ระยะเวลาเกือบ 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ต้องเผชิญกับม็อบที่เกี่ยวข้องถึง 5 ม็อบ ตั้งแต่ “ม็อบแพทย์ชนบทค้านP4P” “ม็อบบุคลากรทางการแพทย์หนุนP4P” “ม็อบหมอเสื้อดำหน้าทำเนียบ” “ม็อบสหภาพแรงงานอภ.จี้ดีเอสไอไม่รับคำร้อง” และล่าสุด “ม็อบ 3 ประสาน(สหภาพอภ. เครือข่ายผู้ป่วย ชมรมแพทย์ชนบท)ไล่รมว.สธ.”
ใจความโดยรวมของม็อบที่คัดค้าน คือ ไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่างๆ ของสธ.ที่ออกมา ทั้งการปรับการจ่ายค่าตอบแทนเป็นจ่ายตามผลการปฏิบัติงาน หรือพีฟอร์พี(Pay For Performance : P4P), การตรวจสอบความโปร่งใสในองค์การเภสัชกรรม(อภ.) และการปฏิรูประบบสาธารณสุข และต้องการไล่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ พ้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้สธ.จมอยู่ในวังวนจนไม่สามารถเดินหน้านโยบายสาธารณสุขในหลายๆเรื่องต่อไปได้ เพราะไม่ว่าจะกระดิกตัวขยับตรงจุดไหนก็เกิดแรงต้านแทบทั้งสิ้น นี่จึงอาจเป็นประเด็นหลักที่กระตุ้นให้ นพ.ประดิษฐ ตัดสินใจเปิดห้องเปิดใจอธิบายถึงมูลเหตุที่ต้องมีการปรับปรุงระบบสาธารณสุขเป็นครั้งแรก !
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข เปิดห้องประชุมชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงถึงที่มาที่ไปและเหตุผลการดำเนินนโยบาย โดยหอบเอกสารข้อมูลหนาราว 3 นิ้วมาใช้ประกอบด้วย นพ.ประดิษฐ ออกตัวว่า ที่ต้องอธิบายเพราะเห็นว่าสธ.ใช้เวลากับปัญหาพีฟอร์พีไปมาก จนคิดว่าต้องมาคุยถึงอนาคตข้างหน้าแล้ว เพราะถ้าจมปลักกับปัญหาปัจจุบัน สิ่งที่ได้เคยแถลงนโยบายไว้ในวันที่เข้ารับตำแหน่งวันแรกว่า “ต้องการเข้ามาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพที่มีปัญหาพอสมควรหรือที่ใช้มา 10 ปีควรมีการปรับปรุงบ้าง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ” ก็จะไม่มีการเดินหน้า
ที่มาของแนวความคิดระบบสุขภาพของประเทศต้องมีการเปลี่ยนแปลง! นพ.ประดิษฐ เปิดฉากความจำเป็นว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ปัจจุบันมีประชากรเพิ่มปีละประมาณ 2-3 แสนคน มีผู้อยู่ในสิทธินี้ราว 48.5 ล้านคน มีการใช้บริการผู้ป่วยนอกในปี 2555 จำนวน 32 ล้านคน ประมาณ 167 ล้านครั้ง หรือ 5.2 ครั้งต่อคน จากที่ในปี 2545 มีผู้ใช้บริการผู้ป่วยนอก 1.5 ครั้งต่อคน มีการใช้บริการเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า
ในส่วนของงบประมาณ ในปี 2545 มีงบเหมาจ่ายรายหัว 1,202 บาทต่อคน รวมงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ไม่รวมเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐ) 27,612 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปี 2556 จำนวน 2,755 บาทต่อคน รวมงบกองทุนฯ 108,744 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพระหว่างปี 2545-2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 ขณะที่จีดีพีประเทศโตขึ้นเพียงร้อยละ 5.8 และค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46 เป็นด้านยา ซึ่งประเทศที่เจริญแล้วใช้จ่ายด้านยาไม่เกินร้อยละ 20
“ความจำเป็นที่เห็นปัญหา คือ งบด้านสุขภาพโตขึ้นเรื่อยๆ แต่งบลงทุนน้อยลงเรื่อยๆ เป็นการขยายตัวที่ไม่ได้สัดส่วน ที่สำคัญ ขณะนี้ยังไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนที่ตอบได้ว่าระบบนี้ทำมา 10 ปีแล้วประชาชนมีอะไรดีขึ้น ตอบได้อย่างเดียวว่าคนไปใช้บริการมากขึ้น ซึ่งอาจหมายความว่าสามารถไปหาหมอได้ง่ายขึ้นหรือเจ็บป่วยมากขึ้นก็ได้ มีตัวชี้วัดอะไรที่บอกได้ว่าทำไปแล้วคนไทยมีสุขภาพดีขึ้น ซึ่งไม่มี ประสิทธิภาพ คุณภาพก็ไม่รู้” นพ.ประดิษฐกล่าว
ทำให้ต้องเข้ามาปรับปรุงโครงสร้างหรือประสิทธิภาพเพื่อให้ระบบสาธารณสุขมีคุณภาพ นพ.ประดิษฐ บอกว่า ที่ผ่านมาปัญหาเกิดขึ้น คือ ขาดหน่วยงานที่กำหนดทิศทางชัดเจน จึงเกิดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ ทั้ง 3 กองทุน ได้แก่ ระบบสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงต้องมีแนวทางปรับปรุงให้เข้ากันให้ได้เพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างและเหลื่อมล้ำ โดยรัฐบาลมีแนวคิดต้องจัดองค์กรต่างๆ ให้มีนโยบายในทิศทางเดียวกันก่อน
ส่วนภาพของสธ.ที่เป็นผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุด เห็นว่ามีปัญหาเชิงการบริหารแม้จะได้รับการเพิ่มงบประมาณ ทำให้ต้องหาวิธีในการเพิ่มประสิทธิภาพ จึงมีแนวคิด การรวมกลุ่มกันทำงานของหน่วยบริการ เพราะหากแยกทำแบบเดี่ยวๆ จะไม่ได้ปริมาณงานที่เหมาะสม เกิดเป็นนโยบาย 12 เขตบริการสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการบริการประชาชนดีขึ้น จากการที่มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันภายในเขตบริการ ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน กระตุ้นให้มีการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม และเพิ่มอำนาจต่อรอง เช่น การจัดซื้อยา
กับข้อข้องใจการเป็น “หมอเอกชน” นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ไม่เคยปฏิเสธว่าภายหลังลาออกจากราชการแล้วไปทำการค้าขาย แต่หากระบุว่าเป็นหมอโรงพยาบาลเอกชนก็ขอปฏิเสธ ถ้ากล่าวหาว่าตนเอื้อภาคเอกชนให้พูดโดยตรงอย่าพูดโดยอ้อม พร้อมกับแสดงหลักฐานที่ยอมรับได้ออกมาให้ชัดเจนว่าเอื้ออย่างไร เช่น ตนถือหุ้นในโรงพยาบาลเอกชนหรือบริษัทยา อย่าอ้างโดยไม่มีเหตุผล เป็นการเดา คาดคะเนก็ไม่ถูกต้อง เพราะหากจะตั้งสมมุติฐานก็ล้วนตั้งได้ทั้งสิ้น
ท้ายที่สุด นพ.ประดิษฐ บอกว่า ได้อธิบายเรื่องต่างๆ ให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและมีความเข้าใจแล้ว รวมถึงส.ส.ในพรรคเพื่อไทยด้วย และนโยบายต่างๆ จะเดินหน้าต่อไป
--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 26 เม.ย. 2556 (กรอบบ่าย)--
- 6 views