เดลินิวส์ - ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการวิจารณ์กันในวงกว้าง เกี่ยวกับปัญหาข้อโต้แย้งทางสังคม เรื่องของ 'ใบกระท่อม" ที่กฎหมายบัญญัติให้เป็น ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ภายใต้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2552 ล่าสุดมีการเร่งศึกษาถึงผลดีผลเสีย และความเป็นไปได้เพื่อจะให้มีการเสนอตัดใบกระท่อมออกจากประเภทยาเสพติดชนิดที่ 5
ก่อนหน้านี้มีการนำใบกระท่อม ไปดัดแปลงปรุงแต่งร่วมกับสารเสพติดชนิดอื่น นำไปสกัดเป็นสารเสพติดมอมเมากันในกลุ่มเยาวชน โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องพยายามกวาดล้างจับกุมอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันพืชกระท่อม ในแง่สรรพคุณแล้วก็ยังมีประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านสมุนไพร แพทย์ทางเลือก และการพัฒนายาในประเทศทดแทนการพึ่งพิงยาจากต่างประเทศ
ปลายเดือนส.ค.ที่ผ่านมา นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ได้ให้แนวทางการพัฒนา นโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับ พืชกระท่อมเพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทสภาวะแวดล้อมของสังคมและประเทศ ตลอดจนสถานการณ์ในแต่ละมิติ ทั้งทางสังคม วัฒนธรรม การแพทย์ และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อประชาชน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534
"เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ผลดี ผลเสีย และความเป็นไปได้ในการพัฒนานโยบายเกี่ยวกับพืชกระท่อม จุดประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อมเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเพื่อการลดทอนความเป็นอาชญากรรมทางคดียาเสพติด และการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน"โดยแต่งตั้งคณะทำงานย่อยเฉพาะด้านเพื่อศึกษารายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพืชกระท่อม รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการดำเนินงาน โดยมี พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการป.ป.ส. เป็นแม่งานส่งต่อ คณะกรรมการยาเสพติดให้โทษให้ความเห็นชอบต่อไป
อย่างไรก็ดีจากข้อมูลวิชาการเรื่อง พืชกระท่อม โดย คณะกรรมการบริหารเครือข่ายองค์กรวิชาการสารเสพติด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.ฆ เปิดเผยข้อมูลเชิงประจักษ์จากการศึกษาวิจัยในประเทศไทย พบว่า พืชกระท่อมเป็นไม้ยืนต้นที่เป็นพืชถิ่น พบในบริเวณแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชอบขึ้นในบริเวณป่าดิบชื้น ริมลำธาร ในประเทศไทยพบมากในภาคใต้ โดยชาวบ้านปลูกกันในบริเวณข้างบ้าน ร่องสวน ทุ่งนา ตามป่าธรรมชาติ ฯลฯ แต่ดั้งเดิมชาวบ้านใช้เป็นตัวกระตุ้นเพื่อช่วยในการทำงานให้คงทนมากขึ้น รวมไปถึงใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรค โดยเฉพาะภาคใต้จัดได้ว่าเป็นพืชที่แสดงบทบาทหน้าที่ทางสังคมวัฒนธรรมของท้องถิ่นอย่างชัดเจน
เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของพืชกระท่อมนั้น พบว่ามี สารอัลคาลอยด์ อยู่มากกว่า 25 ชนิด สารหลัก ได้แก่ มินตราจินีน ซึ่งออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทคล้ายฝิ่น มีคุณสมบัติในการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารทำให้ความอยากอาหารลดลงจึงอาจพบผลข้างเคียง และมีฤทธิ์แก้ปวดแต่ฤทธิ์น้อยกว่ามอร์ฟีนประมาณ 10 เท่า ในตำรับยาสมุนไพรโบราณได้ใช้ใบกระท่อมรักษา โรคท้องร่วง ทั้งยังรักษาคนที่อดฝิ่นได้ด้วย เพราะใบกระท่อมมีคุณสมบัติไปกระตุ้นสมองส่วน กลางได้ ถ้าใช้ในปริมาณน้อยจะมีฤทธิ์คล้ายกับ ใบโคคา เมื่อเสพใบกระท่อมแล้วจึงทำให้รู้สึกไม่ปวดเมื่อยตามร่างกาย ดังนั้น ชาวบ้าน ชาวสวน ชาวไร่ ชาวนา และผู้ใช้แรงงานหนักตากแดด จึงต้องพึ่งใบกระท่อมกัน
ทุกอย่างมีทั้งคุณประโยชน์และโทษ ต่อมามีการนำใบกระท่อม ไปดัดแปลงในหลากหลายรูปแบบ ทำตากแห้ง ทำเป็นผง หรือไปต้มผสมกับสารอันตรายอื่น ๆ เพื่อใช้เสพ เรียกชื่อ 4x100 จนทำให้มีราคาเพราะความต้องการในตลาดสูง กลายเป็นยาเสพติดชนิดใหม่ที่อันตราย อาการที่ตามมาหลังขาดการใช้ใบกระท่อม อาจจะมีลักษณะร่างกายอ่อนเพลีย ไม่มีแรง หงุดหงิด เจ็บในข้อ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ โมโหง่าย บางครั้งก็ซึมเศร้า ครั่นเนื้อครั่นตัว หนาวสั่น ง่วง หาว น้ำมูกน้ำตาไหล น้ำลายเหนียว เบื่ออาหาร ฯลฯ
พล.ต.อ.พงศพัศ เลขาธิการป.ป.ส. มองว่า เป็นเรื่องปกติในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องทำด้วยความรอบคอบรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายและประชาชนเป็นหลัก ตอนนี้ ทางป.ป.ส. ได้หารือกับ รมว.ยุติธรรม แล้วว่า การที่ประชาชนจะกินเคี้ยวใบกระท่อมสดไม่น่าที่จะเป็นอันตราย แต่ถ้าเอาใบกระท่อมไปดัดแปลงปรุงแต่งสารเสพติดอย่างอื่นเข้าไปก็จะมีความผิดตามกฎหมาย เรื่องนี้จะมีการหารือกับทางคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความชัดเจน
จากความร่วมมือกันหลายฝ่าย ได้ศึกษาถึงผลดีและผลเสียอย่างต่อเนื่อง มีมติเสนอมาหลายข้อ อาทิ 1. พิจารณาให้ประกาศยกเลิกพืชกระท่อม ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โดยกำหนดให้พืชกระท่อมเป็นสมุนไพร2. ประกาศยกเลิกพืชกระท่อม ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้เป็นสารที่ถูกควบคุม ในฐานะวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท3. กรณีไม่แก้กฎหมาย ให้มีการปรับปรุงระเบียบ แนวทางการควบคุมที่จะเอื้อต่อวิถีชีวิตปกติของผู้ใช้พืชกระท่อมในวิถีแบบดั้งเดิม เช่น การเคี้ยวเพื่อการทำงาน
4. การนำใบกระท่อมไปเป็นสารตั้งต้น เพื่อแปรสภาพเป็นสารที่มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ในรูปแบบอื่น ๆ นั้น ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ได้นำไปพิจารณาประกอบการปรับแก้กฎหมายด้วย เพราะเป็นประเด็นทางสังคมที่เกิดขึ้นภายหลังจากการมีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แล้ว ซึ่งการแปรสภาพกระท่อมนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม โดยเฉพาะประเด็นของเด็กและเยาวชนไทย 5. ขอให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษพิจารณา หากไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามข้อ 1-4 ข้างต้น ควรจะดำเนินการต่อประเด็นพืชกระท่อมอย่างไร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 6. ให้สำนักงาน ป.ป.ส. ดำเนินการศึกษาวิจัยร่วมกับสถาบันวิชาการอย่างต่อเนื่อง เกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้เสพกระท่อมในพื้นที่ที่มีผู้เสพวิธีเคี้ยวใบสดจำนวนมาก เช่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
เลขาธิการป.ป.ส. กล่าวทิ้งท้ายว่า หากจะยกเลิกพืชกระท่อม ออกจากบัญชียาเสพติด ประเภท 5 ต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาก่อน อีกทั้งกระทรวงยุติธรรมขอเวลา 2 สัปดาห์ ในการที่จะทำความเห็นเพิ่มเติมต่อท้ายคณะทำงาน อย่างไรก็ดีในการประชุมของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจัดขึ้นเดือนละครั้ง ผมจะเดินทางเข้าร่วมและนำเสนอในที่ประชุม รวมถึงความเห็นของกระทรวงยุติธรรมที่ได้มีความเห็นสอดคล้องกับคณะทำงาน
เพียงแต่จะเพิ่มเติมในรายละเอียดการแก้ไขกฎหมาย เนื่องจากการแก้ไขพ.ร.บ ตามกฎหมายนั้น ต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน!!.
ที่มา--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 24 ก.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 49 views