ประธาน สพศท.ชี้ปมขัดแย้งแก้กฎหมายบัตรทองต่อให้นับ 1 ใหม่จบถึงนับ 10 ก็ไม่จบถ้ายังมีมุมมองแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายกันอยู่ แนะผู้มีอำนาจตัดสินใจชี้ขาดไปเลยเพื่อเดินหน้าต่อ หนุนแยกเงินเดือนออกจากงบรายหัวเพื่อบรรเทาปัญหาการเงินของสถานพยาบาล
นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร
นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) ให้ความเห็นถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ว่า ในภาพรวมแล้วการแก้ไขกฎหมายจะช่วยบรรเทาปัญหาในระบบที่มีมาเรื้อรังยาวนานได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ประสบปัญหามากที่สุดคืองบประมาณรายหัวที่ลงไปถึงสถานพยาบาล เมื่อหักเงินเดือนบุคลากรออกไปแล้ว บางโรงพยาบาลเหลือเงินไม่เท่าไหร่ หลายแห่งค้างค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่บ้าง ค้างหนี้ ขาดสภาพคล่องบ้าง
นอกจากนี้ยังกลายเป็นความไม่เท่าเทียมเพราะทำให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้เงินสนับสนุนบริการสุขภาพไม่เท่ากัน พื้นที่ที่หักเงินเดือนบุคลากรออกไปแล้วเหลือเงินน้อย ก็ไม่เพียงพอจะลงทุนในการบริการและกระทบคุณภาพในการดูแลสุขภาพประชาชน
“เรื่องนี้ก็เชื่อมโยงกับประเด็นการแยกเงินเดือนบุคลากรออกมาจากงบรายหัว ถ้าแก้ได้ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาได้อีกส่วน” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว
ขณะเดียวกัน ในส่วนของประเด็นที่มีความเห็นต่างระหว่างฝ่ายแก้ไขร่างกฎหมายและองค์การพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพ อาทิ ประเด็นการร่วมจ่าย หรือการเพิ่มสัดส่วนตัวแทนผู้ให้บริการเข้าไปในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพนั้น นพ.ประดิษฐ์ มองว่า ตามทฤษฎีแล้ว หากจะให้ระบบสุขภาพยั่งยืนก็ควรมีการร่วมจ่ายเพื่อเป็นหนทางให้สถานพยาบาลมีงบประมาณใช้ แต่จะร่วมจ่ายรูปแบบไหนที่เหมาะสมและไม่กระทบผู้มีรายได้น้อยคงไปว่ากันอีกที
“แต่ถ้าบล็อกไม่ให้ร่วมจ่ายเลยมันสร้างปัญหาหลายเรื่อง เพราะจริงๆ มีประชาชนบางส่วนพร้อมและยินดีจะร่วมจ่าย แต่ระบบเราไปบล็อกไม่ให้จ่าย มันก็ต้องไปจัดระบบดีๆ ว่าจะร่วมจ่ายแบบไหนไม่ให้กระทบผู้มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว
ส่วนประเด็นการเพิ่มตัวแทนผู้ให้บริการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพนั้น ถ้าเพิ่มเข้าไปเพื่อให้มีมุมมองที่กว้างขึ้นก็น่าจะเป็นประโยชน์ เนื่องจากระบบสาธารณสุขมีความซับซ้อนมีหลายภาคส่วนร่วมอยู่ในระบบ การมีตัวแทนหลากหลายมุมเข้าไปจะช่วยให้บอร์ดมองเห็นปัญหาหรือแนวทางได้อย่างรอบด้าน
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ปัจจุบันกลายเป็นการแบ่งพรรคแบ่งพวกแบ่งฝ่าย มานับกันว่าฝ่ายโน้นกี่คนฝ่ายนี้กี่คนก็เลยเป็นปัญหา และผิดวัตถุประสงค์ของการมีตัวแทนภาคส่วนต่างๆ เข้าไปเป็นกรรมการ
“จริงๆ มันไม่ควรแบ่งฝ่าย มันต้องเป็นฝ่ายเดียวคือฝ่ายที่ทำให้งานสาธารณสุขลงไปถึงประชาชนอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ถ้ามองอย่างนี้ได้ จะมีสัดส่วนมากน้อยแค่ไหนก็ไม่เกิดปัญหา” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว
นพ.ประดิษฐ์ กล่าวอีกว่า การหาทางออกความขัดแย้งในเรื่องนี้คงเป็นไปได้ยากหากยังมีมุมมองแบบนี้กันอยู่ ถึงจะให้เริ่มนับ 1 กระบวนการแก้กฎหมายใหม่ แต่ถ้ายังมีมุมมองแบ่งเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ปัญหาก็คงไม่จบ ต่อให้นับ 5 นับ 10 ก็หาทางออกไม่ได้ ดังนั้นคิดว่าหากจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปคงต้องให้ผู้มีอำนาจจริงๆ ได้พิจารณาและตัดสินชี้ขาดไปเลย ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่ต้องชี้ขาดอะไรมากมาย เพราะคงไม่ใช่ว่าผู้ให้บริการมีสัดส่วนในคณะกรรมการมากขึ้นแล้วจะปรับเปลี่ยนอะไรได้ตามใจโดยไม่ฟังเสียงเลย
“มันต้องเดินหน้าแก้ปัญหา ตอนนี้ผ่านมา 15 ปีมีปัญหาก็ปรับใหม่ มันคงไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมดแต่เราก็ไม่น่าจะอยู่เฉยๆ” นพ.ประดิษฐ์ กล่าวทิ้งท้าย
- 6 views