"...จากการหารือกับผู้เชี่ยวชาญพบว่า ใบกระท่อมมีสารอัลคาลอยด์ ซึ่งเป็นสารเสพติดชนิดมีทราไกไน ออกฤทธิ์ในการเสพติดน้อยมาก เมื่อเทียบกับการดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังที่มีกาเฟอีนผสมอยู่..ยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถนำใบกระท่อมมาใช้ทดแทนยาบ้าหรือยาไอซ์ได้หรือไม่ ในชั้นนี้เป็นเพียงการเสนอทางออกหนึ่งให้แก่ผู้ที่มีความเครียดหรือผู้ที่ต้องการเลิกเสพยาเสพติด.."
"ชัยเกษม นิติสิริ" รมว.ยุติธรรม เผยถึงที่มาของแนวคิดจะยกเลิกกระท่อมจากยาเสพติดประเภท 5 แต่ต้องมีข้อมูลการวิจัยสนับสนุนถึงข้อดี-ข้อเสียที่ชัดเจนเสียก่อน รวมถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ หากได้รับการสนับสนุนจริงจังก็สามารถผลักดันให้เป็นจริงได้
ส่วนข้อกังวลของฝ่ายความมั่นคงที่เกรงว่า หากยกเลิกจะทำให้มีการนำใบกระท่อมไปผสมเป็นยาสี่คูณร้อยนั้น "ชัยเกษม" ยอมรับว่า แนวคิดที่จะมีการยกเลิกใบกระท่อมมีมานานแล้ว แต่ต้องหยุดไป เพราะมีข้อคัดค้านของฝ่ายความมั่นคง กรณีสี่คูณร้อยอยากให้คำนึงถึงข้อเท็จจริงว่า สี่คูณร้อยคือการนำใบกระท่อมไปผสมกับยาเสพติดอื่นคือ ยาแก้ไอ ที่มีสารเสพติดเป็นยาต้องห้าม ลำพังตัวใบกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติด
อีกหนึ่งประเด็นร้อน โยนหินถามทาง..จะถอด "ใบกระท่อม"ออกจากบัญชีพืชเสพติด เพื่ออาจนำมาใช้บำบัดผู้ติดยาบ้า!!
กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความเหมาะสมและความเป็นไปได้ คุณ "อาโก หนองจอก" ทันทีที่รู้ข่าวรีบเข้าไปแสดงจุดยืนผ่านห้องสนทนาเว็บไซต์พันทิปดอทคอมว่า "เรื่องใบกระท่อมนี่ ผมไม่เห็นด้วยกับ รมว.ยุติธรรมนะครับ" ที่ว่ามีสรรพคุณทางยานะจริง แต่ส่วนใหญ่กินกันมากจนติด อารมณ์ของคนที่กินใบกระท่อม ตอนแรกกินเข้าไปมันสู้แดด คลายเมื่อยดี แต่ถ้ากินไปติดต่อกันสักเดือน แล้วถ้าวันไหนไม่ได้กินกระท่อมจะรู้สึกปวดเมื่อย คันคอ อยากไอ หาว แต่พอได้กินไปแล้วก็จะเป็นปกติ แต่ไม่ได้ทำให้ขยันขึ้น ฉะนั้น มันคือสารเสพติด
"ประโยชน์ทางยาของใบกระท่อม ใช้รักษาโรคบิด แก้ปวดมวนท้อง ปวดเบ่ง ปวดเมื่อยร่างกาย ท้องเฟ้อ ท้องเสีย ท้องร่วง แต่มันไม่จำเป็นแล้ว เพราะมียาแผนปัจจุบันที่ให้ผลดีกว่าอยู่แล้ว ส่วนเรื่องกฎหมาย ทุกวันนี้ชาวบ้านที่หนองจอกก็กินกัน ตำรวจไม่จับ จะจับก็แต่เฉพาะบ้านที่ปลูกมากเป็นสวนเป็นไร่ แต่ถ้าปลูกต้นเดียว ตำรวจก็แค่มาเตือนให้ตัดทิ้งถ้ามันใหญ่เกินไป แต่ถ้าจะมาเปิดกว้างว่า มันไม่ผิดกฎหมายจะหนักสิครับ ที่นี้ สี่คูณร้อยบ้างอะไรบ้างก็จะเปิดขายกันแบบเสรี" คุณ "อาโก หนองจอก"แสดงความเป็นห่วง
ส่วนประเด็นจะให้ใบกระท่อมไม่ผิดกฎหมายแล้วยาบ้าจะลดลงนั้น คุณ "อาโก หนองจอก" มองว่า คนคิด "ไม่ฉลาดครับ"คุณจะปราบยาบ้า คุณก็ต้องไปปราบยาบ้า ปราบแหล่งขายแหล่งผลิต แต่นี้จะปราบยาบ้าด้วยการให้มาติดกระท่อมแทน ตรรกะแบบนี้ "ป่วย" นะครับ อีกอย่างมันไม่มีทางเป็นไปได้ ยาบ้ามันแรงกว่ากระท่อมเยอะ ต่อให้ทำจริง ก็ไม่มีขี้ยาที่ไหนจะเลิกยาบ้าหันมากินกระท่อมหรอกครับ "มันไม่มันส์" เชื่อผม!! คุณ "ตาเป๋า" แสดงความคิดเห็นแย้งว่า คนที่กินกระท่อมก็กินอยู่ทุกวัน ตำรวจไม่อยากจับ และไม่เคยเห็นคนกินกระท่อมเมาอาละวาดสักที ประมาณคนเคี้ยวหมาก ถึงจะผิดกฎหมาย ตำรวจก็ไม่สนใจ เพราะดูพฤติกรรมแล้วไม่น่าเป็นยาเสพติด ประเทศเราก็เว่อร์ไป บางทีกัญชาผมยังคิดว่าไม่น่าจะเป็นยาเสพติดด้วยซ้ำ
คุณ "monkey_D" มองว่า ตามข่าวว่าใช้ในการบำบัดผู้ติดยาบ้า ไม่ได้เปิดให้มากินเสรีตามฟุตบาทคงต้องมีการอนุญาตการใช้คงเหมือน พ.ร.บ.ยา
ส่วน คุณ "Dens in Dente" ตั้งคำถามผ่านเว็บไซต์เดียวกันว่า "สงสัยครับว่า ฤทธิ์ของใบกระท่อมนี่น้อยกว่ายาเสพติดอื่นๆ จริงหรือเปล่า" ถ้ายกเลิกจริงๆ คิดว่าคนจะไปเสพยาอย่างอื่นน้อยลงจริงหรือไม่ ใบกระท่อมมีสารอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่าครับ
คุณ "Pomzazed" ตอบกระทู้พร้อมโพสต์รูปโครงสร้างทางเคมีของสารเสพติดในกระท่อมระบุว่า ปริมาณน้อยๆ จะเป็นสารกระตุ้น ทำให้ทนแดดได้ดี พอมากขึ้น จะเริ่มไปจับที่ opioid receptor โดยเจาะจงชนิด u(มิว) มากกว่า K(แคปป้า) (receptor ชนิดนี้ เป็นชนิดเดียวกับที่ มอร์ฟีน เฮโรอีน เมทาโดน ออกซิโคโดน ฯลฯ เข้ามาจับด้วย) สารตัวบน เป็นสารหลักที่มีในใบของพืชตระกูลกระท่อมเท่านั้น ประมาณ 1-5% dry weight สารตัวล่าง เกิดจากสารตัวบนถูกออกซิไดซ์ พบในปริมาณน้อย แต่มีฤทธิ์ที่แรงกว่ามาก
ด้าน นพ.วิโรจน์ วีรชัย ผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษ์ ให้ข้อมูลถึงสารที่มีอยู่ในใบกระท่อมว่า จะออกฤทธิ์ช่วยลดอาการปวดและช่วยกระตุ้นเลือด หัวใจให้สูบฉีดมากขึ้น เหมือนกับฤทธิ์ของกาแฟ มีฤทธิ์พอสมควร ทำให้มีแรงทำงานมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้เมาแบบขาดสติ ฤทธิ์ที่ทำให้บ้าก็ไม่มี แต่ในส่วนของการเสพแล้วติดมากน้อยแค่ไหนนั้น จากการทดลองโดยใช้หนูทดลองนั้น ระหว่างใบกระท่อมกับหมากที่เคี้ยวกัน พบว่ากระท่อมมีสารเสพติดค่อนข้างต่ำกว่าหมาก
สำหรับวิธีการเสพของใบกระท่อมมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น เคี้ยวใบสด ต้มใบสด และใบแห้งกับน้ำ แต่บางคนเคี้ยวแล้วกลืนใบ อาจลำไส้อุดตันหรือลำไส้ทะลุได้ บางรายไม่ได้เสพนานๆ จะมีอาการปวดเมื่อยตัว นอกจากนี้ ใบกระท่อมยังถูกนำไปเป็นส่วนผสมของ "สี่คูณร้อย" ซึ่งมักจะพบบ่อยในบริเวณชายแดนภาคใต้ ซึ่งสารอื่นๆ ที่ผสมอยู่นั้นมีฤทธิ์อันตรายกว่าน้ำใบกระท่อม
"ส่วนตัวมองว่า ผลเสียต่อสังคมตอนนี้ ยังประเมินไม่ถูก ควรมีการคิดให้รอบคอบ แต่หากมีการจะยกเลิกจริงๆ ควรจะมีการควบคุมในบางระดับ เหมือนบุหรี่ เหล้าที่มีการควบคุมอยู่ในเด็กและเยาวชน ไม่ควรจะปล่อยเสรีให้เด็กและเยาวชนสามารถนำมาใช้ได้ง่าย ต้องป้องกันเด็กไม่ให้เข้าถึง ถ้าหากจะมีการถอนออกจากบัญชีพืชเสพติดจริงๆ ทั้งนี้ ในต่างประเทศไม่มีใครควบคุมใบกระท่อม แต่ไทยมีการควบคุมกันมานานมากแล้ว เนื่องจากตอนนั้นคนไม่สูบฝิ่นก็เลยหันมาหาใบกระท่อม จึงต้องมีการควบคุมนับแต่นั้นมา"
ในส่วนของคนไข้ที่มารักษาเกี่ยวกับใบกระท่อม นพ.วิโรจน์ ยอมรับว่าปีหนึ่งมีสักประมาณ 10-20 รายเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ที่เสพมานานและอยากเลิก มีเพียงบางรายเท่านั้นที่มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน แต่รักษาไม่นานอาการก็ดีขึ้น ไม่เหมือนยาบ้าที่ใช้เวลาการรักษานาน
ขณะที่ ภก.ประพนธ์ อางตระกูล ผอ.กองวัตถุเสพติด สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มองว่า กรณีนี้ต้องศึกษาวิจัยอย่างรอบด้าน ทั้งจากฝ่ายปราบปรามยาเสพติด คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ สังคม และคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข เพื่อใช้ในการประกอบการตัดสินใจ เนื่องจากใบกระท่อมถือเป็นพืชเสพติด และจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ ประเภทที่ 5 กดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ขยัน ทนงาน โดยมีการกำหนดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เมื่อปี 2522 อยู่ในประเภทเดียวกับกัญชา
"มีการศึกษาเรื่องดังกล่าวมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ปัจจุบันใบกระท่อมใช้ในกลุ่มยาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้มาก โดยเฉพาะสี่คูณร้อย มีการไปผสมกับทั้งยาแก้ไอ น้ำอัดลม การยกเลิกพิจารณาให้รอบคอบ แต่หากมองในแง่ของสมุนไพร ส่วนใหญ่ใบกระท่อมใช้ในการบรรเทาอาการท้องเสีย แต่ปัจจุบันก็มียาแผนปัจจุบันที่ให้ผลดีไม่แตกต่างกัน"
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
- 590 views