กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ฝากหมอปิยะสกล ดูภาพรวมปฏิรูประบบสาธารณสุข ทั้งใน รพ.รัฐและเอกชน เน้นประโยชน์ต่อประชาชนเป็นหลัก พร้อมแก้ปัญหาบุคลากรภาครัฐสมองไหล ด้าน ปรียนันท์ เสนอ กม.คุ้มครองผู้เสียหายเข้า ครม. แก้ปัญหาผู้ป่วยถูกเรียกเก็บเงินจากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน แนะตั้งหน่วยงานกลางเบ็ดเสร็จแก้ปัญหาค่ายาและค่ารักษา รพ.เอกชนแพงเกินจริง ยกระดับ รพ.รัฐ และให้ รพ.เอกชนมีส่วนร่วมผลิตบุคลการ ขณะที่ หมอธานินทร์ชี้มีสัญญาณเดินหน้าที่ดี ทีมที่ปรึกษาเป็น อดีต ขรก.มีความรู้ความสามารถ ส่วนชมรมแพทย์ชนบท ขอพบ รมว. จี้สอบวินัยปลัด สธ.
หลังจาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยประกาศให้ทุกกรมเดินหน้าทำงานเห็นผลเบื้องต้น 6 เดือน พร้อมแก้ปัญหาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บูรณาการทำงานเข้าใจกันมากขึ้น ไม่หวั่นความเห็นต่าง พร้อมรับฟังและตัดสินใจเพื่อเดินหน้างานอย่างเป็นรูปธรรม
น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า คงไม่ได้ฝากอะไรกับรัฐมนตรีว่าการ สธ.คนใหม่เป็นพิเศษ แต่ในฐานะที่มาดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี ขอให้ดูภาพรวมในการปฏิรูประบบสาธารณสุข ไม่ใช่แค่ในส่วนของโรงพยาบาลภาครัฐเท่านั้น แต่ควรพิจารณาในเรื่องสถานพยาบาลเอกชนด้วย โดยเฉพาะปัญหาค่ารักษาพยาบาลที่แพงเกินจริง ควรมีมาตรการหรือมีกฎระเบียบในการควบคุม นอกจากนี้ ควรมีการจัดการปัญหาสมองไหลของบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล ที่มักไปทำงาน รพ.เอกชน มากกว่าอยู่ใน รพ.รัฐ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ไม่ควรมองข้าม เพราะส่งผลกระทบต่อการบริการสุขภาพของประชาชนคนไทย
ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลหรือไม่หากจะมีการปรับปรุงกฎหมาย โดยเฉพาะ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีหลายกระแสว่า อาจมีการปรับเปลี่ยนระบบหลักประกันสุขภาพฯ หรือไม่ ซึ่งการปรับปรุงให้ดีขึ้น ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ตรงนี้ไม่แน่ใจว่า รัฐมนตรีฯ ซึ่งเพิ่งมาทำงานไม่กี่วันจะมีแนวคิดในการปรับปรุงกฎหมาย หรือพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ จริงหรือไม่ หากมีจริงก็ต้องมาพิจารณาว่าจะปรับเปลี่ยนรูปแบบใด เช่น หากจะร่วมจ่าย ก็ต้องเป็นการร่วมจ่ายทุกระบบประกันสุขภาพภาครัฐ ไม่ใช่แค่บัตรทอง เพราะทุกวันนี้บัตรทองได้ค่าหัวนิดเดียว ขณะที่เป็นกลุ่มคนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ ที่มีจำนวนมากที่สุดกว่า 48 ล้านคน
“หากจะมีการร่วมจ่าย ก็ต้องให้ทุกคน ทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สิทธิประกันสังคม จ่ายทุกคนในสัดส่วนที่แตกต่างกัน โดยต้องมาคำนวณอย่างเป็นธรรม และหากจะปรับเปลี่ยนกฎหมายหลักประกันสุขภาพฯ อยากฝากว่า อย่าเพิ่งเชื่อคำพูดที่ว่าระบบหลักประกันสุขภาพฯ จะแย่ เกิดปัญหาทางการเงินในอนาคต เนื่องจากต้องพิจารณาตัวเลขให้ดีว่า เป็นจริงหรือไม่” น.ส.สุรีรัตน์ กล่าว
เมื่อถามว่ากังวลอะไรกับรัฐมนตรีว่าการ สธ.คนใหม่ น.ส.สุรีรัตน์ กล่าวว่า คงเป็นเรื่องที่มีความเป็นนักบริหาร และมีกระแสข่าวว่าเคยบริหารภาคเอกชนมาก่อนด้วย แต่ในเมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ สธ.แล้ว ก็อยากให้คำนึงถึงสุขภาพของประชาชน ประโยชน์ที่เกิดกับผู้รับบริการเป็นหลัก หากมีจุดยืนชัดเจนเรื่องต่างๆ ก็ไม่น่ามีปัญหา
ด้านนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า ในฐานะทำงานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ มีความคาดหวังที่ต้องการให้รัฐมนตรีว่าการ สธ.เดินหน้า ดังนี้ 1.คาดหวังให้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ทำการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นครบถ้วนแล้ว รอเพียงรัฐมนตรี สธ.นำเข้า ครม.เพื่อรับหลักการและนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
2.คาดหวังให้ตั้งหน่วยงานกลางที่เป็น one stop service เพื่อแก้ไขปัญหาค่ายาและค่ารักษา รพ.เอกชนแพง รวมทั้งแก้ไขปัญหาประชาชนถูกเรียกเก็บเงินจากกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งภายหลังมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา มีการประกาศมาตรการระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ผ่านไปเกือบ 3 เดือนก็ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม
“3.คาดหวังให้ท่านปรับปรุงยกระดับ รพ.ของรัฐบาล ให้มีคุณภาพและบริการที่ดีขึ้น พร้อมมีมาตรการให้โรงพยาบาลเอกชนมีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากร เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรของ รพ.รัฐบาล เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยต่อไป ที่เครือข่ายฯ ขอนั้น ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เราขอเพื่อผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศ พวกเราหวังพึ่งก็แต่ท่านเท่านั้นที่จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้” นางปรียนันท์ กล่าว
เว็บไซต์ไทยรัฐเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 58 รายงานว่า นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.โรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะกรรมการชมรมแพทย์ชนบท กล่าวถึงกรณี นพ.ปิยะสกล แถลงนโยบายหลังนั่งตำแหน่ง รมว.สาธารณสุข ว่าจากการดูนโยบายก็จะเป็นงานประจำที่ สธ.ทำอยู่แล้ว และเน้นในเรื่องการประนีประนอม โดยเฉพาะเรื่องเขตสุขภาพของ สธ. กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งโดยภาพรวมก็พอใจ แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีแนวคิดที่เป็น 2 ขั้ว ระหว่างแพทย์ชนบทและประชาคมสาธารณสุขที่ยังเห็นต่างกัน ดังนั้นจึงต้องดูในเรื่องนี้ด้วย
นพ.อารักษ์ กล่าวต่อว่า ส่วนสิ่งที่ยังกังวลอยู่บ้าง คือนโยบายของ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อดีต รมว.สาธารณสุข ที่ทำเรื่องหมอครอบครัวนั้น จะยังเดินหน้าต่อไปหรือไม่ เพราะยังไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้เลย ส่วนเรื่องค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ โปร่งใสตรวจสอบได้นั้น ประเด็นนี้ถือว่าสำคัญเพราะ สธ.เคยประกาศว่าจะเป็นกระทรวงปลอดคอร์รัปชั่น และจากการที่ชมรมแพทย์ชนบทได้ร้องเรียนให้ตรวจสอบ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.เรื่องการใช้รถ ซึ่งกรณีดังกล่าวมีมูลว่าอาจมีความผิดวินัยร้ายแรงนั้น รมว.สาธารณสุขก็จะต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่างและชัดเจน เพราะหากไม่ทำก็จะขัดต่อนโยบายที่ประกาศ และคำสั่งของ คสช.ซึ่งในวันที่ 27 ส.ค.นี้ ชมรมแพทย์ชนบทมีการนัดตัวแทนแพทย์ชนบทจากทั่วประเทศประชุมกัน ดังนั้นจึงจะถือโอกาสนี้ขอเข้าพบ รมว.สาธารณสุขด้วยเลย
นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) พระนครศรีอยุธยา และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการสธ.ได้มอบนโยบายให้แก่ข้าราชการ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณในการเดินหน้าที่ดี โดยเฉพาะการบูรณาการเขตสุขภาพ การทำงานระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยเฉพาะการจัดการเรื่องการเงินการคลัง รวมไปถึงการเดินหน้าคณะกรรมการร่วมระหว่าง สปสช.และ สธ. ที่มีปลัด สธ.และเลขาธิการ สปสช.เป็นประธานร่วม โดยเดิมเคยตั้งขึ้นตั้งแต่มติคณะกรรมการ สปสช. เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 แต่ไม่มีความชัดเจน มาครั้งนี้น่าจะชัดเจนมากขึ้น
“ประกอบกับการแต่งตั้งทีมที่ปรึกษาทั้ง 5 ท่าน ไม่ว่าจะเป็น นพ.เสรี ตู้จินดา, นพ.ธวัช สุนทราจารย์, นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี, พญ.มยุรา กุสุมภ์ และ นพ.ชาตรี บานชื่น ล้วนเป็นข้าราชการเกษียณที่มีความรู้ความสามารถ ซึ่งมองว่าจะทำให้บรรยากาศการทำงานดียิ่งขึ้น ยิ่งรัฐมนตรีฯ มอบแนวทางการทำงานให้ยึดหลักซื่อสัตย์ สามัคคี มีความรับผิดชอบ ตรวจสอบได้ ยิ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะขณะนี้ชาว สธ.ต้องการการปรองดอง” นพ.ธานินทร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าจากแนวการทำงานที่ยึดหลักซื่อสัตย์ ตรวจสอบได้ ทำให้ชมรมแพทย์ชนบทเตรียมเสนอเดินหน้าตรวจสอบ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.หลังจากในสมัย นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการ สธ.เคยตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงพบว่า นพ.ณรงค์ มีมูลความผิดเรื่องปฏิบัติราชการส่อผิดวินัย นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องตั้งแต่สมัย นพ.รัชตะ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการตามเรื่องนี้ต่อ มองว่า นพ.ปิยะสกล น่าจะรับเรื่อง และพิจารณาข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะกระบวนการตั้งคณะกรรมการ กระบวนการตรวจสอบถูกต้องหรือไม่อย่างไร
- 12 views