“หมออารักษ์” เผย ก.พ.ยังกั๊กตำแหน่ง “ผู้อำนวยการระดับสูง” หลัง สธ.ประกาศยกฐานะ 21 รพช. เป็น รพท. แจงผ่านการวัดประสิทธิภาพและสัมภาษณ์ ผอ.คนเก่าแล้ว ทำ 21 รพ.ถูกเปลี่ยนแค่ชื่อ แต่ในทางปฎิบัติยังไม่เกิด แต่ผู้บริหาร แพทย์ และบุคลากร รพ.เสียสิทธิ์แล้ว เช่น ค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย การปรับเลื่อนระดับ พร้อมระบุ การบริหาร ก.พ. ไม่ตอบโจทย์งาน สธ.ที่ต้องดูแลประชาชน แถมกดขี่ ส่งผลเกิดการเรียกร้องออกนอกระบบต่อเนื่อง เชื่ออนาคตจะรุนแรงมากขึ้น
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 21 แห่งที่ยกระดับเป็นโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศยกระดับ รพช. 21 แห่ง เป็น รพท.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้กระบวนการยกระดับเพื่อเป็น รพท.ยังไม่สมบูรณ์ โดย รพ. 21 แห่งที่ถูกยกระดับยังต้องบริหารในรูปแบบ รพช.เช่นเดิม เพราะในทางปฏิบัติยังไม่มีการยกฐานะ รพ.ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนชื่อเท่านั้น ขณะที่ในส่วนของผู้บริหาร แพทย์ และบุคลากรที่ทำงานใน รพ. ต่างเสียสิทธิ์กันไปหมดแล้ว โดยเฉพาะในส่วนค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามพื้นที่ รพช.ที่ต้องเปลี่ยนคำนวณตามหลักเกณฑ์ รพท. ที่ลดลง ซึ่งตรงนี้บุคลากรส่วนใหญ่ รวมถึงผู้บริหาร รพ.ต่างยินยอม เพราะหาก รพ.ได้ยกระดับจริง เชื่อว่าจะมีการเติมส่วนที่ขาดให้เต็ม ทั้งการเพิ่มศักยภาพและงบประมาณเพิ่มเพื่อดูแลประชาชน
ลทั้งนี้แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการสอบในส่วนของผู้อำนวยการ รพช.ทั้ง 21 แห่ง เพื่อปรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการระดับสูง แต่เป็นเพียงแค่การสอบในกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการวัดสมรรถนะการบริหาร และสัมภาษณ์วิสัยทัศน์เท่านั้น แต่ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เองก็ยังไม่อนุมัติตำแหน่งดังกล่าวให้ และเมื่อผู้อำนวยการ รพ. ไม่ถูกปรับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการระดับสูง จึงส่งผลให้บุคลากรใน รพ.ไม่สามารถขยับแท่งตามการบริหารได้ รวมถึงตำแหน่งบุคลากรใน รพ.ที่ต้องได้รับเพิ่มเติม ทั้งนี้คาดว่าการอนุมัติตำแหน่งผู้อำนวยการระดับสูงนี้ คงต้องรอไปอีกนาน เพราะแม้แต่ รพ.กระทุ่มแบน ที่เมื่อมีการยกระดับเป็น รพท.แล้ว แต่ผ่านมาจนถึงขณะนี้เข้าสู่ปีที่ 4 ผู้อำนวยการ รพ.ก็ยังไม่มีการปรับตำแหน่งแต่อย่างใด
“ที่ผ่านมาผมบอกแล้วว่าอย่าเปลี่ยนแต่ชื่อจาก รพช. เป็น รพท. หากเปลี่ยนแค่ชื่ออย่าทำเลย ไม่มีประโยชน์ แต่หากเป็นการยกฐานะเพื่อลดช่องว่าง ประชาชนเข้าถึงบริการก็ไม่มีปัญหาแต่รัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้ รพ.ที่ถูกยกระดับสามารถเพิ่มศักยภาพบริการประชาชนเต็มที่ เหมือนกับ รพ.บึงกาฬ ที่เมื่อถูกยกเป็น รพ.จังหวัดได้รับงบพัฒนาเพิ่มเติม 500 ล้านบาท ต่างจาก รพ. 21 แห่งที่มีประกาศยกระดับแล้ว แต่ยังไม่ได้อะไรเลย ทุกอย่างยังบริหารและดำเนินงานไปตามกระบวนการปกติ และแผนพัฒนา รพ.ของ รพ.ทั้ง 21 แห่ง เพื่อเป็น รพท. ก็ยังถูกคาไว้ ยังไม่มีความคืบหน้าอะไร” ผอ.รพ.สิชล กล่าว
นพ.อารักษ์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ให้สิทธิ ผอ.รพช. เดิมในการสอบนั้น เนื่องจาก ผอ.รพ.เหล่านี้ได้พัฒนา รพ.มาอย่างต่อเนื่อง จาก รพช. จนสามารถยกระดับได้ ดังนั้นหากมีการย้าย ผอ.รพช.เหล่านี้ให้คนอื่นเข้ามาบริหารแทนคงไม่ถูกต้อง และควรให้ ผอ.รพ.คนเดิมที่เห็นภาพการพัฒนา รพ.อยู่แล้ว ได้พัฒนาเพิ่มเติม ไม่ใช่ย้ายไปที่อื่น อย่างที่ รพ.สิชล จาก 30 เตียง ขยายเป็น 250 เตียง ก็ล้วนแต่มาจากฝีมือตนทั้งสิ้น
ทั้งนี้ หากดูหลักเกณฑ์การพิจารณาของ ก.พ. นั้น จะยึดเงื่อนไขแบบตรงไปตรงมา มากกว่าจะมองว่า รพ.เมื่อมีการยกฐานะเป็น รพท. และ ผอ.รพ. เป็นผู้อำนวยการสูงจะทำอะไรให้กับประชาชนได้บ้าง ไม่ใช่มองแค่เรื่องซีและตำแหน่งเท่านั้น แต่ควรสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะการเพิ่มตำแหน่งบุคลากรสาขาที่ต้องเพิ่มเติม และควรทำทันทีเพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับ สธ.ที่ได้ยกระดับ รพช. เป็น รพท.
ต่อข้อซักถามว่า ก่อนที่ สธ.จะทำการยกฐานะ รพช. เป็น รพท. ได้มีการคุยกับ ก.พ.ก่อนหน้านี้แล้ว ไม่น่าเป็นปัญหา นพ.อารักษ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สธ.ได้ส่งเรื่องไปยัง ก.พ.ถึงเหตุผลที่ต้องยกระดับ รพช. แต่ปรากฎว่า ก.พ.กลับเก็บเรื่องไว้ แถมกำหนดหลักเกณฑ์การยกระดับเป็น รพท. ที่ไม่ตรงกับเหตุผลของ สธ. เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์แพทย์เฉพาะทางที่ต้องให้มีครบ 6 สาขาหลัก ได้แก่ อายุรกรรม ศัลยกรรม สูตินรีเวช เด็ก กระดูกและวิสัญญี ประจำใน รพ.ทั้งที่บางสาขาแม้แต่ในกลุ่ม รพท.90 แห่ง ยังขาดแคลน อย่างแพทย์วิสัญญี มีประมาณ 30 แห่งที่ไม่มีวิสัญญีแพทย์ นั่นหมายความว่า รพท.เองที่มีแพทย์ไม่ครบ 6 สาขาจะต้องลดระดับเป็น รพช.หรือไม่ ซึ่งในข้อเท็จจริง รพ.หลายแห่ง ใช้พยาบาลวิสัญญีในการดมยาเพื่อให้ผ่าตัดผู้ป่วยได้ ซึ่งในเชิงเทคนิคเหล่านี้ ก.พ.เองอาจไม่เข้าใจ และยึดติดกับหลักเกณฑ์เท่านั้น
“บุคลากร สธ.ขึ้นอยู่กับ ก.พ. หลายเรื่อง และ ก.พ.เองก็ไม่รู้เรื่องระบบสาธารณสุข ขณะที่ระบบสุขภาพก็มีความซับซอน จึงทำให้เกิดปัญหาและเป็นที่มาของการรื้อฟื้นเรียกร้องให้ สธ.ออกจาก ก.พ.มาโดยตลอด ส่วนตัวเชื่อว่ากระแสนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะการดำเนินการต่างๆ ของ ก.พ.ไม่ได้ตอบโจทย์และสนับสนุนการทำหน้าที่ สธ.เพื่อดูแลประชาชน หรือแก้ไขปัญหาบุคลากรในระบบสาธารณสุขที่ต้องเพิ่มขวัญกำลังใจเพื่อให้เกิดการทุ่มเททำงาน แต่ที่ผ่านมา ก.พ.กลับไม่รู้ว่าหน้าที่คืออะไร และยังกดขี่ สธ.มาตลอด ทั้งนี้หาก ก.พ.ยังคงบริหารแบบนี้ต่อไป เชื่อว่าการเรียกร้องให้ สธ.ออกจาก ก.พ.รุนแรงกว่านี้” ผอ.รพ.สิชล กล่าว
- 37 views