นักวิชาการแนะ สพฉ.จะออกประกาศยกระดับกู้ชีพต้องมองให้รอบด้าน ชี้ข้อจำกัดของบุคลากรกู้ชีพพื้นฐาน (FR) คือไม่มีคนสนับสนุนค่าอบรมเพื่อยกระดับแถมได้ค่าตอบแทนต่ำ หากจะเพิ่มคุณภาพผู้ปฏิบัติงานทั้งระบบต้องแก้ 2 จุดนี้ด้วย
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล
ศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยที่มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับด้านอุบัติเหตุจราจรทั้งในเรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจร ให้ความเห็นกรณีที่เครือข่ายกู้ชีพบางกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้านการออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เรื่อง หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ พ.ศ.2560 ซึ่งมีข้อกำหนดว่าการลำเลียงหรือรับส่งผู้ป่วยต้องเป็นบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมระดับ Emergency Medical Responder (EMR) ขึ้นไป ซึ่งจะมีผลทำให้บุคลากรส่วนใหญ่ในระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่อยู่ในระดับกู้ชีพพื้นฐาน First Responder (FR) ไม่สามารถลำเลียงผู้ป่วยได้ โดย ศ.นพ.ไพบูลย์ มองว่าข้อถกเถียงในเรื่องนี้ต้องมองให้ครบทุกปัจจัยโดยเฉพาะการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม และการปรับเพิ่มค่าตอบแทนแก่บุคลากรเพื่อรักษาคนให้อยู่ในระบบด้วย
ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวว่าในเชิงหลักการแล้ว ระบบการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินต้องพัฒนาในเรื่องความครอบคลุมของบริการในทุกพื้นที่ เพื่อให้หลักประกันว่าคนทุกคนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินบาดเจ็บรุนแรงบนแผ่นดินไทยจะได้เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและทันเวลา ซึ่งหากจะให้ได้บริการที่มีคุณภาพ ผู้ให้บริการในระบบการแพทย์ฉุกเฉินไม่ว่าระดับไหนก็ตาม จำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมโดยเฉพาะและต้องได้รับการรับรองคุณภาพด้วย
“ถ้ามองจากมุมผู้บาดเจ็บแล้ว ทุกๆ คนก็อยากให้มั่นใจว่าคนที่พาเขาส่งโรงพยาบาลมีความรู้มากพอ อย่างน้อยที่สุดไม่ทำให้เขาแย่ลง เราพูดถึงการเจ็บป่วยที่อาจมีความซับซ้อนและไม่มีเวลามากพอที่จะลงรายละเอียดว่าสาเหตุนั้นคืออะไร ดังนั้นคนที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือต้องมีความรู้มากพอในระดับหนึ่ง” ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพยากรและอำนาจซื้อของประเทศ ชัดเจนว่ามีไม่มากพอที่จะจัดให้มีบุคลากรที่เก่งที่สุดเพียงระดับเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องมีการผสมผสานบุคลากรในหลายระดับซึ่งข้อเท็จจริงในประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรในระดับกู้ชีพพื้นฐาน (FR) มากที่สุด สะท้อนความจริงอย่างน้อย 2 ประการคืออำนาจซื้อของประเทศและระดับการศึกษาของประเทศไทย
“ประเด็นเรื่องอำนาจซื้อ เราพยายามแก้ปัญหาโดยยอมให้มูลนิธิต่างๆ มีบทบาท อย่างน้อยที่สุดก็บ่งชี้ว่าระบบนี้มีคุณค่าในตัวเองในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ถ้าประเทศไทยจะได้ประโยชน์สูงสุดจากบริการกู้ชีพก็ไม่ได้แปลว่าเราควรยอมรับสถานภาพที่มีอยู่เดิม มันต้องมีการยกระดับคนกลุ่มนี้ขึ้นมา เพราะเทคโนโลยี ความคาดหวังของสังคมเปลี่ยนไปมาก อำนาจซื้อของประเทศก็เปลี่ยนไปด้วย แต่ประเด็นที่นำมาสู่ข้อถกเถียงนี้ ถ้ามองอย่างตรงไปตรงมามี 2 ปัจจัยคือ 1.การยกระดับเขาแปลว่าต้องมีการฝึกอบรมซึ่งมีภาระค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น และจากการสอบถามจากทุกพื้นที่ที่ผมเข้าไปทำวิจัย ก็ชัดเจนว่ามูลนิธิหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ยังไม่ได้ดูแลค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้กับบุคลากรในระดับปฏิบัติ และถึงผ่านการฝึกอบรมก็มีค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนตามมาอีก” ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าว
ปัจจัยที่ 2.ค่าตอบแทนบุคลากรกลุ่มนี้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ สวนทางกับความคาดหวังของสังคมที่ต้องการคุณภาพ ทำให้อัตราการหมุนเวียนของบุคลากรกู้ชีพพื้นฐานทั้งในส่วนของ อปท.และมูลนิธิมีสูงมาก ดังนั้นเมื่อมีความพยายามกำหนดมาตรฐานต่างๆขึ้นมา แต่ไม่ได้มีการสร้างหลักประกันว่าบุคลากรกู้ชีพพื้นฐานจะไม่เดือดร้อนในเรื่องค่าใช้จ่ายจากการเข้ารับการฝึกอบรม และไม่มีการแก้ไขในเรื่องค่าตอบแทนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงในการทำงานและความกดดันต่างๆ ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะรักษาคนกลุ่มนี้ไว้ในระบบ เมื่ออัตราหมุนเวียนของบุคลากรกลุ่มนี้สูง ก็ไม่มีหลักประกันว่าคนที่ผ่านการฝึกอบรมจะอยู่ในระบบและได้สะสมประสบการณ์ต่อไป ความเสี่ยงต่างๆ ก็กลับไปที่ผู้ป่วยฉุกเฉินนั่นเอง
“เพราะฉะนั้นประเด็นที่ต้องแก้คือ 1.ต้องมีคนจ่ายค่าฝึกอบรม ค่าขึ้นทะเบียน 2.ต้องปรับอัตราค่าตอบแทน เรื่องขวัญกำลังใจ ระบบประกันชีวิตต่างๆ ทั้งหมดนี้ต้องแก้ไข ไม่อย่างนั้นเราแก้ปัญหาไม่จบ อันนี้ผมพูดในเชิงทฤษฏีหลักการ แต่ในรายละเอียดผมไม่ทราบว่าทาง สพฉ.ได้ทำอะไรบ้าง ได้มีการสื่อสารเพียงพอหรือไม่ ถ้าพูดแต่ตัวประกาศแล้วไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น แบบนั้นในหลักการแล้วน่าจะยังไม่เพียงพอที่จะเยียวยาสถานการณ์ มันต้องคิดให้ครบเครื่องไม่ใช่ตรงไปตรงมาแค่มีประกาศใบเดียว” ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าว
ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หากการหาทางออกในเรื่องนี้มีเรื่องเงินเป็นประเด็นสำคัญ ตนเสนอว่ากองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถคือทางออกทางหนึ่ง เพราะเป็นเวลากว่า 25 ปีมาแล้วที่มี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถเกิดขึ้น ดูแลโดยบริษัทประกันภัยเอกชนและมีส่วนต่างเก็บไว้ปีละนับหมื่นล้านบาทและมีต้นทุนในการบริหารกองทุนสูงมาก 35-40%
“คำถามคือสังคมนี้จะอยู่แบบนี้หรือ เงินนี้เป็นเงินสาธารณะ คนที่มีรถต้องจ่ายเพราะกฎหมายบังคับให้ต้องจ่าย เงินสาธารณะแต่เอาไปให้เอกชนบริหารด้วยต้นทุนสูงขนาดนี้ซึ่งในทางธุรกิจน่าจะเจ๊งไปนานแล้ว อย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คล่องตัวน้อยกว่าเอกชนและบริหารเงินมหาศาลกว่ากองทุนนี้อีก แต่ใช้ต้นทุนบริหารจัดการแค่ 1% ก็ฝากตรงนี้ไว้ด้วย เงินนี้ถ้านำมาพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั้งระบบ ประเทศไทยจะดีกว่านี้” ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าว
- 64 views