Hfocus -สวค. จี้เพิ่มบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉิน หลังพบขาดแคลนเพียบ ทั้งแพทย์ พยาบาล จนท.เวชกิจ แนะดึงท้องถิ่นเข้าร่วมเพิ่ม เพิ่มศักยภาพหน่วยเคลื่อนที่

ช่วงเกิดเหตุวิกฤตมีผู้ป่วยหรือผู้บาดเจ็บต้องการความช่วยเร่งด่วน "การแพทย์เวชศาสร์ฉุกเฉิน" หรือ "ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน" นับเป็นระบบที่มีบทบาทสำคัญในการลดการบาดเจ็บหรือกู้ชีวิตผู้ป่วยได้ทันท่วงที แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาระบบการแพทย์ฉุกเฉินจะได้รับการพัฒนาอย่างมาก แต่ยังคงมีปัญหาการเข้าถึง เนื่องจากปัญหาขาดแคลนบุคลากร ทั้งแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน พยาบาล  และเจ้าหน้าที่เวชกิจ รวมไปถึงการบริหารจัดการระบบอย่างเหมาะสม
จากข้อมูลการเข้ารับบริการสถานพยาบาลพบว่า มีผู้ป่วยใช้บริการแผนกฉุกเฉิน 12 ล้านครั้งต่อปี แยกเป็นเจ็บป่วยจากอุบัติเหตุ 30% เจ็บป่วยฉุกเฉินจากภาวะโรค 70% ที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังพบว่าในการนำส่งผู้ป่วยมีเพียงร้อยละ 8 เท่านั้นที่รับส่งโดยระบบฉุกเฉิน โดยเกือบทั้งหมดนำส่งโดยญาติและบุคคลอื่น

น.ส.นงลักษณ์ พะไกยะ ผู้จัดการสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นถึงปัญหา จึงได้ทำการศึกษาถึงสาเหตุเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งปัจจุบันมีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 306 คน พยาบาล 15,049 คน เจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉิน 873 คน กลุ่มอาสาสมัครผ่านการอบรม 3,849 คน และกลุ่มอาสาสมัครที่เป็นชาวบ้านและเจ้าหน้าที่มูลนิธิ 101,690 คน โดยแพทย์และพยาบาลจะเป็นหน่วยที่คอยตั้งรับอยู่ในโรงพยาบาล ขณะที่กลุ่มอื่นๆ จะเป็นหน่วยประจำรถพยาบาลฉุกเฉินรับผู้ป่วย 

เมื่อดูในส่วนผู้รับบริการทั้งในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน สามารถแบ่งผู้ป่วยฉุกเฉินออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วนร้อยละ 7.45, ผู้ป่วยไม่วิกฤตแต่ต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว ร้อยละ 25.3, ผู้ป่วยที่เจ็บป่วยปกติ ไม่รุนแรง รอการรักษาได้มีมากที่สุดคือร้อยละ 41.52 และผู้ป่วยทั่วไป อย่างการฉีดวัคซีน เป็นต้น ร้อยละ 25.73      

“เมื่อดูจำนวนบุคลากรระบบฉุกเฉินและจำนวนการรับบริการ 12 ล้านครั้งต่อปี จะเห็นถึงภาระงานที่หนักมาก แต่เมื่อดูรายละเอียดของกลุ่มผู้ป่วยพบว่า มีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการดูแลเร่งด่วนเพียงแค่กลุ่มแรกและกลุ่มที่สองรวมร้อยละ 32.75 เท่านั้น ที่เหลือเป็นผู้ป่วยทั่วไปที่เข้ารับบริการช่วงนอกเวลาราชการ ส่งผลทำให้มีภาระงานแผนกฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น สะท้อนให้เห็นปัญหาการจัดการที่ส่งผลต่อภาระงานแผนกฉุกเฉิน” ผู้จัดการสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ กล่าวและว่า เมื่อดูภาระงานเฉพาะแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ทำงานเฉลี่ย 300 ชั่วโมงต่อเดือน มากกว่าคนทำงานปกติซึ่งอยู่ที่ 176 ชั่วโมง หรือมากกว่า 1.7 เท่า

น.ส.นงลักษณ์ กล่าวว่า จากจำนวนแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินซึ่งปัจจุบันมี 306 คน หากต้องการให้ทำงานเพื่อครอบคลุมผู้ป่วยทั้ง 4 กลุ่มข้างต้น จะต้องการแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 1,252 คน แต่หากแยกภาระงานให้ดูแลแต่เฉพาะผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินเพียง 2 กลุ่มแรก จะต้องใช้แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 606 คน แต่ปัจจุบันเราผลิตได้เพียงปีละ 80 คน นั่นหมายความว่า ต้องใช้เวลาในการผลิตเพิ่มอย่างต่ำ 3-4 ปี ทำให้งานแผนกฉุกเฉินส่วนใหญ่พยาบาลเป็นคนดูแล
นอกจากนี้การกระจายแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปถึงร้อยละ 84.3 ที่เหลือร้อยละ 15.7 ทำงานในโรงพยาบาลชุมชน และเมื่อเปรียบเทียบพื้นที่ยังพบว่า แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินร้อยละ 60 ทำงานในเขต กทม.และปริมณฑล ส่วนร้อยละ 40 ที่เหลือกระจายไปยังจังหวัดต่างๆ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการกระจุกตัวของแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน 

ส่วนสาเหตุการกระจุกตัวไม่ต่างจากแพทย์ในสาขาอื่นๆ ทั้งการทำงานนอกเวลาในโรงพยาบาลเอกชน โอกาสในการศึกษาต่อ ความพร้อมของอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วย และภาระงาน นอกจากนี้ยังมีปัญหาค่าตอบแทน ซึ่งปกติในการอยู่เวรแพทย์สาขานี้จะได้ค่าเวรมากกว่าแพทย์ทั่วไป แต่ที่ผ่านมาโรงพยาบาลส่วนใหญ่ไม่สามารถจ่ายได้  

“ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขปัญหา โดยร่วมกับทางแพทยสภา กำหนดให้ผู้ที่เรียนแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินไม่ต้องใช้ทุน 3 ปี โดยให้ใช้ทุนเพียง 1 ปี เท่านั้น เพราะถือว่าเป็นสาขาที่ขาดแคลนมาก จึงต้องสร้างแรงจูงใจให้เรียน แต่ขณะเดียวกันต้องแก้ไขปัญหาการไหลออก ทั้งการเพิ่มค่าตอบแทน ลดภาระงาน รวมถึงการให้โอกาสศึกษาต่อ” ผู้จัดการสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ กล่าว

ขณะที่สถานการณ์ของพยาบาลประจำหน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉินนั้น น.ส.นงลักษณ์ กล่าวว่า ปัญหาที่พบไม่ต่างจากแพทย์ ซึ่งระบบต้องการพยาบาลเพิ่มเติมอีก 4,324 คน โดยพบว่าพยาบาลจบใหม่ที่เข้าทำงานในหน่วยเวชศาสตร์ฉุกเฉินกับที่ลาออกและขอย้ายแผนกมีจำนวนไม่ต่างกัน โดยเฉพาะในกลุ่มโรงพยาบาลชุมชนที่ค่อนข้างประสบปัญหา โดยแนวทางแก้ไขปัญหาจะเป็นการเพิ่มเวรทำงาน เพราะปล่อยให้คนขาดไม่ได้ แต่กลายเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับพยาบาลมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุผลอันดับหนึ่งของการขอย้ายหรือลาออกจากแผนก 

ขณะที่กลุ่มเจ้าหน้าที่เวชกิจฉุกเฉินที่เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นใหม่ มีปัญหาการขาดแคลนเช่นกัน ปัจจุบันมีเพียงแค่ 873 คนเท่านั้น แต่ยังต้องการอีก 2,367 คน แต่มีกำลังผลิตเพียงแต่ 150-280 คนต่อปี นอกจากนี้ยังมีปัญหาตำแหน่งบรรจุ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขไม่มีตำแหน่งนี้ เคยขอทาง ก.พ.แต่ไม่อนุมัติ ทำให้คนกลุ่มนี้อยู่ในสภาพลูกจ้างชั่วคราว หรือไม่ก็ต้องบรรจุเป็นพนักงานสาธารณสุขชุมชนที่มีความก้าวหน้า ส่งผลให้มีจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะออกจากระบบไป

อย่างไรก็ตามคนทำงานเวชกิจฉุกเฉินแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่จบมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 และเข้าศึกษาต่อเพื่อเป็นเวชกิจชุมชน คนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยพอใจในสถานะตนเอง และมองว่าสามารถก้าวหน้าได้มากกว่านี้ จึงมีการลาออกมาก ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเป็นการยกระดับจากบุคลากรที่เคยทำงานในโรงพยาบาล อย่าง ผู้ช่วยพยาบาล พนักงานเข็นเปล คนสวน  ต่างจะรู้สึกพอใจกับงาน เพราะเหมือนเป็นการยกสถานะขึ้น จึงทำงานในตำแหน่งนี้ได้นานและภาคภูมิใจ ที่ผ่านมาจึงมีโรงพยาบาลส่วนหนึ่งแก้ปัญหาการลาออกด้วยการส่งคนเหล่านี้เข้าอบรมเพื่อประจำหน่วยฉุกเฉินของโรงพยาบาล แต่ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขยังต้องแก้ไขปัญหาเพื่อให้อยู่ในระบบได้ ทั้งการบรรจุตำแหน่งที่ชัดเจน การให้โอกาสศึกษาต่อ การเพิ่มค่าตอบแทน เป็นต้น   

น.ส.นงลักษณ์ กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากรระบบฉุกเฉินในกลุ่มที่เป็นหน่วยเคลื่อนที่นั้น ที่ผ่านมามีการดึงองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและอาสาสมัครเข้าร่วม รวมไปถึงมูลนิธิต่างๆ เพื่อทำงานเป็นหน่วยฉุกเฉินเคลื่อนที่ในการนำส่งผู้ป่วย ซึ่งการพัฒนาระบบเริ่มจาก สปสช.ที่พัฒนาเรื่องนี้ด้วยการให้งบประมาณกับจท้องถิ่นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดระบบหน่วยฉุกเฉินนี้ และต่อมาได้โอนถ่ายภาระกิจให้กับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉฺ) ซึ่งได้ทำการพัฒนาระบบต่อ โดยอบรมคนที่เข้ามาทำงานในระบบ แต่ทั้งนี้ยังมีปัญหางบประมาณสนับสนุน และการดูแลบุคลากร ซึ่งทาง สพฉ.พยายามขอตำแหน่งเจ้าหน้าที่เวชกิจให้กับอาสาสมัครเหล่านี้โดยให้ขึ้นกับ อบต. ชึ่งจะทำให้คนเหล่านี้มีรายได้และสร้างความยั่งยืนให้กับระบบฉุกเฉิน เพราะเป็นหน่วยที่เข้ามาช่วยเสริมได้ดี

"งานการแพทย์ระบบฉุกเฉินต้องได้รับการแก้ไข โดยดำเนินการในหลายๆ ด้านร่วมกัน และการดึงท้องถิ่นเข้าร่วมถือเป็นทางออกหนึ่ง ส่วนการลดภาระงานนั้นทำได้ในกรณีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ด้วยการแยกผู้ป่วยนอกเวลาออกไปยังอีกแผนกหนึ่ง แต่ในโรงพยาบาลชุมชนมีข้อจำกัดทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ควรได้รับความสำคัญเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มากขึ้นในอนาคต"