"คณะทำงานพิจารณาค่าตอบแทนฯ" ตั้งคณะกรรมการย่อย 3 ชุดเร่งแก้ปัญหา "การปฏิบัติงาน-ค่าตอบแทน" แพทย์ชนบทขอสูตรเดิม ยืนตามฉบับ 4, 6 พร้อมเปลี่ยน P4P ใหม่เป็น PQO หรือเพย์ ฟอร์ ควอลิตี้ เอาต์คัม
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนฯ ว่า จะต้องร่วมกันทำภารกิจพิจารณาปรับปรุงแก้ไขใน 3 ประเด็น คือ 1.การชดเชย เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายพีฟอร์พีในช่วงที่ผ่านมา โดยแนวทางการชดเชยจะคิดจากระเบียบค่าตอบแทนฉบับเก่าลบด้วยค่าตอบแทนฉบับใหม่ ซึ่งได้ให้คณะทำงานชุดย่อยไปสรุปจำนวนเงินเยียวยาและแหล่งที่มาของเงินว่าจากเอามาจากไหน จะจ่ายอย่างไร
2.การกำหนดระบบการประเมินผลงาน ที่เหมาะสมกับ รพ.ชุมชน (KPI) ซึ่งจะต้องมีการคุยกันในรายละเอียด เพื่อนำผลการพิจารณาร่วมกันเข้าสู่การจัดทำระเบียบค่าตอบแทนฉบับใหม่ ขณะเดียวกันก็ยังต้องมีการประเมินผลรายบุคคล เช่นเดียวกับการประเมินผลปฏิบัติงานรายปี ว่าใครทำอะไรบ้างมากน้อยแค่ไหน และ 3.การแก้ปัญหาสำหรับผู้ปฏิบัติงานสายอื่น ที่ตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย
ดร.คณิศกล่าวอีกว่า โดยสรุปการประชุมในวันนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการย่อย 3 ชุดขึ้นมาพิจารณาในแต่ละประเด็น โดยในส่วนของการชดเชยเยียวยาน่าจะเสร็จสิ้นไม่เกิน 1 เดือน แต่สำหรับกำหนด KPI และการปรับปรุงอัตราค่าตอบแทนในสายงานอื่นที่ตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย โดยในวันที่ 21 มิ.ย. จะมีการประชุมคณะทำงานอีกครั้ง เพื่อพูดคุยกันรายละเอียดการทำ งานของคณะกรรมการย่อยให้ทันกับการเริ่มปฏิบัติตามพีฟอร์พีเต็มรูปแบบในวันที่ 1 ต.ค.ที่จะถึงนี้
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ยืนยันว่าเมื่อวานนัดหมายกับ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท เพื่อหารือถึงแนวทางในการประชุมคณะกรรมการฯ ในวันนี้เท่านั้น ส่วนเรื่องการปรับ ครม.ไม่หนักใจถ้าโดนปรับออก เพราะตนตั้งใจมาทำงานให้นายกฯ ถ้านายกฯ จะเปลี่ยนตัวก็แล้วแต่ดุลพินิจ
ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เนื้อหาที่พูดคุยคือการตั้งคณะทำงานชุดย่อย 3 ชุด ไปจัดทำรายละเอียดของแต่ละชุด โดยการเยียวยาชดเชยนั้นจะต้องดำเนินการตั้งแต่เดือน เม.ย.2556 จนถึงวันที่มีการออกข้อบังคับ สธ.ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการฉบับที่ 10 ซึ่งข้อบังคับฉบับดังกล่าวจะพยายามเอาข้อบังคับฉบับที่ 4 และ 6 มารวมเป็นเนื้อเดียวกัน คาดว่าฉบับที่ 10 สามารถประหยัดเงินที่จะต้องจ่ายลงได้ประมาณ 400-500 ล้านบาท เนื่องจากมี รพ.ชุมชน (รพช.) ประมาณ 221 แห่งที่จะต้องปรับพื้นที่ใหม่ สำหรับการประเมินผลการปฏิบัติงาน (เคพีไอ) ของบุคลากรใน รพช.นั้นจะไม่ใช้คำว่าพีฟอร์พี แต่จะเรียกว่าพีคิวโอ หรือเพย์ ฟอร์ ควอลิตี้ เอาต์คัม (Pay for Quality Outcome) หรือการจ่ายค่าตอบแทนตามคุณภาพงาน ซึ่งแตกต่างจาก P4P ที่เก็บแต้มการทำงานเท่านั้น โดยไม่คำนึงว่าเนื้องานมีคุณภาพหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีข่าวการพูดคุยกับ รมว.สธ.ในวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า โดยหลักเป็นการพูดคุยกับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ประธานคณะทำงานจัดทำข้อเสนอการดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุข ส่วน รมว.สาธารณสุขแค่มาทักทายเท่านั้น.
ที่มา: http://www.thaipost.net
- 5 views