ไทยรัฐ - แนวความคิดในการพัฒนานโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อม เพื่อหาทางแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับพืชกระท่อมตามพระราชบัญญัติยาเสพติด พ.ศ.2522 เป็นแนวความคิดที่น่าสนใจ

นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่ง

ประกอบด้วย นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นรองประธาน รวมทั้งตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

รวมทั้งหมด 26 คน

หลังจากประชุมกันแล้ว ได้ข้อสรุป 5 ประเด็นที่จะเสนอคณะกรรมการยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข

ประเด็นแรก เป็นไปได้หรือไม่ที่จะประกาศยกเลิกถอนใบกระท่อม ออกจากสารเสพติดประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด พ.ศ.2522 แล้ว จัดให้เป็นยาสมุนไพรเพื่อจะพัฒนาต่อยอดต่อไป

ประเด็นที่สอง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะประกาศยกเลิกใบกระท่อมจากการเป็นสิ่งเสพติด แต่ให้เป็นสารที่ต้องควบคุมเนื่องจากมีฤทธิ์ต่อจิตประสาทและกล่อมประสาทผู้ใช้

ประเด็นที่สาม หากไม่ต้องแก้กฎหมาย แต่หาแนวทางที่จะทำให้ ใบกระท่อมสามารถนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ หรือนำมาทำ เป็นยาสามัญประจำบ้าน

ประเด็นที่สี่ การนำใบกระท่อมเป็นสารตั้งต้นไปแปรรูปเป็นสารเสพติดอื่น ควรมีการจัดทำเป็นกฎหมายและระบุโทษให้ชัดเจน

ประเด็นที่ห้า หากไม่สามารถทำตาม 4 ประเด็นได้ จะมีวิธีหรือแนวทางใดที่จะให้พืชกระท่อมเกิดประโยชน์สูงสุด

ทั้งหมดเป็นประเด็นที่น่าติดตามที่จะเปลี่ยนแปลงพืชกระท่อม

กระทรวงยุติธรรมน่าจะพุ่งเป้าไปที่ประเด็นแรกและประเด็นที่สอง

เนื่องจากสามารถลดได้ทั้งคดียาเสพติดและลดจำนวนนักโทษยาเสพติดลง

เป้าหมายต่อไปคือผู้ติดยาเสพติดอาจจะหันมาใช้ใบกระท่อม

ทั้งบำบัดและทดแทน

เป้าหมายสุดท้ายคือ การพัฒนาพืชกระท่อมให้เกิดประโยชน์เป็นยารักษาโรค

ไม่ว่าจะถอนพืชกระท่อมออกจากสารเสพติดประเภท 5 ได้หรือไม่ ก็ต้องชมเชยในความตั้งใจของกระทรวงยุติธรรมที่จะแก้ไขปัญหายาเสพติด

การแก้ปัญหายาเสพติดต้องทำหลายด้านพร้อมๆกัน เช่น ปรับปรุงกฎหมาย บำบัดผู้ติดยา ให้ความรู้ พัฒนาสังคม ฯลฯ

ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำ

การจับเป็นล้านเป็นแสนเม็ดอย่างเดียวแก้ปัญหายาเสพติดไม่ได้

ที่มา: http://www.thairath.co.th