หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน - แว่วเสียงจากคนในแวดวงสาธารณสุขบอกว่า องค์การเภสัชกรรม (GPO) เป็นหนึ่งในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เปรียบดังแดนสนธยา มีเรื่องราวฉ้อฉลเกิดขึ้นแต่ก็เงียบเป็นกงล้อวัฏจักรที่ยังไม่หยุดนิ่ง งานนี้คงต้องจับจ้องอย่างหนักเพราะหน่วยงานที่แบกรับภาระเรื่องยา หนึ่งในปัจจัยที่ช่วยให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กลับโดนข้อครหา ทั้งยังมีความผิดพลาดเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม
ล่าสุดกรณี GPO บรรจุยาโรคหัวใจสลับซองกับยาโรคความดันโลหิต ยิ่งไปกว่านั้นยังพยายามปกปิดความผิดพลาดอยู่ร่วม 2 อาทิตย์ ก่อนเป็นข่าวครึกโครม!
สั่นคลอนความเชื่อมั่นประชาชน
ประเด็นร้อนเรื่องยาGPO แม้ทิ้งระยะให้สังคมได้ลุ้นกันเป็นช่วงๆ หลายปีก่อนมีรายงานข่าวว่า พบเส้นลวดใน Para GPO ยาเม็ดบรรเทาอาการปวด ของ องค์การเภสัชฯ นอกจากนี้ยังได้ข้อมูลจากเภสัชกร และคนไข้ อีกจำนวนหนึ่งเผยว่าบริโภคยาเม็ดดังกล่าวแต่ปรากฏว่าอึออกมายาเจ้ากรรมยังคงรูปเป็นเม็ดอยู่เลย
องค์การเภสัชกรรม ถือเป็นหน่วยของรัฐเพียงรายเดียวที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องยา บทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การตรึงราคาเพื่อประโยชน์ของประชาชน อย่างในเรื่อง CL (Compulsory Lisensing การบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร) ยกตัวอย่าง ยาแพงๆ ที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยต้องเปิดเผยสูตรยา นั้นเท่ากับว่า องค์การเภสัชฯ สามารถนำข้อมูลตรงนี้ไปผลิตตัวยาชนิดเดียวกัน แต่ราคาถูกลง และเข้าถึงประชาชนคนไทยมากขึ้น แต่คำถามคือ องค์การเภสัชฯ มีศักยภาพพอหรือเปล่า?
อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดในเรื่องการบรรจุยาโรคหัวใจสลับกับยาโรคความดันโลหิตขององค์การเภสัชฯ ที่กระจายยาล็อตนี้ไปยังโรงพยาบาล 7 แห่ง
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องราว 2 สัปดาห์ก่อนจะเป็นข่าว ก็ไม่รู้ว่าตรงนี้เข้าข่ายปกปิดข้อมูลต่อประชาชนหรือไม่
แต่ในที่สุดหัวเรือใหญ่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ออกมายอมรับกรณีที่องค์การเภสัชกรรมบรรจุยาผิดซอง โดยได้นำยาโรคหัวใจบรรจุลงในซองยาความดันโลหิต ส่วน นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ก็แถลงต่อสาธารณะว่าทำการเรียกคืนยาล็อตที่มีปัญหากลับมาแล้วทั้งหมด
"บรรจุยาผิดแผง ความผิดพลาดที่ต้องมีผู้รับผิดชอบ รับแต่ชอบไม่รับผิดได้อย่างไร" ข้อความตัดทอนมากจาก เฟซบุ๊กเพจชมรมแพทย์ชนบท
ยา GPO ยาคุณภาพที่ผู้ป่วยควรเลี่ยง?
อย่างไรก็ตาม พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย แสดงทัศนะว่า ความที่องค์การเภสัชฯ เป็นหน่วยงานราชการ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกลับเป็นเครื่องตอกย้ำภาพลักษณ์แง่ลบเข้าไปอีก โดยเฉพาะยาที่ผลิตโดยองค์การเภสัชฯ ที่ได้รับอภิสิทธิ์ในเรื่อง อย.
"ประเทศไทยมันมี 2 มาตรฐาน อะไรที่เป็นราชการมักจะไม่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น ถูกรับการยกเว้น ยกตัวอย่างยาที่ผลิตโดยองค์การเภสัชฯ ก็ไม่มีการตรวจสอบว่าในเม็ดยามันมีความถูกต้อง มีปริมาณของสารที่เป็นตัวยาครบถ้วนจริงหรือเปล่า ไม่เหมือนของเอกชนที่ต้องมีการตรวจสอบ ประเมินเม็ดยาต้องเอามาตรวจสอบอยู่เสมอ แต่ขององค์การเภสัชฯ ตรวจแค่โรงงาน ตรวจว่าโรงงานมีมาตรฐานหรือเปล่า ไม่ได้ตรวจเม็ดยา"
ต้องยอมรับว่าองค์การเภสัชฯ ผลิตยาอยู่หลายตัว ซึ่งบางตัวก็ไปจ้างบริษัทเอกชนผลิต ตรงนี้อาจเป็นช่องโหว่ในเรื่องคุณภาพมาตรฐานได้ แหล่งข่าวฯ ให้ข้อมูลว่าทางบริษัทยาเอกชนหลายเจ้ามีการเรียกร้องให้องค์การเภสัชฯ ทำการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานยาในมาตรฐานเดียวกัน
"องค์การเภสัชฯ ของเราเนี้ย เธอไม่เคยคิดว่าจะผลิตยาเองหรอก ยกตัวอย่าง เช่น ทำ CL ยาเอง ถึงแม้ว่าคุณจะมีลิขสิทธิ์อยู่ฉันก็จะบังคับเอาว่าจะมาผลิตได้ ทำ CL มารู้ตัวยารู้อะไรแต่ตัวเองไม่ศักยภาพผลิตไปให้อินเดียผลิต แล้วอินเดียผลิตคุณได้ดูหรือเปล่าว่าตัวยานี้มันจริงหรือเปล่า ที่เอามารักษา พบว่ายาของอินเดียตัวยาไม่ได้มาตรฐาน ทำให้คนไข้ดื้อยารักษาไม่หาย" ข้อมูลจากแหล่งข่าวในวงการเภสัชกรรม
ส้มหล่น! บริษัทยาเอกชน-ข้ามชาติ
ดูเหมือนว่าเวลานี้ ภาพลักษณ์ขององค์การเภสัชกรรมกำลังอ่อนแอลงแบบกู่ไม่กลับ จากบทความเรื่อง จดหมายถึงพระเจ้า ทุบรื้อองค์การเภสัชฯ อธิบายความว่า
"เมื่อองค์การเภสัชกรรมอ่อนแอลง ก็ไม่สามารถทำหน้าที่สำคัญของรัฐวิสาหกิจที่ดีได้ ทั้งในเรื่อง 1. การป้องกันแก้ไขปัญหาขาดแคลนยา โดยเฉพาะในภาวะฉุกเฉิน ภัยพิบัติ 2. การตรึงราคายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น และโดยเฉพาะที่ต้องใช้จำนวนมาก เพื่อประหยัดเงินของ ประเทศชาติและประชาชน 3. การจัดหายากำพร้าที่บริษัทยาไม่สนใจจำหน่ายเพราะทำกำไรไม่ได้ และเสี่ยงสูงต่อการขาดทุน 4. การทำ CL ยา ในกรณีจำเป็นเพื่อช่วยชีวิตของผู้ป่วยจำนวนมาก และเพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ"
ตรงนี้คงเป็นโจทย์ให้ท่านผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการปรับแก้โดยเร่งด่วน ทั้งยังตั้งข้อสงสัยว่า "ถ้าองค์การเภสัชกรรมอ่อนแอลง ก็ย่อมเป็นที่ยินดีของบริษัทยาเอกชน โดยเฉพาะบริษัทยาข้ามชาติ"
หยิบยกคำกล่าวของเภสัชกรผู้หนึ่ง ที่ทิ้งท้ายอย่างน่าครุ่นคิด "ยาของต่างประเทศถึงแม้จะมีราคาแพงแต่เพราะผ่านกระบวนการศึกษาวิจัย ผู้บริโภคมั่นใจในเรื่องของคุณภาพได้อย่างไม่มีข้อกังขา แต่ในส่วนของยาที่ GPO นำมาผลิตนั้น.."
"หมอในกระทรวงสาธารณสุข เป็นโรคเบาหวานเค้ายังไม่ทานยาของ GPO เลย" เภสัชกรคนเดิม กล่าวเสริม
ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา แสดงทัศนะถึงความคุ้มค่าในเรื่องราคายาเปรียบเทียบกับคุณภาพที่วางขายอยู่ในตลาด
"ความคุ้มค่าบางทีมันมีตัวเดียว เราพูดไม่ได้ว่าแพงหรือไม่แพง ประเทศไทยราคายาแพงกว่าประเทศอังกฤษเพราะเขามีระบบต่อรองราคาอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ราคาแพงกว่าอังกฤษโดยไม่ได้เทียบค่าครองชีพ ยิ่งเทียบยิ่งแพงหนักกว่าอีก อย่างนี้ถือว่าแพงมั้ย ถือว่าแพง คุ้มค่ามั้ย มันก็พูดยาก"
ที่แน่ๆ เมื่อมีคำถามในเรื่องคุณภาพยาราคาถูกของ GPO นั่นเท่ากับว่าประชาชนจำนวนมากปฏิเสธยาจากหน่วยงานของรัฐฯ และหันไปบริโภคยาของบริษัทเอกชนแทน
พิจารณาถึงคุณภาพยา GPO ผส.ภญ.ดร.นิยดา อธิบายว่า "เดิมตอนที่ออก พ.ร.บ.ยา 2510 ตอนนั้นความมั่นคงด้านยายังมีไม่มาก เขาให้สิทธิกับ GPO ในการจัดหายาต่างๆ ไปฉะนั้น GPO ไม่ต้องขึ้นทะเบียน ณ ปัจจุบันแม้กฎหมายนี้ยังอยู่เพราะมันแก้ไม่ได้สักที GPO ก็แก้ปัญหาด้วยการนำยาทุกตัวไปขึ้นทะเบียนหมดแล้ว เมื่อคุณได้ยาที่ขึ้นทะเบียนแล้ว อย.รับรอง คุณจะไปกล่าวหา GPO ไม่ได้แล้ว เพราะ อย.ให้ขึ้นทะเบียนแล้ว"
สำหรับกรณีบรรจุยารักษาโรคสลับซองขององค์การเภสัชกรรม ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เสนอแนะถึงวิธีการจัดการเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมา
"วิธีจัดการคือคุณต้องเปิดเผยระบบที่ผิดพลาดแก้ไขให้ถูกแล้วให้คนมั่นใจได้ว่ามันจะไม่เกิดปัญหาอย่างนั้นขึ้นมาอีก อันนี้ไม่ได้พูดถึงคุณภาพนะ มันเป็นความผิดพลาดของการผลิต GPO ต้องส่งยาให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจแล้วเอาผลมาแสดงว่ายาเขาผ่านมาตรฐานทุกล็อต หรือเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดของประเทศ เพื่อให้คนมั่นใจคุณภาพ ต้องเปิดเผยการตรวจสอบต่างๆ ให้ได้รับรู้อย่างแท้จริง ไม่ให้ครหาได้ว่าไม่ดี"--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 12 กันยายน 2556
- 234 views