นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน - สผพท.เตรียมเสนอ รมว.สธ.คนใหม่ ออก "พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายการแพทย์ และสาธารณสุข" ดึงทุกกฎหมายในวงการ รวมถึง พ.ร.บ.ตระกูล ส.ไว้ในฉบับเดียว มั่นใจช่วยการทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ช่วยตรวจสอบการใช้อำนาจ พ.ร.บ. เฉพาะต่างๆ ด้าน "หมอชนบท" ฝากดูการตีความ กม.สปสช. ย้ำไม่ได้เป็นศัตรูใคร
พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล รองประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) กล่าวว่า ขณะนี้การยกร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายการแพทย์และสาธารณสุขได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยเป็นการรวมกฎหมายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพทย์ และสาธารณสุขมาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับเดียว เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ รวมไปถึงกฎหมายขององค์กรตระกูล ส. ด้วย เช่น พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 พ.ร.บ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข พ.ศ.2535 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เป็นต้น โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้ควบคุม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายฯ หากเกิดความผิดพลาดขึ้น รมว.สธ.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น กรณีการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ แม้จะผ่านมานานหลายปี รมว.สธ.ก็จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นต้น โดยจะจัดทำเป็นข้อเสนอต่อ รมว.สธ.คนใหม่
"ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสาธารณสุขมีจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพรวมของกฎหมายทั้งหมด และกฎหมายไม่เชื่อมต่อกัน การบริหารจัดการจึงยากที่จะพิจารณาได้ว่ากฎหมายใดที่มีอยู่เป็นอุปสรรคในการทำงานบ้าง ควรเพิ่มหรือลดกฎหมายในเรื่องใดอีกบ้าง ร่าง พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายการแพทย์และสาธารณสุข จะเป็นกฎหมายที่เสริมสร้างงานด้านสาธารณสุขให้มีมาตรฐานดีขึ้น จะเกิดประโยชน์กับหน่วยงานในการบริหารจัดการทำให้เกิดเอกภาพ ควบคุม และตรวจสอบการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.เฉพาะต่างๆ ที่มีการนำภารกิจมาแยกซอย ตั้งกองทุนย่อยๆ ทั้งที่มีเป้าหมายเดียว คือ สุขภาพที่ดีของประชาชน และการทำงานเกิดประสิทธิภาพ ตรงตามวัตถุประสงค์ ของกฎหมายแต่ละฉบับและเกิดประสิทธิผล มีการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม ไม่ฟุ่มเฟือย และประชาชนได้ประโยชน์ที่แท้จริง" พญ.อรพรรณ์กล่าว
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และกรรมการแพทย์ชนบท กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝาก รมว.สธ.คนใหม่ คือ อยากให้มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใน สธ.ไม่ได้มีใครเป็นศัตรูกับใคร หมอชนบทไม่ได้ไปมีศัตรูกับใคร เป็นเพียงความเห็นต่าง เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเท่านั้น จึงไม่อยากให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใน สธ.คือความขัดแย้ง คนที่มีอำนาจในการตัดสินใจต้องอยู่ในความถูกต้อง ยึดประโยชน์ของสาธารณะและประชาชน รวมถึงยืนอยู่ในหลักการของตัวบทกฎหมาย ลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ มองภาพใหญ่ของงานสาธารณสุขในอนาคต เชื่อว่า รมว.สธ.คนใหม่จะรับฟังจากทุกกลุ่ม อย่างรอบด้าน รวมถึงขอฝากให้ดูการตีความ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ที่ยังต่างกัน ของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ (คตร.) เพราะตรวจสอบแล้วสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ไม่มีการบริหารงานที่ทุจริต เพียงแต่ตีความกฎหมายไม่เหมือนกัน ดังนั้น รมว.สธ.ใหม่ต้องทำเรื่องนี้ให้กระจ่างว่าข้อท้วงติงของ คตร.กับสิ่งที่ บอร์ด สปสช. ดำเนินการตรงกันหรือไม่ เพราะเรื่องนี้จะทำให้การบริหารของโครงการหลักประกันสุขภาพสะดุดได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 24 สิงหาคม 2558
- 10 views