ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สธ.มอบนโยบายองค์การเภสัชกรรม สร้างความมั่นคงให้ประชาชนเข้าถึงยาในราคาถูก ผุดไอเดียปั้นสมุนไพร “ปีกไก่ดำ” หนุนเกษตรกรปลูกสร้างรายได้ ชี้เป็นที่ต้องการของตลาดมาก ด้านปลัดสธ.เผย รง.ผลิตยารังสิต เฟส 2 ใกล้แล้วเสร็จ ขยายกำลังผลิตเพิ่มขึ้น 1 เท่า หวังช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยา

 

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ที่ห้องประชุมองค์การเภสัชกรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวระหว่างการตรวจเยี่ยมพร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรม  ว่า องค์การเภสัชกรรม(อภ.) เป็นทั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการผลิต จำหน่าย และสั่งซื้อวัสดุ มาจำหน่าย เป็นองค์กรกลางที่ทำหน้าที่ในการให้ประชาชนหรือองค์กรของรัฐได้ใช้ยาและเวชภัณฑ์ราคาไม่สูง มีหลายสิ่งที่ได้ลงทุนไปแล้ว แต่จะต้องปรับปรุงเสมอ เพราะสถานการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงไป เชื้อโรคบางชนิดก็ลดลงไป  บางชนิดก็มีมาใหม่

อย่างโควิด-19 ในอดีตเคยมีความรุนแรงวันนี้ก็เบาบางลงไป วันนี้ก็ได้พูดคุยกันทำความเข้าใจหลายๆ อย่างกับองค์การเภสัชกรรม และอยากให้ภาคเอกชนทำความเข้าใจว่า การขึ้นทะเบียนยา หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น ต้องใช้เวลา ต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วนที่จะสามารถขึ้นทะเบียนได้อย่างถูกต้อง คำนึงถึงความปลอดภัย 

หนุนพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรปีกไก่ดำ

“อยากจะพูดถึงสมุนไพรที่เรียกว่าปีกไก่ดำ ซึ่งเป็นพืชสมุนไพรที่มีความต้องการเป็นอย่างมาก เนื่องจากขาดตลาด เลยคิดว่าอยากจะส่งเสริม อาจจะต้องประสานหน่วยงานวิชาการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือหน่วยงานอื่นๆ จับมือสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกให้ถูกวิธีและขาย แต่สมุนไพรตัวอื่นเราไม่ได้ขาดแคลน อย่างสมุนไพรช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย ไฟโทเพล็กซ์ (GPO Phytoplex) ขององค์การเภสัชกรรม ได้ขึ้นทะเบียนยาสมุนไพรไปแล้วมีสมุนไพรหลายชนิดและไม่ได้ขาดแคลน”นายสมศักดิ์

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ได้ให้นโยบายว่า องค์การเภสัชกรรมจะต้องดำเนินการช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงยาและเวชภัณฑ์ที่ราคาถูก เนื่องจากที่ผ่านมาองค์การเภสัชกรรมมีกำไรเพียงพออยู่แล้ว  และให้องค์การเภสัชกรรมศึกษาเพิ่มเติมว่าสิ่งที่ผลิตออกมาแล้วไม่ว่าจะขาย หรือทำการประชาสัมพันธ์ ทั่วโลกให้การยอมรับหรือมีความปลอดภัยหรือไม่

เร่งเปิด รง.ผลิตยารังสิตเฟส 2

ด้านนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และประธานบอร์ด อภ.กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรม เร่งดำเนินการโครงการโรงงานผลิตยารังสิต ระยะที่ 2 ตั้งอยู่ในพื้นที่องค์การเภสัชกรรม (คลอง10) อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ให้แล้วเสร็จและเปิดดำเนินการได้โดยเร็ว โดยมีการผลิตกลุ่มยารักษาโรคเรื้อรัง ยาที่มีมูลค่าการใช้สูง ยาจำเป็น ได้แก่ ยารักษาโรคเอดส์ เบาหวาน ความดัน ลดไขมันในเส้นเลือด วัณโรค ยาช่วยชีวิต ยาชา ยาฆ่าเชื้อ วิตามิน ยาน้ำ ยาฉีด ยาครีม/ขี้ผึ้ง และยาเม็ด รวมทั้งหมดทั้งยาเก่าและยาใหม่ ประมาณ 160 รายการ จะทำให้สามารถขยายกำลังการผลิตยาเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 1 เท่าตัว ซึ่งจะช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาได้มากกว่ามูลค่าในปัจจุบันที่ประหยัดได้มากกว่าถึงปีละ 7,500 ล้านบาท  

องค์การเภสัชกรรมในวันนี้ มุ่งหวังที่จะให้องค์การฯสร้างความมั่นคงทางยา   มียาใช้เพียงพอ  พร้อมทั้งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการรักษาระดับราคายาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นต่อสังคมไทยเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึง รวมทั้งสนองนโยบายรัฐบาลในเรื่องของการส่งเสริมสมุนไพรไทย โดยองค์การเภสัชกรรมดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรไทยให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศและตลาดต่างประเทศอย่างตรงจุด ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น