ดร.นงลักษณ์ พะไกยะ สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ(สวค.) กล่าวว่าการจ่ายค่าตอบแทนแพทย์ตามผลการปฏิบัติงานนั้น มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนคือปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และเป็นเครื่องมือในการจัดการบริการให้กับประชาชน ไม่ได้เป็นการล่าแต้มตามที่เข้าใจกัน ดังจะเห็นได้จากโรงพยาบาลชุมชน 2 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพาน จ .เชียงราย และโรงพยาบาลสูงเนิน จ.นครราชสีมา ที่ได้นำร่องไปตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2551 ก่อนที่จะมีการนำเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายมาปรับใช้ ซึ่งพบว่าหลังจากดำเนินการจ่ายค่าตอบแทนแพทย์ตามผลการปฏิบัติงานแล้ว ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานการให้บริการผู้ป่วยดี และที่สำคัญระบบการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าว ยังเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดเกณฑ์และอัตราค่าตอบแทนสำหรับวิชาชีพอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งทำให้ไม่เกิดความแตกแยกภายในโรงพยาบาล แต่อย่างไรก็ตามยังเห็นว่าการจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติมให้กับแพทย์ตามผลการปฏิบัติงานนั้น น่าจะเหมาะกับโรงพยาบาลชุมชนในเขตเมืองมากกว่าพื้นที่ทุรกันดารหรือห่างไกลความเจริญ
สำหรับกระแสแพทย์บางส่วนทยอยลาออกจากโรงพยาบาลชุมชนนั้น ดร.นงลักษณ์ มองว่า เป็นเรื่องปกติเพราะแต่ละปีจะมีแพทย์ลาออกจากโรงพยาบาลรัฐประมาณ 600 - 700 คน ส่วนมากมักจะลาออกในช่วงเดือน เม.ย. เนื่องจากเป็นช่วงหมดภาระการใช้ทุนและมีแพทย์ใช้ทุนชุดใหม่เข้ามาทดแทน นอกจากนี้จากการเก็บข้อมูลยังพบว่า ค่าตอบแทนเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เพราะการตัดสินใจลาออกของแพทย์ยังมีปัจจัยสำคัญอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ความต้องการย้ายที่อยู่เพื่ออยู่ใกล้ชิดครอบครัว ความต้องการศึกษาต่อ หรือการแบกรับภาระงานที่หนักเกินไป
"ส่วนที่แพทย์จะถูกดึงตัวจากโรงพยาบาลเอกชน ส่วนตัวไม่ค่อยกังวลมากหนัก เนื่องจากโรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่ ต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์มากกว่า โดยเฉพาะแพทย์ในโรงเรียนแพทย์ แต่ที่น่ากังวลคือสถาบันเสริมความงามต่างๆ ที่มักจะดึงแพทย์จบใหม่เหล่านี้เข้าไปทำงานด้วยมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออัตรากำลังแพทย์ภาครัฐได้" ดร.นงลักษณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 เมษายน 2556
- 3 views