แพทย์ชนบทไม่ยอมถอย ลุยยื่น 5 ข้อเสนอ "ปู" ปลดหมอประ ดิษฐพ้น สธ. ยกเลิกพีโฟร์พี และหยุดให้ข่าว อภ. ระบุให้เวลาตัดสินใจก่อนชุมนุมใหญ่หน้าบ้าน "รมว.สธ." เสียงอ่อนครั้งแรก ลั่นพร้อมยกเลิก P4P ถ้าหลังใช้แล้ว 1 ปี ผลประเมินออกมา สร้างความเสียหายต่อระบบมากกว่าผลดี
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทและแกนนำการเคลื่อนไหวคัดต้านพีโฟร์พี เปิดเผยว่า หลังจากที่เครือข่าย องค์กร และกลุ่มคนไม่เอา นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ เป็น รมว.สาธารณสุข ได้เคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ไม่มีความคืบหน้า และได้หารือกับเครือข่ายฯ ว่าจะเดินหน้าต่อในเรื่องนี้อย่างไร และได้ข้อสรุปว่าจะมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อ คือ 1.ให้นายกรัฐมนตรีปลดหรือย้าย นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ ไปจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 2.ให้คณะรัฐมนตรียกเลิก มติเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือพีโฟร์พี และให้กลับไปใช้ระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 4 และฉบับที่ 6 ว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนแบบเหมาจ่ายสำหรับ รพ. ชุมชนแทน 3.ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจสอบความถูกต้องของการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนตามภาระงาน ตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 9 ที่ประกาศใช้ใหม่ และตรวจสอบเอาผิดกับการจัดซื้อเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่มีราคาสูงกว่าท้องตลาดหลายเท่าตัวของ สธ.
4.ให้ รมว.สธ.หยุดทำลายภาพลักษณ์องค์ การเภสัชกรรม (อภ.) หยุดการกระทำใดๆ ที่เอื้อต่อบริษัทยาข้ามชาติ หยุดทุจริตเชิงนโยบายเรื่องเมดิคัลฮับ (Medical Hub) ที่ทำลายระบบสาธารณสุขของประเทศ เอื้อประโยชน์เฉพาะกับธุรกิจการเมืองและเอกชน 5.ให้พรรคเพื่อ ไทยสั่งหยุดนโยบายทำลายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นระบบอนาถาเหมือนในอดีต และหยุดการแทรกแซงหน่วยงานอิสระอื่นๆ
นพ.อารักษ์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการตอบสนองเราจะมีการชุมนุมใหญ่ที่บ้านนายกฯ เลย ไม่อยากไปชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพราะถึงไปท่านก็จะส่งตัวแทนมารับเรื่อง แต่เราอยากจะส่งเรื่องให้ถึงมือท่านเอง ส่วนจะเป็นวันไหนนั้นจะหารือกันอีกครั้ง ดังนั้นช่วงนี้ต้องให้เวลาท่านทำงาน ให้ท่านตัดสินใจก่อน
วันเดียวกัน ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ นพ.ประดิษฐกล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการการวิจัยระบบสุขภาพประจำปี 2556 "จัดการความรู้สู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม" จัดโดยสถาบัน วิจัยระบบบริการสาธารณสุข (สวรส.) โดยผู้สื่อข่าวถามถึง P4P ที่แพทย์ชนบทคัดค้าน นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ตนไม่ได้คิดที่จะลดเงินของบุคลากรสาธารณสุข แต่ต้องการที่จะทำการจัดกลไกของกระทรวงให้เป็นระบบมากขึ้น ส่วนเรื่องที่กลุ่มแพทย์ชนบทกังวลว่าจะเกิดความยุ่งยากนั้น จริงๆ แล้วไม่ยุ่งยาก เนื่องจากมีระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาจัดการอยู่แล้ว ดังนั้น จึงอยากขอความร่วมมือจากกลุ่มแพทย์ชนบทช่วยกันทำให้กระทรวงเดินหน้าต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนได้ทำหนังสือเชิญไปยังกลุ่มแพทย์ชนบทเพื่อมาหารือร่วมกันตลอด โดยการเดินหน้าใช้เกณฑ์จ่ายแบบ P4P นั้นคงต้องทำต่อไป ทั้งนี้ P4P คล้ายกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เริ่มต้นก็มีการคัดค้าน แต่การจ่ายแบบ P4P เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขได้ตลอด หากทำไปแล้วพบว่าทำให้เสียระบบ เกิดกรณีแพทย์ล่าแต้ม ตนก็พร้อมที่จะทำการแก้ไข และหากทำไม่ได้ก็พร้อมที่จะยกเลิก เพราะทุกเรื่องมันสามารถทำการแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้นได้
"ต่อกรณีนี้ตามมติ ครม.กำหนดไว้ว่าหลังดำเนินการ 1 ปีต้องมาประเมินผลดี-ผลเสียอย่างไร ถ้ามีผลเสียก็ต้องมาปรับปรุง แต่ถ้าก่อให้กิดอันตรายต่อระบบมากมายก็ต้องยกเลิก ผมไม่ใช่คนหัวรั้น" นพ.ประดิษฐกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกลุ่มแพทย์ชนบทพาดพิงว่า สธ.มีการทุจริตเรื่องการจัดซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด นพ.ประดิษฐกล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เข้าไปดูแลแล้ว ส่วนที่ระบุว่ามีการทุจริต เพราะเกิดการสั่งระงับการซื้อนั้น ตนเห็นว่าการสั่งระงับซื้อไม่จำเป็นต้องเป็นการทุจริตเสมอไป แต่ที่สั่งระงับเพราะ สธ. ต้องการทบทวนและตรวจสอบรายละเอียดการซื้ออีกครั้ง เช่น เรื่องของราคา ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ สธ.ก็ต้องสั่งซื้อต่อไป เพราะทำสัญญาผูกขาดไปแล้ว ดังนั้น ถ้ามีการผูกขาดในลักษณะดังกล่าว สธ.ก็ต้องศึกษาเรื่องรายละเอียดให้รอบคอบ เพราะฉะนั้นต้องมีการตรวจสอบและประเมินผลให้ชัดเจนที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
นอกจากนี้ ตนยังได้รับการชี้แจงจากอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แล้วว่า การซื้อเครื่องตรวจให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศ เพื่อทำการตรวจให้ชาวบ้านนั้นสามารถทำได้ เนื่องจาก สบส.ได้ไปสอบถามจากสภาวิชาชีพแล้ว และได้รับการยืนยันว่าเครื่องตรวจน้ำตาลสามารถให้ อสม.ใช้ทำการตรวจได้ เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ประชาชนทั่วไปก็สามารถใช้ได้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การซื้อเครื่องตรวจน้ำตาลดังกล่าวก็เพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพของประชาชนให้ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดปัญหาเรื่องโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ ตนคิดว่าการที่แพทย์ชนบทออกมาตั้งข้อสงสัยดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้ช่วยกันทำให้กระทรวงสาธารณสุขโปร่งใส
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 26 เมษายน 2556
- 8 views