสนอโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเฟสที่ 2 ด้วยการกระจายอำนาจคืนโรงพยาบาลทั่วประเทศให้กับประชาชน โดยมีโมเดลที่คล้ายๆ กับโรงพยาบาลบ้านแพ้วว่า ถ้าพูดสั้นๆ แค่บ้านแพ้วโมเดล สามารถตีความได้หลายแบบ
ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ถ้าตีความแบบที่ 1 หมายถึงแบบเดียวกับโรงพยาบาลบ้านแพ้วในปัจจุบัน แปลว่าเป็นโรงพยาบาลอิสระไม่ได้สนใจว่าต้องทำงานเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลอื่นๆ ซึ่งในความเป็นจริงไม่มีโรงพยาบาลชนิดใดที่ทำงานแบบ Stand Alone ได้ ไม่เช่นนั้นภาพจะเป็นแบบเดียวกับโรงพยาบาลเอกชนที่แข่งกันโดยไม่สนใจคนอื่น
"แนวโน้มทุกวันนี้คือโรงพยาบาลเอกชนกระเดียดไปหาบริการที่ใช้ผู้เชี่ยวชาญเยอะๆ สิ่งที่ตามมาคือค่าบริการแพงและการดูแลที่ไม่ประสานงานกัน เช่น หมอกระดูกจะเป็นคนที่เจอผู้ป่วยตอนท้ายสุด เวลาคนไข้บาดเจ็บในหลายอวัยวะ หมอช่องท้องเข้ามาผ่า ผ่าเสร็จหมอช่องอกเข้ามาต่อ พอดูแลพ้นระยะวิกฤติ กระดูกขายังหักอยู่ แต่คนไข้อาจหมดเงินแล้ว แล้วก็ชิ่งคนไข้ส่งไปโรงพยาบาลรัฐ นี่คือสภาพสุดโต่งที่เจอในโรงพยาบาลเอกชน" ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าว
ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวต่อไปว่า จะเห็นว่าปรากฎการณ์ที่เกิดกับบ้านแพ้วคือ ตอบไม่ได้ว่าบริการอื่นๆ ที่คนไข้ไม่ได้เดินเข้ามาในโรงพยาบาล เช่น การคัดกรองโรคนอกโรงพยาบาล การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โรงพยาบาลบ้านแพ้วดูแลได้ครบถ้วนหรือไม่ แต่ที่เห็นแน่ๆ คือมีการขยายสาขามาใน กทม. ในศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง คำถามคือนี่คือโรงพยาบาลบ้านแพ้วที่อยากเห็นหรือไม่ และถ้าโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข 700-800 แห่งเป็นแบบนี้ อะไรจะตามมา
"ก็เดาได้ว่าจะเกิดการแข่งขันแบบเอาตัวรอด ซึ่งก็ทราบกันดีว่าในกลไกตลาดที่ไม่สมบูรณ์ สิ่งที่ตามมาคือผู้บริโภคจะตกที่นั่งลำบาก เพราะความรู้ระหว่างแพทย์และผู้รับบริการต่างกันมหาศาล ปวดท้องเข้าไปจะได้ยาธาตุน้ำแดงกลับบ้านหรือนอน ICU ขึ้นกับแพทย์จะวินิจฉัยอย่างไร ไม่เหมือนซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ" ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าว
ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวต่อไปว่า ถ้าตีความแบบที่ 2 บ้านแพ้วโมเดลหมายถึงการทำให้โรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขออกไปเป็นอิสระแบบเป็นพวง แปลว่ามีการทำเป็นเครือข่ายดูแลผู้ป่วยได้หลากหลายตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันโรคไปจนถึงการรักษาด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีเป้าหมายประชากรกลุ่มเดียวกัน ภาพจะแตกต่างจากแบบแรกที่กล่าวไปข้างต้น
อย่างไรก็ดี ศ.นพ.ไพบูลย์ ย้ำว่า แค่กระจายอำนาจให้ชุมชนอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีการยกเครื่องการอภิบาลระบบสุขภาพด้วย ถ้าไม่มีการยกเครื่องการอภิบาลระบบก็เท่ากับได้แต่พูดเท่านั้น
"การอภิบาลระบบสำคัญที่สุด ต้องมีขีดความสามารถในการกำกับดูแลโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางและใช้ความรู้วิชาการอย่างเท่าทันสถานการณ์ ซึ่งถ้าคาดหวังจะให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง รับรองได้ว่ากลไกและกระบวนการกำกับดูแลที่มีอยู่ทุกวันนี้ทำไม่ได้ ต้องปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขใหม่หมดเลย เพราะทุกวันนี้เวลาจะทำอะไร จะถามว่าส่วนกลางจะได้อะไร ไม่ได้ถามว่าประชาชนจะได้อะไร ล่าสุดไปผมดูลูกศิษย์มา คนไข้เบาหวานแต่ละคนได้เจอหมอคนละ 1-2 นาที คนไข้ต้องคุมอาหาร คุมยา ออกกำลังกาย แต่พอเจอแพทย์ก็ได้แค่รู้ว่าน้ำตาลในเลือดเท่าไหร่แล้วก็ไปปรับยา แบบนี้มันไม่เพียงพอ นี่คือความล้มเหลว ทั้งหมดนี้คือความต้องการการอภิบาลระบบที่ต้องยกเครื่องใหม่หมด และไม่คิดว่าคณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุขภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีเจตนารมณ์จริงจังในการปฏิรูปไปถึงขั้นนั้น" ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าว
ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ภาพของกระทรวงสาธารณสุขที่้ต้องการเห็นคือเป็นกระทรวงที่ยืดหยุ่นในการสนับสนุนพื้นที่ มีความสามารถในการตั้งคำถามคมๆ ใช้ข้อมูลเป็น รู้ว่าในพื้นที่มีจุดอ่อนอะไรที่ต้องเข้าไปสนับสนุน และสามารถต่อสู้เพื่อเอางบประมาณมาปกป้องเครือข่ายหน่วยบริการได้ ทั้งหมดนี้ต้องการโครงสร้างใหม่ เป็นการคิดใหม่หมดเลย คำถามคือจะทำถึงขั้นนั้นหรือไม่ ถ้าพรรคเพื่อไทยเอาด้วย จะดำเนินการอย่างไร
- 55 views