ประธาน สพศท.วอนรัฐปรับแก้กฎระเบียบบางข้อเพื่อเปิดช่องโรงพยาบาลหารายได้เองแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ด้านชมรม รพศ./รพท.ชี้ ค้างจ่าย P4P ไม่ใช่เรื่องน่าแตกตื่น คาดอีกไม่กี่เดือนปัญหาคลี่คลาย
นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) เปิดเผยถึงปัญหาการค้างจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน (P4P) ซึ่งจากการสำรวจโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปที่ให้ข้อมูล 90 แห่ง มีถึง 89 แห่งที่ค้างจ่าย P4P ตั้งแต่ 1-27 เดือน โดยระบุว่าย่อมเกิดผลกระทบต่อขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงานซึ่งในแต่ละโรงพยาบาลมีบุคลากรหลายระดับ เจ้าหน้าที่บางกลุ่มมีเงินเดือนและค่าตอบแทนไม่มาก เงินที่ค้างจ่ายแม้จะไม่ใช่เงินก้อนใหญ่ แต่ก็สำคัญและกระทบต่อความเป็นอยู่ของบุคลากรและครอบครัวเหล่านี้
นพ.ประดิษฐ์ กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าวิธีการจัดสรรงบประมาณในปัจจุบัน ทำให้มีเงินไม่พอจริงๆ ซึ่งกระทบต่อสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ทุกปีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ของบมาให้ปีละประมาณ 2-3 พันล้านบาท แต่ถือว่าเป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะจัดสรรงบให้ตลอดหรือไม่ ดังนั้นน่าจะมีการปรับระบบการจัดสรรใหม่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข น่าจะปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรใหม่ให้เหมาะสม โดยยกเลิก หรือปรับเปลี่ยนแก้ไข กฎระเบียบบางอย่างเพื่อเปิดช่องให้โรงพยาบาลสามารถช่วยตัวเองในการหารายได้ เพื่อช่วยในเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน
"นโยบายบอกว่าอยากให้แต่ละโรงพยาบาลหารายได้ด้วย อย่ารอแต่ส่วนกลาง รัฐมนตรีก็บอกเองว่าจะรองบ สปสช.ไม่พอหรอก แต่โรงพยาบาลก็ถูกมัดมือมัดเท้าด้วยกฎระเบียบต่างๆ แล้วจะให้เราหาอย่างไรล่ะ ผมก็ยังไม่รู้ว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน จะหาเงินเข้ามาได้อย่างไรให้เพียงพอ เพื่อขวัญกำลังใจของบุคลากร และเพื่อพัฒนาคุณภาพการดูแลรักษาประชาชน" นพ.ประดิษฐ์ กล่าว
ด้าน แหล่งข่าวจากชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า ปัญหาการค้างจ่ายค่าตอบแทน P4P มาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.การจ่ายค่าตอบแทน P4P ในปี 2558 ซึ่งยังไม่มีการประเมินผลภายในสิ้นเดือน ก.ย.2557 ตามมติ ครม. จึงยังไม่สามารถจ่ายได้ ต่อมา ครม.ได้อนุมัติให้จ่ายได้เมื่อเดือน ก.ค. 2558 หลังจากนั้น สธ.ต้องทำหนังสือเวียนแจ้งโรงพยาบาลให้จ่ายได้ กว่าหนังสือเวียนจะออกก็ใช้เวลา 2 เดือน เท่ากับว่าโรงพยาบาลเริ่มต้นจ่าย P4P ในเดือน ต.ค. 2558
"ตั้งแต่ ต.ค.2557 - ต.ค. 2558 รวม 12 เดือนที่ค้างอยู่ และบางโรงพยาบาลก็ค้างจ่ายก่อนหน้านั้นมาแล้ว เลยเห็นว่ามีโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ค้างจ่าย 12 เดือนบ้าง 18 เดือนบ้างเป็นต้น ฉะนั้นจะจ่ายรวดเดียว 10 กว่าเดือน มันเป็นไปไม่ได้ ส่วนใหญ่ก็จะทยอยจ่าย ถ้าโรงพยาบาลที่ฐานะดีก็อาจจ่ายทุกเดือน เช่น 1 เดือนจ่ายรวมของ 3 เดือน เป็นต้น คือค่อยๆ ทยอยจ่ายไป" แหล่งข่าว กล่าว
2.การบริหารแบบเขตสุขภาพ โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป ต้องเป็นพี่เลี้ยงให้โรงพยาบาลที่เล็กกว่า เช่น โรงพยาบาลอำเภอไม่ไหว ก็ให้โรงพยาบาลจังหวัดช่วย ถ้าจังหวัดไม่ไหวก็ต้องให้ระดับเขตช่วยเอาเงินของอีกจังหวัดมาช่วย การบริหารแบบนี้ทำให้โรงพยาบาลอยู่กันมาได้ แต่ก็อยู่กันแบบกระท่อนกระแท่น เกิดความไม่แน่นอนว่ารายได้ของโรงพยาบาลจะได้เท่าไหร่ในแต่ละปี
3.เมื่อสภาพคล่องทางการเงินมีปัญหา โรงพยาบาลก็เลือกจ่ายในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน เช่น ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ ค่าโอที ส่วนที่คุยหรือขอร้องกันได้จะขอไว้ก่อน เช่น เงิน P4P
"อันนี้เป็น 3 ปัจจัยที่ทำให้ค้างจ่าย P4P แต่ยืนยันว่าโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทำ P4P มาหลายปีแล้ว และมีข้อดีคือมันบอกผลปฏิบัติราชการได้ว่าใครทำงานมากทำงานน้อย เพียงแต่มีปัญหาสภาพคล่อง" แหล่งข่าว กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องน่าแตกตื่นแต่อย่างใด ขณะนี้แต่ละโรงพยาบาล 90% ทยอยจ่ายกันแล้ว รอดูประมาณ ส.ค.-ก.ย. จะพบว่ายอดค้างจ่ายลดลง คาดว่ามีเพียง 10% เท่านั้นที่มีปัญหาสภาพคล่องจริงๆ จน สธ.ต้องเข้ามาช่วย
- 6 views