หมอชนบทจ่อวอล์กเอาต์หากม็อบป่วนหนุน'ประดิษฐ' ยืนยันถ้าไม่ได้ข้อสรุปเจรจา พร้อมประท้วงหน้าบ้านนายกฯ
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผลการประชุมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ เป็นการหารือ 3 ฝ่ายถึงปัญหานโยบายด้านสุขภาพก่อนชี้ขาดในการประชุมอย่างเป็นทางการวันที่ 6 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ อาทิ ชมรมแพทย์ชนบท สหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรม เครือข่ายผู้บริโภค ฯลฯ ร่วมกับตัวแทนรัฐบาล คือ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และฝ่ายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คือ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรี สธ. และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.
นพ.ประดิษฐกล่าวว่า แม้การประชุมเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน จะไม่ได้ข้อสรุปทั้งหมด แต่เป็นการหารือเพื่อตัดรายละเอียดปลีกย่อยก่อนเข้าถึงสาระสำคัญ โดยข้อกังวลเรื่องการใช้ระบบร่วมจ่าย (Co-Payment) และการแปรรูปองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีแนวคิดนี้ ส่วนข้อเสนอให้ยกเลิกการเรียกเก็บเงิน 30 บาทรักษาทุกโรค บอกว่ามีอุปสรรคในการดำเนินการ ก็ยินดีรับฟังความเห็น โดยมอบให้กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาโรงพยาบาลในสังกัดรวบรวมปัญหา และทบทวนหาทางแก้ไขต่อไป ส่วนที่กังวลว่าจะมีการแทรกแซงการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทั้งกรณีการตั้งรองเลขาธิการ สปสช. ขอย้ำเป็นเรื่องของเลขาธิการ สปสช.ไม่เกี่ยวกับตน สำหรับเรื่องการตั้งงบออกแบบ 3.4 ล้านบาท เพื่อสร้างสำนักงานใหม่ให้ สปสช. ย้ายจากศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มาอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข เรื่องนี้ทาง สปสช.เสนอมาให้รัฐมนตรีช่วยของบประมาณ หากไม่ต้องการก็คืนงบได้ ที่สำคัญมองว่า สปสช.มีกิจกรรมที่ต้องติดต่อกับกระทรวงมากกว่าหน่วยงานในศูนย์ ราชการฯ การย้ายมาน่าจะทำให้ทำงานดีขึ้น
"การปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) นั้น หลายคนยังติดใจ และปัญหาต่างๆ ใน อภ. ทั้งวัตถุดิบยาพาราเซตามอล และโรงงานวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก จึงอนุญาตเป็นกรณีพิเศษในการตั้งคณะทำงานกลุ่มหนึ่งเข้าไปดูข้อมูลข้อเท็จจริงใน อภ. หมายถึงสามารถดูรายละเอียดหลักฐานเอกสารทุกอย่างที่เกี่ยวข้องได้ แต่เรื่องไหนที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ดีเอสไอสอบสวน ตรงนี้คงไม่สามารถไปก้าวล่วง ขอย้ำว่าคณะทำงานชุดนี้จะไม่มีหน้าที่ตรวจสอบซ้ำ แค่ต้องการให้เข้าไปดูข้อเท็จจริง ซึ่งหากสุดท้าย นพ.วิทิตไม่พอใจผลการตรวจสอบก็สามารถยื่นฟ้องหรือใช้สิทธิของตัวเองได้" นพ.ประดิษฐกล่าว และว่า ประเด็นไล่รัฐมนตรี สธ.นั้น มองว่ายังไม่มีหลักฐานที่มีเหตุผลเพียงพอ หากจะให้พ้นจากตำแหน่ง อาจต้องนำหลักฐานข้อมูลมามากกว่านี้
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศก่อนการแถลงข่าวว่า มีกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมประมาณ 500 คน เดินทางมามอบดอกไม้ให้กำลังใจ นพ.ประดิษฐ และสนับสนุนนโยบายการปรับการจ่ายค่าตอบแทน
วันเดียวกัน ที่มูลนิธิแพทย์ชนบท กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ ทางเครือข่ายมีมติเบื้องต้นว่าจะต้องมีความชัดเจนทั้งในเรื่องสาระของนโยบายด้านสุขภาพ และเรื่องตัวบุคคล คือ นพ.ประดิษฐไม่มีความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี สธ. เพราะแน่ชัดแล้วว่าทั้งนโยบายพีฟอร์พีหรือนโยบายค่าตอบแทนอิงผลการปฏิบัติงาน (P4P : Pay for Performance) สร้างความแตกแยกชัดเจน และทำให้แพทย์ในชนบทไหลออก แพทย์ไม่อยากอยู่ในชนบทอีกต่อไป การมาตัดค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจะยิ่งทำให้ระบบยากขึ้น ซึ่งรัฐมนตรี สธ.บอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ เสนอแค่นโยบายเท่านั้น แต่พร้อมรับผิดชอบ ในส่วนปลัด สธ.ถือว่าตระบัดสัตย์ เพราะเดิมเคยพูดในโรงพยาบาลชุมชนหลายๆ เวทีว่าระบบสร้างแรงจูงใจต้องมี 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก ฐานเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง กลุ่มที่สอง เป็นแรงจูงใจให้คนทำงานในพื้นที่ขาดแคลน กลุ่มที่สาม เป็นพีฟอร์พี โดยพูดตลอดว่าสามกลุ่มนี้ต้องแยกจากกันไม่สามารถปนกันได้ แต่สุดท้ายก็กลับนำมาใช้ และสร้างข้อมูลมาหลอกสังคม ขณะนี้สั่งให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงรายงานข้อมูลเข้ามาว่ามีโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ ดำเนินการต่างๆ กว่าร้อยละ 94 ซึ่งไม่เป็นความจริง มีเพียงร้อยละ 5 ถูกแกมบังคับให้เช็กรายงานว่าทำได้ แต่ยังไม่ได้รับเงินเลย คือ รพ.กรงปินัง จ.ยะลา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประชุมวันที่ 6 มิถุนายน หากไม่ได้ข้อยุติจะมีการวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุมหรือไม่ นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า หากอีกฝั่งมีการป่วนการประชุม อาจจะมีม็อบมาให้กำลังใจ สธ. ก็ไม่แน่ พวกเราอาจขอวอล์กเอาต์ก็เป็นได้ แต่ที่แน่ๆ คือ หากผลการเจรจาไม่เป็นที่น่าพอใจ ขอยืนยันประท้วงในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ ที่บ้านนายกรัฐมนตรี แต่หากสุดท้ายได้ผลลัพธ์ที่ดีก็จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกัน
ผู้สื่อข่าวถามกรณีคัดเลือกคณะทำงานเข้าตรวจสอบหลักฐาน อภ. นพ.เกรียงศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้เครือข่ายเตรียมเสนอรายชื่อเข้าไปร่วมในทีมนี้ประมาณ 7 คน จะเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นคนที่สังคมยอมรับ เบื้องต้นเสนอ นพ.บรรจุ ศิริพานิช อดีตรองปลัด สธ. เป็นหัวหน้าทีมครั้งนี้ โดยจะเสนอรายชื่อในวันที่ 6 มิถุนายน
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า ทางชมรมแพทย์ชนบทเครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง มีข้อสรุปว่า นพ.ประดิษฐหมดความชอบธรรม ขอให้ออกจากตำแหน่ง และขอให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นรักษาการแทน เพราะอย่างน้อยเคยคุยกัน และคุยกันรู้เรื่อง
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า สำหรับนโยบายค่าตอบแทน จัดเป็นนโยบายที่ผิดพลาด ที่ไม่เพียงแต่รัฐมนตรี สธ.ต้องรับผิดชอบ ผู้บริหารก็ต้องร่วมด้วย เพราะเป็นนโยบายที่ทำให้เกิดความแตกแยกในกระทรวง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้บริหารต้องออกมารับผิดชอบ คือนอกจากรัฐมนตรี สธ. ยังมีปลัด สธ.หรือไม่ นพ.อารักษ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องคิดได้เอง ซึ่งยังมีเรื่องการก่อสร้างที่ไม่แล้วเสร็จอีก เพราะผู้รับเหมาหนีงานของกระทรวง แต่กลับไม่มีการตั้งคณะกรรมการมาสอบ ในฐานะปลัด สธ.ก็ไม่ลงมาดูเรื่องนี้ ที่เห็นชัดคือ อาคารผู้ป่วยใน อาคารสนับสนุน ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช
ที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา นพ.กุลเดช เตชะนภารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ นำทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากร ร่วมแสดงพลังสนับสนุนนโยบายพีฟอร์พี ตามประกาศฉบับที่ 8 และ 9 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้กับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งทั่วประเทศตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
นพ.กุลเดชกล่าวว่า การจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี ถือว่ามีความเป็นธรรมกับบุคลากรในทุกตำแหน่งงาน และดีกว่าการใช้ระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแบบเก่าตามประกาศฉบับที่ 4 และ 6 ที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงพยาบาลศูนย์กับโรงพยาบาลชุมชนซึ่งมีปริมาณงานไม่เท่ากัน ส่วนกรณีชมรมแพทย์ชนบทและโรงพยาบาลชุมชน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ออกมาคัดค้านนโยบายดังกล่าวนั้น เป็นสิทธิที่จะกระทำได้ อาจมอบในภาพลบว่าเป็นการทำงานเพื่อล่าแต้ม แต่โดยส่วนตัวคิดว่านโยบายพีฟอร์พีน่าจะมีความเป็นธรรม และส่งผลดีกว่าระบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแบบเก่า เนื่องจากสามารถกระจายรายได้ออกไปให้โรงพยาบาลชุมชนและแพทย์ชนบทได้มากขึ้น ลดปัญหาการ กระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ที่แย่งกันเข้าทำงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในตัวเมือง อีกทั้งส่งผลดีกับประชาชนที่มารับบริการของโรงพยาบาลจากการที่แพทย์ฝีมือดีจะกระจายตัวออกไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่รอบนอก รวมทั้งในพื้นที่เสี่ยงอย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากขึ้น
ที่บริเวณหน้าตึกอำนวยการ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ นพ.สมอาจ ตั้งเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล พร้อมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่กว่า 200 คน รวมตัวชูป้ายแสดงพลังสนับสนุนนโยบายพีฟอร์พี
นพ.สมอาจกล่าวว่า ผลดีของการจ่ายค่าตอบแทนพีฟอร์พีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และคุณภาพให้บุคลากรในโรงพยาล และระบบการทำงานที่สามารถสร้างความเป็นธรรมในการประกอบวิชาชีพ ทำให้บุคลากรในโรงพยาบาลมีกำลังใจ ส่งผลดีต่อประชาชน นอกจากนี้ทำให้ระยะเวลาในการรอคิวผ่าตัดและการตรวจวินิจฉัยพิเศษลดลง เนื่องจากโรงพยาบาลจะสามารถขยายกิจกรรมการบริการที่มีประโยชน์มากขึ้น เฉพาะโรงพยาบาลกาฬสินธุ์ แต่ละวันมีประชาชนมารับบริการกว่า 600 รายในกลุ่มผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยในกว่า 1,000 ราย
ที่ลานอนุสาวรีย์ นายแพทย์เบนทูล-คุณผกา บุญอิต โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก นพ.สุชาติ พรเจริญพงศ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลพุทธชินราช พร้อมตัวแทนแพทย์ พยาบาล ร่วมอ่านแถลงการณ์สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ในการเพิ่มศักยภาพในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน
ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 7 มิ.ย. 2556 (กรอบบ่าย)
- 4 views