ข้าราชการถึงกับผงะ! เมื่อกระทรวงการคลังใช้จังหวะช่วงเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ออกหนังสือด่วนที่สุด!! ถึงหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการโดยตรง โดยส่งเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2555 ก่อนเข้าสู่ปีงบประมาณ 2556 เพียง 2 วัน ใจความสำคัญ เป็นการยกเลิกเบิกจ่าย "ยากลูโคซามีนซัลเฟต" ซึ่งใช้บรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อม สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มข้าราชการ จนมีการหารือร่วมกันเพื่อฟ้องศาลปกครองและยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ขอให้ทบทวน เพราะถูกมองว่าเป็นการจำกัดและละเมิดสิทธิ
จากข้อมูลของกรมบัญชีกลาง พบว่า ในปีงบประมาณ 2552 และ 2553 ในระบบสวัสดิการข้าราชการ มีมูลค่าการเบิกกลูโคซามีนจากโรงพยาบาล 34 แห่ง ปีละกว่า 600 ล้านบาท หรือเดือนละราว 50 ล้านบาท ภายหลังจากที่กรมบัญชีกลางออกประกาศห้ามการเบิกจ่าย แต่ถูกคัดค้าน จึงผ่อนผันให้มีการเบิกจ่ายได้แต่ผู้ป่วยต้องจ่ายเงินตนเองไปก่อนแล้วนำใบเสร็จไปเบิกกับต้นสังกัดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 พบว่า หลังการประกาศดังกล่าวจนถึง มีนาคม 2555 ระยะเวลา 9 เดือน มีการสั่งกลูโคซามีน จำนวน 5,343 ครั้ง มูลค่าเฉลี่ยครั้งละ 1,400 บาท มูลค่ารวม 7.31 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 8 แสนบาท ซึ่งผู้เบิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพ่อแม่ของข้าราชการและข้าราชการบำนาญถึง 75%
การห้ามเบิกจ่ายยากลูโคซามีนในผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการที่มีทั้งสิ้นราว 5 ล้านคน ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการบำนาญและพ่อแม่ข้าราชการ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่โอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมตามวัยมีมาก แม้ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าผู้ใช้สิทธิที่จำเป็นต้องได้รับยานี้มีจำนวนเท่าไหร่ แต่ไม่ว่าจำนวนจะน้อยหรือมาก ผลกระทบย่อมเกิดขึ้นต่อผู้ป่วยแน่นอน เพราะนั่นเท่ากับว่า ไม่สามารถเบิกค่ายากลูโคซามีนได้อีก เว้นแต่หากต้องการก็ควักเนื้อจ่ายเอง
“เข้าใจว่ารัฐต้องการคุมค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่สูง แต่จำนวนเงินที่หลายๆ ฝ่ายโกงบ้านโกงเมืองไปนั้นมากกว่านี้ ทำไมไม่ไปตามเช็กบิล การทำแบบนี้เหมือนว่าเมื่อหมดประโยชน์ต่อรัฐก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจกันอีก เชื่อว่าผู้ที่เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจทั้งหลายล้วนเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ แม้จะต้องจ่ายเงินเองก็คงไม่เดือดร้อน แต่สำหรับข้าราชการผู้น้อยโดยเฉพาะที่เกษียณอายุราชการแล้ว ซึ่งได้รับเงินบำนาญน้อยกว่าเงินเดือนลงไปอีก ย่อมต้องเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายขึ้นอีก หากมีความจำเป็นต้องรับยานี้ และในความรู้สึกของผู้ป่วยแม้ยาจะช่วยได้ไม่มาก แต่หากช่วยได้บ้างก็ย่อมต้องการหายหรือบรรเทาอาการทั้งสิ้น”ข้าราชการบำนาญที่ป่วยข้อเข่าเสื่อมรายหนึ่งกล่าว
ทว่า ในมุมฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการยกเลิกการเบิกจ่าย ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เห็นว่า การดำเนินการของกรมบัญชีกลางเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เท่ากับเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคไม่ใช่การรอนสิทธิ เนื่องจากผลการศึกษาวิจัยเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน พบว่าประสิทธิภาพของยาไม่แน่ชัด ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายสูง จึงไม่คุ้มค่าที่จะใช้
สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อเรื่องนี้ เป็นความเห็นจากราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคข้อและกระดูก โดยในเอกสารแนวปฏิบัติบริการสาธารณสุข โรคข้อเข่าเสื่อม พ.ศ.2554 ของราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ฯ ระบุไว้ว่า การบำบัดโรคข้อเข่าเสื่อม มีทั้งไม่ใช้ยา เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การลดน้ำหนัก การฟื้นฟูสมรรถภาพข้อเข่าและกายบริหารบำบัด เป็นต้น ส่วนการบำบัดด้วยยา เช่น ยาบรรเทาปวด ยาทาเจลพริกหรือยาต้านการอักเสบชนิดทาภายนอก
สำหรับการใช้กลูโคซามีนซัลเฟต ระบุว่า ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอในการสนับสนุนหรือคัดค้านการใช้ยากลุ่มกลูโคซามีนซัลเฟตเป็นการบำบัดทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมรุนแรง และคัดค้านอย่างยิ่งต่อการใช้ยากลุ่มนี้เพื่อป้องกันข้อเสื่อม และแนะนำให้หยุดยาหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 3 เดือน
ทางออกหนึ่งที่น่าสนใจ เพื่อลดความไม่พอใจของกลุ่มข้าราชการและลดค่าใช้จ่าย คือ กระทรวงการคลังไม่ควรปิดช่องตาย ควรเปิดช่องให้สามารถเบิกได้ในกลุ่มผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยานี้ตามการวินิจฉัยของแพทย์ ไม่ใช่การเหมารวมยกเข่ง เพราะผู้ป่วยบางรายอาจมีความจำเป็นต้องได้รับยานี้และไม่มีกำลังทรัพย์ที่จะจ่ายเอง ดังเช่นที่มีการผ่อนผันก่อนหน้านี้หรือการดำเนินการของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนบริการ ประธานคณะกรรมการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ยากลูโคซามีนซัลเฟตเป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดตามข้อ ราคาประมาณซองละ 20-30 บาท หลักการจ่ายยานี้ของ รพ.จุฬาฯ จะมีการประเมินก่อนว่าผู้ป่วยเหมาะสมกับยากลูโคซามีนซัลเฟตหรือไม่ เมื่อมีการยกเลิกการเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยบางกลุ่มที่มีข้อบ่งชี้ว่ามีความจำเป็นต้องใช้ยากลูโคซามีนซัลเฟต เพราะแพ้ยาชนิดอื่น ต้องจ่ายค่ายาเอง
การดำเนินการเช่นนี้ เป็นการโยนอำนาจตัดสินใจในการสั่งใช้ยากลูโคซามีนไปอยู่ที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งย่อมต้องรู้ดีว่าผู้ป่วยรายใดจำเป็นต้องใช้หรือไม่ต้องใช้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ทุกฝ่ายต้องการ “ใช้ยาสมเหตุสมผล ประหยัดงบประมาณ และไม่ละเมิดสิทธิข้าราชการ”
--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 19 ต.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 2 views