เดลินิวส์ - จะในสถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม การปฏิบัติงานของกลุ่ม 'บุคลากรด้านสาธารณสุข" ฝ่ายต่าง ๆ ก็นับว่ามีความสำคัญ และยิ่งในสถานการณ์ที่ไม่ปกติก็ยิ่งสำคัญ ซึ่งสำหรับในประเทศไทยกับการ 'หาบทสรุป" ของสถานการณ์นั้น ก็ใช่จะมีเพียงด้านการเมืองที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่ แต่กับแวดวงด้านสาธารณสุขนี่ก็ด้วย...

โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับ 'ค่าตอบแทน"

ที่จะปรับใช้ 'นโยบายใหม่" แต่ก็ยังวุ่น ๆ

ทั้งนี้ นโยบายใหม่เกี่ยวกับค่าตอบแทนของบุคลากรด้านสาธารณสุขในไทย ในที่นี้ก็คือนโยบายการ "จ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานและคุณภาพงาน" หรือ "P4P" ที่ด้านหนึ่งมีการมองว่าระบบจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานนั้นไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับบุคลากรทางการแพทย์ แต่ในอีกด้านก็ยังยืนกรานว่าเหมาะสมแล้ว

กับเหตุผลกล่าวอ้างของด้านที่ว่าเหมาะสม ก็เช่น...สิ่งที่จะได้คือ...1.เชิงปริมาณ กระตุ้นให้คนทำงานมากขึ้น 2.เชิงคุณภาพ มีตัวชี้วัดในเชิงของการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น มีตัวชี้วัดคุณภาพการรักษาพยาบาล เช่น ลดเวลารอคิว ผ่าตัดแล้วไม่มีการติดเชื้อ ทำให้คนไข้กลับบ้านได้เร็วขึ้น รักษาคนไข้หายเร็วขึ้น คุณภาพการรักษาและบริการด้านต่าง ๆ ก็จะต้องดีขึ้น ประชาชนก็จะได้ประโยชน์มากขึ้น

"การปรับการจ่ายค่าตอบแทนนี้ มีเงินส่วนหนึ่งที่เป็นค่าคงที่ แล้วบวกด้วย P4P จะได้ประโยชน์คือ ลดความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ ของภาครัฐกับเอกชน ได้เงินเพิ่มตามปริมาณงานและคุณภาพงานที่ชัดเจน ตอบคำถามประชาชนได้"...นี่เป็นบางส่วนจากการระบุไว้ของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ในฐานะ รมว.สาธารณสุข

อีกทั้งยังมีการระบุไว้อีกว่า...สิ่งที่สำคัญที่สุด หรือหัวใจของ P4P  คือ มีการวัดผล ซึ่งจะช่วยในเชิงบริหาร ผู้บริหารหรือหัวหน้าทีมจะได้รู้ว่าผลงานของลูกทีมเป็นอย่างไร การจะประเมินองค์กรหรือหน่วยงานว่ามีผลงานที่ดีหรือไม่อย่างไร สามารถให้บริการประชาชนได้หรือไม่ ก็ต้องมีการวัดผล โดยในกระบวนการของการทำ P4P ต้องวัดผลทั้งปริมาณและคุณภาพ ซึ่งการทำ P4P จะมีผลพลอยได้ต่าง ๆ ตามมาหลายอย่าง

"ถ้าไม่เอาเรื่องเงินมาเกี่ยว นี่ก็เป็นเรื่องที่ควรจะต้องทำอยู่แล้ว เพราะเป็นการวัดผลเพื่อจะได้ปรับปรุงคุณภาพ นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนจะได้แน่ ๆ"...หัวขบวนของฝ่ายยืนกรานว่าเหมาะสม ระบุไว้

ส่วน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ในฐานะปลัดกระทรวงสาธารณสุข ก็ระบุถึงระบบจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรด้านสาธารณสุขตามภาระงานและคุณภาพงานไว้บางช่วงบางตอนคือ...การจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงานนั้น การคิดค่าคะแนนไม่เพียงเรื่องการรักษาพยาบาลอย่างเดียว แต่ได้ครอบคลุมถึงการส่งเสริม ป้องกัน งานวิชาการ งานเยี่ยมบ้าน และอื่น ๆ ทำให้ กิจกรรมบางอย่างที่ไม่เคยได้รับการบันทึกก็จะถูกบันทึก จะทำให้คนทำงานในส่วนนั้น ๆ ได้เห็นคุณค่าของงานที่ทำ ซึ่งผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ประชาชน

"หลายโรงพยาบาลที่ดำเนินการแล้ว มีผลประเมินชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่กระตือรือร้นทำงาน แม้กระทั่งเวรเปล ซึ่งมีการบันทึกคะแนน ทำให้เห็นถึงปริมาณและคุณภาพที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ จะช่วยในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในระหว่างวิชาชีพ ซึ่งนโยบายกระทรวงฯ จะพยายามให้เหลื่อมล้ำน้อยที่สุด"...นพ.ณรงค์ ระบุไว้

และก็ยังมีการระบุเกี่ยวกับเรื่อง งบประมาณ ที่ยึดโยง โดยตรงกับระบบจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรด้านสาธารณสุขตาม ภาระงานและคุณภาพงาน ไว้ด้วยว่า...เดิมการจ่ายค่าตอบแทนของ โรงพยาบาลต่าง ๆ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นเงินที่มา จากเงินงบประมาณทั้งหมด ต่อมาในปีงบประมาณ 2545 ซึ่งเป็น ช่วงการเริ่มจัดสรรงบประมาณแบบค่าใช้จ่ายรายหัวประชากรให้ โรงพยาบาล งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจึงกลายเป็นเงินบำรุงของ โรงพยาบาล ในช่วงแรกไม่มีปัญหาเนื่องจากวงเงินที่จ่ายเป็นค่าตอบ แทนไม่สูงมาก แต่หลังจากมีการประกาศใช้ฉบับที่ 4 และ 6 ในปี 2551 ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก ด้วยเหตุผลการดึงดูดแพทย์ให้อยู่ใน ระบบ

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้ โรงพยาบาลทั่วประเทศประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนโดยมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ จาก 19.5% เป็น 51.8% ส่งผลให้เงินบำรุงคงเหลือหลังหักหนี้สินลดลง เช่นในปี 2550 โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศมีเงินบำรุง 6,464 ล้านบาท ลดลงเหลือ 2,862 ล้านบาทในปี 2553 ส่วนหนึ่งเป็นสาเหตุมาจากการจ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่

"ในการแก้ปัญหา กระทรวงสาธารณสุขได้ของบกลางรัฐบาล ในปี 2554 ครม.ให้เงินแก้ปัญหา 4,200 ล้านบาท และให้กระทรวงสาธารณสุข ทบทวนการจ่ายค่าตอบแทน ให้ทำหลักเกณฑ์การจ่ายใหม่ ต่อมาในปี 2556 ครม.ให้เงิน 3,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายค่าตอบแทน พร้อมเงื่อนไขให้กระทรวงสาธารณสุขปรับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนจึงเป็นที่มาของการปรับการจ่ายค่าตอบแทน"...ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุไว้

ด้านหนึ่งยังคงยืนกรานว่าเหมาะสมแล้ว

ขณะที่อีกด้านหนึ่งการคัดค้านก็แข็งขัน

นี่ก็อีกเรื่องที่ยังต้องจับตา 'บทสรุป??".

ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 ธ.ค. 2556 (กรอบบ่าย)--