ชวส./เครือข่ายนักสาธารณสุข หนุนร่างค่าตอบแทนฉบับชมรมแพทย์ชนบท ชี้แม้ไม่เป็นไปตามข้อเสนอขอเพิ่มค่าตอบแทนเป็นร้อยละ 10 ของค่าตอบแทนแพทย์ แต่ลดความเหลื่อมล้ำลงได้ ช่วยลดความต่างแพทย์จากเดิม 100 เท่า เหลือเพียง 40-50 เท่า พร้อมรอลุ้น คกก.พิจารณาค่าตอบแทน สป.สธ.ชุดใหญ่เคาะ 18 พ.ค. นี้ ก่อนเสนอสำนักงบประมาณ ประกาศใช้ปี 60
นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) หรือ ชวส.และผู้ประสานงานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (ผอ.รพ.สต.) ประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับค่าตอบแทนวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะในส่วนของโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยมี นพ.สุวิชา ศฤงคารพูนเพิ่ม รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจบริการด้านปฐมภูมิ โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี ซึ่งมาช่วยงานสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์เป็นประธาน โดยแต่ละวิชาชีพได้มีการนำเสนอร่างการปรับค่าตอบแทนต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาร่วมกัน โดยมติสุดท้ายที่ประชุมต่างเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์การจ่ายตอบแทนของชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งนำเสนอโดย นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท
ทั้งนี้ร่างหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนฉบับเดิมแพทย์ได้อัตรา 10,000-60,000 บาท บุคลากรสาธารณสุขวุฒิอนุปริญญาจะได้ 600-900 บาท (คิดเป็นร้อยละ 1-6 เมื่อเทียบเคียงกับแพทย์) ทาง ชวส.และเครือข่ายฯ นำเสนอเสนออัตราค่าตอบแทนใหม่ที่ 1,000-3,000 บาท (คิดเป็นร้อยละ 5-10 เมื่อเทียบเคียงกับแพทย์) ส่วนในวุฒิปริญญาตรีเดิมได้ 1,200-1,800 บาท (คิดเป็นร้อยละ 3-12 เมื่อเทียบเคียงกับแพทย์) เสนออัตราค่าตอบแทนใหม่ที่ 1,800-6,000 บาท (คิดเป็นร้อยละ 10-18 เมื่อเทียบเคียงกับแพทย์) กล่าวคือ หากแพทย์ได้ค่าตอบแทนสูงสุด 6 หมื่นบาท เจ้าพนักงานสาธารณสุข (จพ.สธ.) ควรได้ค่าตอบแทนสูงสุด 3,000 บาท และนักวิชาการสาธารณสุขควรได้ค่าตอบแทนสูงสุด 6 พันบาท ทั้งนี้การขยับฐานล่างของสหวิชาชีพนี้เทียบเคียงจากแพทย์เป็นหลัก โดยที่ไม่ปรับลดในส่วนของแพทย์
“แต่ร่างที่ผ่านความเห็นชอบ คือร่างหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนของชมรมแพทย์ชนบท โดยเทียบกับแพทย์ที่ได้อัตราค่าตอบแทน 10,000-70,000 บาท เช่น จากเดิมวุฒิอนุปริญญา เช่น จพ.สธ.เคยได้รับค่าตอบแทนต่ำสุด 600 บาท ร่างค่าตอบแทนฉบับใหม่ปรับอัตราต่ำสุดขึ้นมาอยู่ที่ 1,200 บาท สูดสุดอยู่ที่ 2,500 บาท (ร้อยละ 3.5-12เมื่อเทียบเคียงกับแพทย์) และในส่วนของวุฒิปริญญาตรี เช่น นักวิชาการสาธารณสุข (นวก.สธ.) มีการปรับค่าตอบแทนเช่นกัน จากเดิมอยู่ที่ 1,200-1,800 บาท เป็น 1,800-5,400 บาท (ร้อยละ 7.7-18 เมื่อเทียบเคียงกับแพทย์) ซึ่งร่างของ นพ.เกรียงศักดิ์นี้มีการขยับทุกวิชาชีพเพิ่มจากเดิมซึ่งช่วยลดช่อว่างความเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนลงได้ อีกทั้งมีการขยายช่วงอายุราชการเป็น 4ระดับ และมีระดับพื้นที่กันดารให้เหมือนกันทุกวิชาชีพ ซึ่งอัตราใหม่แม้จะยังคงมีอัตราที่แตกต่างตามวิชาชีพและภาระงาน แต่อย่างน้อยก็ลดความเหลื่อมล้ำ จากเดิมที่ต่างกันเป็น 100 เท่า เหลือความต่างประมาณ 60 เท่าแล้ว” เลขาธิการ ชวส.กล่าว
นายริซกี กล่าวว่า ร่างหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนของชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งได้นำเสนอโดยยึดแนวทางฉบับ 4, 6-7 แต่ได้ปรับในส่วนของ รพ.สต.และสหวิชาชีพด้วยนั้น ต้องบอกว่าเราพอใจในระดับหนึ่ง เพราะตรงตามข้อเสนอ 3 ข้อที่ได้ยื่นก่อนหน้านี้ คือมีการใช้หลักเกณฑ์ช่วงอายุและระดับกันดารเดียวกันในทุกวิชาชีพ และมีการรับหลักการให้ สป.สธประกาศระดับความกันดารให้ รพ.สต.ในโอกาสต่อไป มีการขยับค่าตอบแทนในส่วน รพ.สต.อย่างน้อย 2 เท่า และมีการจัดสรรงบค่าตอบแทนลง รพ.สต.ร้อยละ 85-100 ของงบที่ต้องใช้ในส่วน รพ.สต.แต่ทั้งนี้ยังต้องนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการค่าตอบแทนชุดใหญ่ของสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ในวันที่ 18 พฤษภาคม นี้ ซึ่งยังไม่ทราบว่าที่ประชุมจะเห็นชอบด้วยหรือไม่ ซึ่งถ้าผ่านก็จะมีการนำเสนอร่างหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนนี้ต่อสำนักงบประมาณต่อไป เพื่อให้ประกาศใช้ในปีงบประมาณ 2560 นี้
ส่วนวงเงินการปรับเพิ่มค่าตอบแทนนั้น นายริซกี กล่าวว่า ชมรมแพทย์ชนบทได้มีการจัดทำตัวเลขเพื่อเสนอวงเงินงบประมาณไว้แล้ว และในส่วน รพช.จะมีการยกเลิกหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนในฉบับ 9 (P4P) มาใช้เกณฑ์ฉบับ 8 อย่างเดียว ทำให้มีวงเงินเพิ่มขึ้น การปรับในส่วนของสหวิชาชีพใช้วงเงินเพิ่มเพียงเล็กน้อยจึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อวงเงินโดยรวม เป็นหลักเกณฑ์ที่รับได้ และคิดว่าแต่ละวิชาชีพน่าจะยอมรับได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งกังวลว่าหากมีบางวิชาชีพยังไม่พึงพอใจในอัตราค่าตอบแทนที่เสนอใหม่ของแพทย์ชนบทนี้ อาจทำให้เกิดการล้มกระดาน การจ่ายค่าตอบแทน สธ.อาจยังคงต้องใช้ฉบับเดิมซึ่งมีความต่างเป็นร้อยเท่าต่อไป.
- 5 views