เผยต้นเหตุ “ความไม่เป็นธรรมค่าตอบแทน สธ.” สร้างเหลื่อมล้ำ ส่งผลทุกวิชาชีพในระบบเรียกร้องค่าตอบแทนต่อเนื่อง ชี้ร่างหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 11 โดยแพทย์ชนบทยังไม่ตอบโจทย์ ซ้ำฟื้นคืนค่าตอบแทนฉบับที่ 4 คงเพิ่มค่าตอบแทนในปี 21 ปรับเพิ่มค่าตอบแทน 7 หมื่นบาท ทั้งยังเป็นฉบับประชานิยมขยับเพิ่มทุกวิชาชีพ หลักร้อยถึงหลักพัน ขณะที่พยาบาลถูกปรับลดหากเทียบฉบับ 8 และ 9 บวกเพิ่มตามภาระงาน ระบุการจัดทำค่าตอบแทน ต้องยึดหลักความเป็นธรรมทั้งภายนอกและภายในวิชาชีพ และประชาชนต้องได้ประโยชน์

แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาปรับค่าตอบแทนวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงปัญหาค่าตอบแทนบุคลากรวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุขว่า ปัจจุบันค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ

1.เงินเดือนประจำตำแหน่ง

2.ค่าตอบแทนพื้นที่พิเศษ หรือเรียกว่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ยากที่ไม่อยากมีใครไปอยู่ หรือที่เรียกว่าชนบท

และ 3.ค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน หรือที่เรียก P4P ซึ่งมีการกำหนดไว้ในหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 8 และ 9 ที่ได้ปรับเปลี่ยนจากฉบับที่ 4, 6 และ 7

ทั้งนี้หลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 4 เป็นค่าตอบแทนในรูปแบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเพื่อให้กับแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล ซึ่งทำงานในโรงพยาบาลชุมชนที่เป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังมีเงื่อนไขกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) ต้องทบทวนพื้นที่ทุรกันดารทุก 2 ปี เพื่อลดภาระงบประมาณ แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือ สธ.ไม่ได้ทำตามเงื่อนไขดังกล่าว ประกอบกับค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับนี้ ยังทำให้เกิดการเรียกร้องความเป็นธรรมจากวิชาชีพต่างๆ ในกระทรวงสาธารณสุขมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากความเป็นธรรมระหว่างวิชาชีพที่ได้ค่าตอบแทนมากกับวิชาชีพที่ไม่ได้เลย ต่อมาเป็นการขอความเป็นธรรมระหว่างวิชาชีพได้ค่าตอบแทนมากกับที่ได้ค่าตอบแทนน้อย จนถึงปัจจุบันเป็นการขอความเป็นธรรมค่าตอบแทนระหว่างวิชาชีพที่ได้มากและวิชาชีพที่ได้น้อย และค่าตอบแทนที่ได้ไม่ทั่วถึง

จากปัญหาค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายฉบับที่ 4 ที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งจำกัดเฉพาะกลุ่มวิชาชีพที่มีใบประกอบวิชาชีพ จึงนำมาสู่การจัดทำค่าตอบแทนฉบับที่ 6 ขยายรวมถึงบุคลากรซึ่งทำหน้าที่ปฏิบัติต่อผู้ป่วยโดยตรงแต่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ อย่างเจ้าพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (จพ.สธ.) และนักวิชาการสาธารณสุข (นวก.สธ.) ซึ่งต่อมามีการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมของกลุ่มเจ้าหน้าที่ทำงานสนับสนุนในโรงพยาบาล (Back office) อีก รวมถึงผู้ที่จบปริญญาตรี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสายงานต่ำกว่าปริญญาตรี  

ด้วยเหตุนี้ สธ.จึงได้ปรับวิธีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย โดยนำแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือที่เรียกว่า P4P มาใช้ควบคู่กับการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในฉบับที่ 8 และ 9 ซึ่งรอบนี้ได้มีการตัดการเพิ่มค่าตอบแทนระดับที่ 4 ตั้งแต่ระยะเวลาการทำงานในปีที่ 21 ขึ้นไปออก ส่งผลแพทย์ถูกปรับลดค่าตอบแทนลง จากเดิมที่จะขยับเพิ่มไปที่ 70,000 บาท หรือเพียง 60,000 บาทเท่านั้น

ทั้งนี้หลังการใช้หลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 8 และ 9 นี้ สธ.จะต้องประเมินผล 1 ปี เพื่อรายงานไปยัง ครม.ถึงผลการดำเนินการ แต่ปรากฎว่า สธ.ไม่สามารถรายงานการประเมินผลได้ โดยให้เหตุผลว่าต้องใช้เวลาประเมิน ส่งผลให้ในปี 2557 และปี 2558 ยังคงต้องใช้หลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนฉบับที่ 8 และ 9 อยู่ โดยปี 2560 ที่จะถึงนี้ ครม.ระบุว่า จะไม่ให้ใช้หลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 8 และ 9 อีก จึงนำมาสู่การจัดทำค่าตอบแทนในฉบับที่ 11 ที่ดำเนินอยู่นี้

ทั้งนี้การจัดทำร่างค่าตอบแทนฉบับที่ 11 ในครั้งนี้ มีหลักการสำคัญคือไม่ลดค่าตอบแทนวิชาชีพที่ได้มาก แต่จะเพิ่มค่าตอบแทนให้กับวิชาชีพที่ได้น้อยแทน ขณะเดียวกันต้องบอกว่าตามร่างหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนที่ชมรมแพทย์ชนบทนำเสนอ ซึ่งเป็นการจัดทำโดยนำค่าตอบแทนฉบับ 4, 6 และ 7 มาปรับนั้น ยังเป็นการฟื้นคืนชีพค่าตอบแทนฉบับที่ 4 โดยเพิ่มค่าตอบแทนระดับที่ 4 ระยะเวลาการทำงานในปีที่ 21 ขึ้นไปที่ถูกตัดออกก่อนหน้านี้ให้กลับมาตามเดิม และตัดค่าตอบแทนภาระงานออก ขณะเดียวกันยังได้ปรับเพิ่มค่าตอบแทนให้กับวิชาชีพอื่นด้วย เป็นการใช้รูปแบบประชานิยมเพื่อให้วิชาชีพต่างๆ ยอมรับ แต่เมื่อดูในรายละเอียดแล้วแต่ละวิชาชีพมีการปรับเพิ่มไม่มาก และยังคงมีความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมอยู่มาก ขณะที่ในส่วนของพยาบาลนั้น แม้ว่าจะปรับเพิ่มในส่วนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนภาระงานที่ได้รับในฉบับ 8 และ 9 กลับลดลง

“พยาบาลยอมรับความต่างของค่าตอบแทนแต่ละวิชาชีพ และแน่นอนย่อมเป็นอัตราที่ไม่เท่าแพทย์ แต่การที่พยาบาลไม่เห็นด้วยกับร่างค่าตอบแทนของแพทย์ชนบท เป็นเพราะภาระงานที่พยาบาลทำอยู่ในขณะนี้ได้รับความเป็นธรรมจากค่าตอบแทนภาระงานที่เป็นการนำผลงานมาพิสูจน์ แต่ฉบับที่แพทย์ชนบทได้ร่างขึ้นใหม่กลับได้ยกเลิกค่าตอบแทนภาระงานนี้ โดยปรับเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้ 1,000 บาทแทน จากที่แต่เดิมหากเป็นค่าตอบแทนภาระงานพยาบาลบางคนได้เพิ่มถึง 4,000 บาท ต้องถามว่าเป็นธรรมหรือไม่”

ทั้งนี้หลักการการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขต้องเป็นธรรมทั้งภายในและภายนอก ความเป็นธรรมภายในคือ แต่ละวิชาชีพต้องมีเหตุผลที่บอกได้ถึงความต่างของค่าตอบแทนในวิชาชีพเดียวกัน เช่น ความแตกต่างในการดูแลผู้ป่วย พื้นที่ที่แตกต่าง เป็นต้น ส่วนความเป็นธรรมภายนอกคือ แต่ละวิชาชีพทั้งที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทั้งพื้นที่เสี่ยง ทุรกันดาร หากมีการปรับเพิ่มค่าตอบแทนโดยอ้างถึงความเสียโอกาส ต้องดูว่าสมเหตุผลหรือไม่ ซึ่งในการจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของแพทย์ กำหนดหลักเกณฑ์ให้แพทย์ต้องอยู่ทำงาน 15 วันต่อเดือน นั่นหมายความว่าหากอีก 15 วันไม่อยู่ แบบนั้นจะยังคงได้ค่าตอบแทนเช่นเดิมเท่าเดิมใช่หรือไม่ และปล่อยให้วิชาชีพอื่นทำงานแทน แบบนี้คงไม่ใช่ และประชาชนก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรกับการจ่ายค่าตอบแทนแบบนี้

“ขณะนี้มีความพยายามผลักดันร่างหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนแพทย์ชนบทที่เป็นร่างประชานิยม เพราะทุกวิชาชีพถูกขยับค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเพิ่มขึ้น บางวิชาชีพได้หลักร้อย บางวิชาชีพได้หลักพัน แต่แพทย์ได้ขยับเป็นหลักหมื่นทั้งที่งบประมาณค่าตอบแทนที่จำกัด และดูเหมือนต้องตัดให้กับแพทย์ก่อน วิชาชีพที่เหลือจึงแบ่งส่วนที่เหลือ นอกจากนี้ยังมีคำถามว่าในการจัดทำร่างค่าตอบแทนฉบับใหม่นี้ ทำไมจึงไม่ต่อยอดโดยยึดรายละเอียดเนื้อหาตามฉบับที่ 8 และ 9 ที่ตอบคำถามถึงผลงานให้กับสำนักงบประมาณได้ แต่กลับนำรายละเอียดฉบับที่ 4, 6 และ 7 ที่เป็นการจ่ายเบี้ยเหมาจ่ายมาปรับเป็นฉบับที่ 11 แทน ตรงนี้คงต้องถามว่าใครได้ประโยชน์ และได้ตอบโจทย์ความเป็นธรรมหรือไม่ แม้ว่าทุกวิชาชีพจะมีการขยับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นก็ตาม”