ประธาน สพศท.ชี้ มติ ครม.เร่งผลิตแพทย์ 2.4 หมื่นคนภายในปี 2570 ยังไม่ตอบโจทย์ แนะต้องให้ความสำคัญเรื่องการรักษาแพทย์ให้อยู่ในระบบควบคู่กันไปด้วย แนะรัฐบาลต้องช่วยจริงจังเพราะเรื่องนี้เกินกำลังกระทรวงสาธารณสุขจะแก้ไขได้ โดยเฉพาะเรื่องการเงินการคลัง
นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) ให้ความเห็นถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการผลิตแพทย์เพิ่ม อนุมัติงบผลิตบัณฑิตและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในสถาบันฝ่ายผลิตแพทย์ 34,838.4 ล้านบาท พร้อมกรอบวงเงินงบประมาณผูกพันอีก 58,497.2 ล้านบาท รวมเป็น 93,335.6 ล้านบาท เพื่อผลิตแพทย์เพิ่ม 2 ระยะ รวมเป็น 24,562 คน ภายในปี 2570 และตั้งเป้าหมายเพิ่มอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร 1:1,200 คน ในปี 2576 ว่าหากถ้าดูตามตัวเลขขององค์การอนามัยโลกแล้ว ประเทศไทยก็ยังขาดแคลนแพทย์อยู่ ในกรุงเทพมหานครตัวเลขอาจจะเกิน แต่ในต่างจังหวัดบางพื้นที่มีทั้งขาดแคลนน้อยและขาดแคลนมาก ขณะเดียวกัน ปัจจุบันเมืองไทยอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นคนดูแลคนไข้และคนไข้ก็หวังจะได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วย ดังนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญบางสาขาก็ยังขาดแคลนเช่นกัน
อย่างไรก็ดี หากถามว่ามีการผลิตแพทย์เพิ่มขึ้นจะช่วยหรือไม่ ตนคิดว่าสามารถช่วยได้ส่วนหนึ่งแต่ปัญหาที่เจอทุกวันนี้คือแพทย์ไหลออกจากระบบอย่างสม่ำเสมอ เปรียบเหมือนเลือดยังไหลอยู่ ดังนั้นสิ่งที่น่าจะทำควบคู่กันไปหรือให้ความสำคัญมากขึ้นคือทำให้แพทย์อยู่ในระบบได้ การเร่งผลิตอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ เพราะถ้าน้ำไหลออกก็ต้องอุดรูรั่วก่อนเติมเข้าไปใหม่ ถ้ายังมีรูรั่วอยู่ก็จะแก้ปัญหาได้ไม่ดีนัก
ขณะเดียวกัน สพศท. ยังกังวลด้วยว่าการเร่งผลิตแพทย์จำนวนมากๆ จะกระทบกับคุณภาพ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อเร่งผลิตมากขึ้นๆ จะกระทบต่อคุณภาพไม่มากก็น้อย สุดท้ายก็จะเกิดผลกระทบต่อประชาชนอยู่ดี
"สรุปว่าการผลิตเพิ่มขึ้นดี แต่ต้องมีอย่างอื่นควบคู่กับไปด้วย ถ้าเร่งผลิตอย่างเดียวมันไม่ตอบโจทย์ 10 ปีที่ผ่านมาผลิตแพทย์เยอะแยะ เราเปิดโรงเรียนแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุขจากเดิมที่มีอยู่ไม่กี่แห่ง แต่ผมว่ามันยังไม่ตอบโจทย์ ยิ่งคนรุ่นใหม่ด้วยก็แตกต่างจากคนรุ่นก่อน ไม่ยอมทนแบบหมอสมัยเก่าๆ ถ้ามีช่องทางที่คิดว่าทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีกว่าเดิม เขาก็ตัดสินใจไปอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่ไปเปิดคลินิคเอง ยิ่งตอนนี้ธุรกิจแพทย์ความงามกำลังบูม รายได้ดี งานเบา เขาก็ไหลไป หรือภาคเอกชนที่เติบโตอย่างมาก ถ้ามีช่องทางที่ดีกว่าเขาก็ไป หรืออีกส่วนคือไม่เป็นแพทย์เลย ไปทำอย่างอื่นเลยเพราะช่วงนี้แพทย์มีความเสี่ยงถูกฟ้องร้องด้วย" นพ.ประดิษฐ์ กล่าว
สำหรับแนวทางการรักษาแพทย์ให้อยู่ในระบบได้นั้น นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการศึกษาเยอะแล้ว จึงขอไม่ลงในรายละเอียด แต่ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาเรื่องคุณภาพชีวิต ภาระงานหนัก แพทย์บางส่วนยังทำงานมากเกินไปจนแทบไม่มีเวลาหยุด หรือเรื่องค่าตอบแทน ถ้าทำงานหนักค่าตอบแทนก็ควรสมเหตุสมผล แต่ปัจจุบันยังมีข่าวค้างค่าตอบแทนแพทย์ออกมาเป็นระยะๆ อยู่เลย หรือเรื่องอื่นๆ เช่นความก้าวหน้าในอาชีพด้วย 3-4 ประเด็นนี้ต้องตอบโจทย์ ไม่อย่างนั้นก็แก้ปัญหาการไหลออกไม่ได้ และรัฐบาลต้องช่วยด้วยเพราะเรื่องเหล่านี้อาจเกินกำลังกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะเรื่องการเงินการคลัง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทุ่ม 9 หมื่นล้าน ผลิตแพทย์เพิ่ม 24,562 คน ตั้งเป้าเพิ่มอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากร 1:1,200 คน ในปี 76
- 252 views