ผลพวงจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงสาธารณสุข ปรับปรุงการจ่ายค่าตอบแทน (ไม่ใช่เงินเดือน) ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดให้เป็นแบบผสมผสาน ทั้งการขจ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่ และการจ่ายตามผลการปฎิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี (Pay For Performanc:P4P) กระทั่งเกิดกระแสทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย จากกลุ่มแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข
ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุข จึงหารือร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน และนำเรื่องเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองชุดที่มี นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ก่อนนำเข้าสู่การประชุม ครม.สัญจรในวันที่ 31 มีนาคมนี้
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 28 มีนาคม ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาทบทวนค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ย้ำว่าคณะกรรมการเห็นด้วยกับการจ่ายค่าตอบแทนแบบผสมผสานแบบเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่และพีฟอร์พี ในส่วนของการจ่ายตามพื้นที่นั้น พื้นที่ที่มีความจำเป็น เช่น พื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ทุรกันดารยังมีเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในอัตราเดิม
สำหรับการจ่ายตามพีฟอร์พีจะมีการพิจารณาจากทั้งภาระงานและภารกิจ ไม่ใช่เพียงแค่การตรวจคนไข้ แต่รวมถึงการส่งเสริมป้องกันโรคด้วย เป็นต้น ที่สำคัญไม่ได้พิจารณาเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียวดู คุณภาพด้วยอีกทั้งเห็นด้วยกับการจัดแบ่งพื้นที่โรงพยาบาลใหม่ และตัวเลขอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแบ่งการดำเนินการเป็น 2 ระยะ ระยะแรกเริ่ม 1 เมษายน 2556 และระยะ 2 เริ่ม 1 เมษายน 2557 โดยในระยะที่ 2 สามารถดำเนินการปรับปรุงรายละเอียดได้ผลตามผลการประเมินของการใช้ในระยะที่ 1
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในการประชุมผู้แทนทุกกลุ่มภายในสธ.ตามที่ ครม.มอบหมายนั้น ได้ดำเนินการเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิผู้แทนจากกรมต่างๆ ที่มีหน่วยบริการในสังกัดชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัด เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาลจาก รพศ./รพท.และโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภาชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทยและสหวิชาชีพต่างๆ
ส่วนแพทย์จาก รพช.ไม่เข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมเห็นชอบใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การจัดพื้นที่เห็นด้วยให้มีการจัดแบ่ง รพช.ออกเป็น 4 กลุ่ม คือ พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ปกติ พื้นที่เฉพาะ 1 และพื้นที่เฉพาะ 2 เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบันหลังจากที่ไม่มีการทบทวนมานาน 10 ปี ซึ่ง รพช.ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะ 2 ทั้งหมดร่วมกับ รพช.ห่างไกล เกาะ ภูเขา เช่น รพ.อุ้มผางและรพ.ปางมะผ้า ทั้งนี้ จะแจ้งให้พื้นที่ทราบและเปิดให้มีการเสนอความเห็นเพิ่มเติมสำหรับการทบทวนภายใน 19 เมษายน 2556
ส่วน 2.การกำหนดอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เห็นด้วยที่มีการแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 เห็นด้วยกับอตราที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด แต่เภสัชกรขอให้มีการพิจารณาเนื่องจากเภสัชกรได้รับเพียง 3,000 บาท ที่ประชุมได้รับมาพิจารณา ส่วนอัตราที่มีการกำหนดจะใช้ดำเนินการในระยะที่ 2 นั้น จะเป็นเพียงตัวเลขอ้างอิงและสามารถปรับได้ภายหลังมีการประเมินผลการดำเนินงานหลังผ่านพ้นพระยะที่ 1 และ 3.การจ่ายค่าตอบแทนแบบพีฟอร์พี ที่ประชุมเห็นด้วยที่จะมีการจ่ายตามหลักการนี้ ขณะนี้ทุกวิชาชีพพร้อมที่จะดำเนินการเก็บข้อมูลแบบพีฟอร์พี สำหรับบางพื้นที่ที่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศยังไม่ดี กระทรวงและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) จะเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ
"จากนี้กระทรวงสาธารณจะต้องไปพิจารณาในการออกระเบียบ 2 ฉบับ คือ ระเบียบเรื่องเงินบำรุงโรงพยาบาล ว่าด้วยอัตราค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย ให้เป็นไปตามที่มีการกำหนดใหม่ที่จะใช้ระยะที่ 1 และระเบียบเรื่องเงินบำรุงโรงพยาบาล ว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนตามผลการปฎิบัติงาน หรือ พีฟอร์พี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างระเบียบทั้ง 2 ฉบับ" นพ.ณรงค์กล่าวทิ้งท้าย
พื้นที่ชุมชนเมือง 33 แห่ง ได้แก่ รพช.เขตเมือง 13 แห่ง คือ รพ.บางกรวย รพ.บางบัวทอง รพ.บางใหญ่ รพ.ปากเกร็ด รพ.พนัสนิคม รพ.บ้านบึง รพ.อ่าวอุดม รพ.บางบ่อ รพ.บางจาก รพ.สามพราน รพ.ป่าตอง รพ.ถลาง และรพ.หางดง และรพช.เตรียมยกเป็น รทพ. 20 แห่ง คือ รพ.บางละมุง รพ.กบินทร์บุรี รพ.บางพลี รพ.แกลง รพ.อรัญประเทศ รพ.มาบตาพุด รพ.ชุมแพ รพ.กุมภวาปี รพ.เดชอุดม รพ.50 หรรษาฯ รพ.วารินชำราบ รพ.ปากช่องนานา รพ.เทพรัตน์นครราชสีมา รพ.สว่างแดนดิน รพ.นางรอง รพ.ปราสาท รพ.ฝาง รพ.จอมทอง. รพ.สิชล และ รพ.ทุ่งสง
รพช.พื้นที่เฉพาะระดับ 1 จำนวน 66 แห่งได้แก่ รพ.เซกา รพ.ทองผาภูมิ รพ.ปาย รพ.แม่สะเรียง รพ.ลี้ รพ.เชียงของ รพ.ด่านซ้าย รพ.นครไทย รพ.กงหรา รพ.เกาะช้าง รพ.เกาะพะงัน รพ.คุระบุรีชัยพัฒน์ รพ.ชัยบุรี รพ.ชาติตระการ รพ.ชานุมาน รพ.เชียงม่วน รพ.ดวงหลวง รพ.ดอยเต่า รพ.ตาพระยา รพ.ถ้ำพรรณรา รพ.ท่าคันโท รพ.ทุ่งช้าง รพ.ทุ่งหว้า รพ.ทุ่งหัวช้าง รพ.เทพา รพ.นาจะหลวย รพ.นาทม รพ.นาน้อย รพ.นายูง รพ.นาหมื่น รพ.น้ำเกลี้ยง รพ.น้ำยืน รพ.น้ำโสม รพ.น้ำหนาว รพ.นิคมน้ำอูน รพ.โนนคูณ รพ.บางขัน รพ.บ้านหลวง รพ.บึงโขงหลง รพ.บุ่งคล้า
รพ.ปากชม รพ.ปางศิลาทอง รพ.พนมดงรักฯ รพ.พบพระ รพ.พะโต๊ะ รพ.ฟากท่า รพ.ภักดีชุมพล รพ.ภูสิงห์ รพ.ภูหลวง รพ.เมยวดี รพ.เมืองจันทร์ รพ.แม่แจ่ม รพ.แม่พริก รพ.แม่ระมาด รพ.แม่วงก์ รพ.แม่อาย รพ.ยางสีสุหราช รพ.ละอุ่น รพ.ศุกร์ศิริ ศรีสวัสดิ์ รพ.พยาบาลสถานพระบารมี รพ.สมเด็จพระปิยฯ รพ.สองแว รพ.สังคม รพ.สันติสุข รพ.สุขสำราญ และ รพ.จะนะ
รพช.พื้นที่เฉพาะระดับ 2 จำนวน 48 แห่งได้แก่ รพ.โคกโพธิ์ รพ.ท่าสองระยาง รพ.ระแงะ รพ.รามัน รพ.รือเสาะ รพ.อุ้มผาง รพ.ยะหา รพ.สายบุรี รพ.ยี่งอฯ รพ.กรงปีนัง รพ.กะพ้อ รพ.กาบัง รพ.เกาะกูด รพ.เกาะยาวชัยพัฒน์ รพ.เกาะลันตา รพ.ขุนยวม รพ.จะแนะ รพ.เจาะไอร้อง รพ.เฉลิมพระเกียรติ รพ.ตากใบ รพ.ทุ่งยางแดง รพ.ธารโต รพ.นาแห้ว รพ.บ่อเกลือ รพ.บันนังสตา รพ.บาเจาะ รพ.บ้านโคก รพ.ปะนาเระ รพ.ปางมะผ้า รพ.มายอ รพ.แม่ฟ้าหลวง รพ.แม่ลาน รพ.แม่ลาน้อย รพ.ไม้แก่น รพ.ยะรัง รพ.ยะหริ่ง รพ.เวียงแก่น รพ.เวียงแหง รพ.แว้ง รพ.ศรีสาคร รพ.สบเมย รพ.สะบ้าย้อย รพ.สังขละบุรี รพ.สุคิริน รพ.สุไหงปาดี รพ.หนองจิก รพ.อมก๋อย และรพ.วัดจันทร์ นอกเหนือจากนี้จัดเป็น รพช.พื้นที่ปกติจำนวน 591 แห่ง
ส่วน รพท./รพศ.แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ พื้นที่ปกติ 87 แห่ง พื้นที่เฉพาะกลุ่ม ก จำนวน 7 แห่ง คือ รพ.เกาะสมุย รพ.ตะกั่วป่า รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ รพ.ปัตตานี รพ.ยะลา รพ.บึงกาฬ และ รพ.สไหงโก-ลก ขณะที่พื้นที่เฉพาะกลุ่ม ข จำนวน 2 แห่ง คือ รพ.เบตง และ รพ.ศรีสังวาลย์
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 29 มีนาคม 2556
- 726 views