“หมอปิยะสกล” ขอทุกภาคส่วนปฏิบัติเข้มตามมาตรการรัฐ หวังชะลอการแพร่ระบาด COVID-19 ในไทย ยืนยันรัฐตรวจคัดกรอง COVID-19 เต็มที่ เชื่อมั่นรับมือได้แม้ไทยเข้าเฟส 3 ด้าน “สมาคมอุรเวชช์” คาดการณ์ 1 ปี คนไทย ติดเชื้อทะลุ 1 ล้าน แต่ป่วยต้องเข้ารักษาประมาณ 2 แสนคน ขณะที่ “สมาคมเวชบำบัดวิกฤต” หวั่นเกิดภาวะวิกฤติทางสาธารณสุข หากจำนวนผู้ติดเชื้อและป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

วันนี้ (19 มีนาคม 2563) ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประทศไทย และสมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ รวมสมอง ร่วมใจ “สู้ภัย COVID-19” เพื่อกู้วิกฤติและร่วมกันไขข้อข้องใจและแก้ปัญหา พร้อมแนะนำป้องกันและรักษา COVID-19 ในระยะที่ 3 ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโรค COVID-19 ในขณะนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐรวมไปถึงภาคเอกชนและประชาชนเอง ต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังและดำเนินการตามมาตรการอย่างเข้มงวด เพื่อชะลอและควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้น เราคาดหวังว่าสถานการณ์ในประเทศเรา ต้องไม่ให้รุนแรงเหมือนอิตาลีและฝรั่งเศส ซึ่งหากสามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยได้ในวงจำกัด หรือเพิ่มขึ้นในสัดส่วนวันละ 50 - 100 - 500 คน จะทำให้ระบบการรักษามีประสิทธิภาพ แต่ถ้ามีการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว เช่น วันละ 1,000 คน สถานการณ์จะค่อนข้างยากลำบาก

อย่างไรก็ตาม ขอให้เชื่อมั่นการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ เพราะขณะนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดทุกระยะ โดยเฉพาะในระยะกลางและหนัก สำหรับมาตรการควบคุมพื้นที่เสี่ยง โดยการออกประกาศขอความร่วมมือ ปิดกิจการหรืองดกิจกรรมบางประเภทชั่วคราว เช่นเดียวกับในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ในพื้นที่ต่างจังหวัดถือเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในการออกมาตรการ ซึ่งหากเราสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในทางปฏิบัติก็ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งประเทศ

ยืนยัน “รัฐ” ตรวจคัดกรองโควิดเต็มที่

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเรื่องความกังวลการตรวจคัดกรอง ที่หลายคนมองว่าขณะนี้ประเทศไทย มีการตรวจคัดกรองน้อยและอยากให้เพิ่มการตรวจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการแพร่ระบาดเข้าสู่ระยะ 3 นั้น นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า “ขอยืนยันว่าที่ผ่านมารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจคัดกรองผู้ป่วยอย่างเต็มที่ ดังนั้น ขอให้เชื่อมั่นว่าแม้สถานการณ์แพร่ระบาด จะขยับเข้าสู่ระยะที่รุนแรงมากขึ้น เรายังสามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน”

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวเสริมว่า ความเป็นห่วงผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ จากสถานการณ์การระบาดโรค COVID-19 ไปทั่วทุกภูมิภาคของโลกในเวลาอันสั้น แต่ดัวยความเข้มแข็งของภาครัฐและภาคประชาชนในช่วงเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยสามารถชะลอการระบาดของเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีการสูญเสียน้อย แต่เป็นธรรมดาที่เราหวังผู้นำที่เข้มแข็งเด็ดเดี่ยวและอาวุธที่มีประสิทธิภาพ และยังต้องการกองหลังและกองหนุนที่มีวินัยควบคุมหมู่คณะ

ทั้งนี้ ด้วยสมมติฐานประเทศไทยอยู่ในระยะที่คนติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อให้คนรอบข้างได้ 1.6 คน ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ถึง มีนาคม 2564 หรือในระยะ 12 เดือน อาจจะมีผู้ติดเชื้อในไทย 1.1 ล้านคน ในจำนวนนี้เมื่อได้รับเชื้อไปแล้ว จะมีผู้ที่แข็งแรงดีไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย 80% อาการคล้ายป่วยไข้หวัดใหญ่ แต่อีก 20% หรือประมาณ 2 แสนคน จะป่วยและจำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล แบ่งเป็นอาการป่วยน้อย 80% ปานกลาง 15% และรุนแรงมาก 5% 

แพทย์ ชี้สัดส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบรุนแรง มีเพียง 1 ใน 400

“สำหรับกรณีที่อาการป่วยปอดอักเสบขั้นรุนแรง อาจมีเพียง 1 ใน 400 เท่านั้น ซึ่งไม่ถึง 0.25% สมมติมีคนติดเชื้อ 100 คน ในจำนวนนี้ 80 คนจะไม่แสดงอาการ เหลือเพียง 20 คน ที่ป่วยเข้ารักษา โดยครึ่งหนึ่งหรือ 10 คน ถึงจะมีอาการปอดอักเสบ แต่ก็มีโอกาสน้อยที่จะอักเสบอย่างรุนแรง”

ทั้งนี้ นับจากนี้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยจะอยู่ในกรุงเทพฯ 90% จากมาตรการปิดกรุงเทพฯ ที่เหลือ 10% กระจายอยู่ในเขตบริการสุขภาพทั่วประเทศอีก 12 เขต โดยคาดว่าในพื้นที่ต่างจังหวัดจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ตัวเลขผู้ป่วยถึงจะเขยิบเทียบเคียงพื้นที่กรุงเทพ โดยคาดว่าการระบาดจะพีคสุดในช่วงปลายเดือน เม.ย. - ต้นเดือน พ.ค. นี้

หวั่นเกิดภาวะวิกฤติทางสาธารณสุข

ด้าน ผศ.นพ.สหดล ปุญญถาวร นายกสมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย ระบุว่า สัดส่วนของผู้ป่วยวิกฤติโรค COVID-19 อยู่ที่ 5% หากผู้ป่วยเข้ามาด้วยอาการโคม่า ปลายทางจะมีโอกาสสูงต่อการพิการ หรืออาจรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้ แต่ขอยืนยันว่าทีมแพทย์และบุคลากรพร้อมให้การดูแลรักษาอย่างเต็มกำลัง โดยสถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบันนั้น มีโอกาสที่จะเกิดภาวะวิกฤติทางสาธารณสุขขึ้นได้ เนื่องจากการดูแลผู้ป่วยในระยะวิกฤติเป็นการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ซับซ้อน และมีโอกาสที่มิได้มีแค่ภาวะระบบการหายใจล้มเหลวจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเพียงอย่างเดียว อาจมีภาวะการทำงานของระบบอวัยวะล้มเหลวหลายอวัยวะได้

เป็นเหตุให้ต้องการความเชี่ยวชาญของบุคลากรสาธารณสุขหลายสาขา ห้องปฏิบัติการทางเทคนิคแผนกต่าง ๆ ยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ตลอดจนระบบการให้การบริบาลที่สามารถควบคุมการติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ดังนั้น การรับมือกับสถานการณ์ระบาดครั้งนี้ มีโอกาสเกิดภาวะขาดแคลนทรัพยากรสาธารณสุขทางด้านเวชบำบัดวิกฤติได้ หากจำนวนผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปราศจากการเตรียมพร้อมทางระบบสาธารณสุข

การจำกัดการกระจายของโรคถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

“ในภาวะปกติผู้ป่วยวิกฤติ ICU ในประเทศ มากกว่า 85% ได้รับการรักษาที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากข้อกำกัดเตียงที่ไม่เพียงพอ หากเราปล่อยให้ผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นรวดเร็ว จะยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น”

อย่างไรก็ตาม มาตรการป้องกันไม่ให้ประชาชนทุกคนเสี่ยงต่อการสัมผัสโรค และการจำกัดการกระจายของโรคถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด และเป็นสิ่งที่ต้องรีบทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างรวดเร็ว มากกว่าการปล่อยให้ประชาชนเกิดโรคที่รุนแรงแล้วค่อยทำการรักษาอย่างมาก โดยในฐานะนายกสมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย ขอเรียนย้ำให้ประชาชนให้ความสำคัญสูงสุดกับการปฏิบัติตัวให้ถูกต้องตามสุขลักษณะอย่างเคร่งครัด เพื่อลดหรือยับยั้งการแพร่กระจายโรค โดยหวังว่าความร่วมมือร่วมใจของภาคประชาชน ความทุ่มเทในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรสาธารณสุขทุกคน และการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐ จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติไปได้