เมื่อเทียบกับกระทรวงอื่นๆ แล้ว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถือว่ามีบุคลากรจำนวนมาก นั่นเพราะภาระงานที่จำเป็นต้องใช้กำลังคนเป็นหลัก ทว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กลับมีนโยบาย “แช่แข็ง” ตำแหน่งข้าราชการ
แน่นอนว่า สวนทางกับความต้องการบุคลากรด้านสาธารณสุขที่มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีการเสนอแนวคิดให้ สธ. ออกนอกระบบ ก.พ. เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารอัตรากำลังคน และสอดคล้องกับธรรมชาติของงานในระบบสุขภาพ
การประชุมวิชาการ การวิจัยระบบสุขภาพ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2557 ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในเวที “บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขจะได้อะไร เมื่อออกนอกระบบ ก.พ.” ได้อภิปรายประเมินข้อดี-ข้อเสีย เพื่อหาผลึกความคิดในการดำเนินนโยบายต่อไป
ดร.นงลักษณ์ พะไกยะ วิทยาลัยการสาธารณสุข จ.ขอนแก่น กล่าวถึงลักษณะเฉพาะของงานด้านสาธารณสุขว่า 1.มีความต้องการบุคลากรเพิ่มขึ้น แต่ใช้เทคโนโลยีทดแทนได้เพียงเล็กน้อย และในอนาคตจะมีผู้สูงอายุรวมถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะทำให้มีผู้ป่วยต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น
2.รัฐมีหน้าที่จัดระบบบริการให้ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะประชาชนในชนบท ซึ่ง สธ.ต้องจัดกำลังคนให้กระจายอย่างเท่าเทียม และเป็นความท้าทายว่าจะมีมาตรการอย่างไรที่จะดึงบุคลากรให้อยู่ในชนบท 3.ปัญหากำลังคนไหลออกจากชนบทเกิดขึ้นทุกปี
เมื่อมีข้อเสนอว่าให้ สธ.ออกจาก ก.พ.เพื่อให้บริหารระบบอัตรากำลังคนด้วยตัวเอง จึงมีการวิจัยและพบว่าข้อดีคือทุกวิชาชีพสามารถขึ้นเป็นผู้บริหารได้เท่ากัน มีความคล่องตัว ได้คนที่เข้าใจการทำงานสาธารณสุขมาบริหาร สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ความก้าวหน้าและมาตรการจูงใจของแต่ละวิชาชีพได้ ซึ่งจะลดความสูญเสียของบุคลากรจากชนบทไปอยู่ในเมือง หรือจากภาครัฐไปอยู่เอกชน
ขณะที่ข้อเสียคือจะสามารถจัดการความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพได้หรือไม่ เพราะปัจจุบัน สธ.มีบุคลากร 5 แสนคน เป็นข้าราชการ 31% นอกนั้นไม่ใช่ข้าราชการ รวมทั้งอาจเกิดระบบอุปถัมภ์ และอำนาจการจัดการอาจจะย้ายจาก ก.พ.มาอยู่กับวิชาชีพบางวิชาชีพ และสวนทางกับกระแสการกระจายอำนาจหรือไม่
นพ.ระวี สิริประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม สะท้อนปัญหาการทำงานในพื้นที่ว่า ขณะนี้สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่ในทางปฏิบัติไม่มีอัตรากำลัง เช่น นักกายภาพบำบัด จำเป็นต้องจ้างมาเป็นลูกจ้างชั่วคราวซึ่งก็ได้คนมาเล็กน้อย บางโรงพยาบาลมีนักกายภาพบำบัดคนเดียว ไม่เพียงพอกับความต้องการ เมื่อทำงานไประยะหนึ่งก็ถูกดูดไปอยู่ภาคเอกชน เมื่อมีคนไม่พอ คนที่ทำงานอยู่ก็มีภาระงานเพิ่มขึ้น เมื่อพลาดพลั้งเกิดปัญหาก็ถูกฟ้องร้อง
“เอาปัญหาง่ายๆ จะแก้ปัญหานักกายภาพบำบัดในจังหวัดอย่างไร ถ้าปัญหาเล็กๆ แค่นักกายภาพยังแก้ไม่ได้ จะไปแก้ปัญหาอื่นได้อย่างไร” นพ.ระวี ตั้งคำถาม และกล่าวอีกว่า ทุกคนทราบว่าหากให้เงินเดือนสูงก็ดึงดูดคนได้ แต่ในข้อเท็จจริงกลับทำไม่ได้ คือรู้วิธีแก้ปัญหาทุกอย่างแต่ทำไม่ได้ นั่นเพราะเรื่องเงินอยู่กับกรมบัญชีกลาง เรื่องคนอยู่กับ ก.พ. เรื่องพัสดุอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี
“ดังนั้นการแก้ปัญหาจำเป็นต้องให้คนในพื้นที่มีอำนาจบริหารจัดการในระดับหนึ่ง เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาของสธ.อย่างเดียว แต่เป็นปัญหาของประชาชนด้วย ถ้ายังมี ก.พ.อยู่ แล้วแก้ปัญหาให้กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ แล้วจะมีไปทำไม หรือถ้าจะอยู่กับ ก.พ. ก็ต้องช่วยแก้ปัญหาให้” นพ.ระวี ตั้งคำถามพร้อมเสนอทางออกในลักษณะแตกหัก
คุณหมอระวี ย้ำด้วยว่า ปัญหาเรื่องคนก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะให้บริการที่ดีแก่ประชนชนก็ต้องจัดการปัญหาอื่นๆ ด้วย เช่น เรื่องพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้าง เรื่องการเงินตอบแทนบุคลากร และต้องมีแผนการบริหารจัดการที่ดี ถ้าจะออกนอกระบบต้องการการออกแบบที่ดี ต้องศึกษาจากหน่วยงานที่ออกนอกระบบไปแล้วว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไร แล้วนำมาปรับใช้กับ สธ. อย่าไปซ้ำรอยความล้มเหลวที่เคยเกิดขึ้น
ด้าน นายอาวุธ วรรณวงศ์ อดีตรองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ให้ความเห็นว่า เรื่องออกหรือไม่ออกจาก ก.พ. มีการพูดกันตั้งแต่สมัยที่ตนเริ่มรับราชการในปี 2517 จนเกษียณอายุ ก็ยังไม่มีใครทำอะไรได้
“วันนี้ถ้าระบบใหม่ที่จะออกไป ทำให้มีความสุขมากขึ้น เชิญครับ แต่ถ้าออกไปแล้วทุกอย่างยังเหมือนเดิม เปลี่ยนทำไม เรากำลังพูดถึงระบบที่ใหญ่มาก ไม่ใช่มีแค่ ก.พ.อย่างเดียว ยังมีเรื่องการเงินและระเบียบพัสดุ ถ้าทุกอย่างจะเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยนพร้อมๆ กันทั้งหมด” นายอาวุธ ระบุ
อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังต้องใช้เวลาในการพูดคุยอีกระยะกว่าจะมีความชัดเจน แต่ในระยะสั้น ทาง สธ.ต้องทำอะไรมากกว่านี้เพื่อยกเครื่องระบบบริหารใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะต้องทำให้ทุกโรงพยาบาลมีอิสระในการบริหารจัดการตัวเอง รวมทั้งเรื่องระเบียบพัสดุที่ต้องคุยกับกรมบัญชีกลางเพื่อของดเว้นระเบียบบางอย่าง เพื่อความรวดเร็วในการให้บริการประชาชน
ขณะเดียวกัน อดีตรองเลขาธิการ ก.พ.ร. ยังให้ข้อเสนอแนะด้วยว่า การจะออกนอกระบบ ก.พ. ต้องมีการวางโรดแม็ปที่ชัดเจน เพราะเมื่อออกมา ทาง ก.พ.คงไม่ให้สิทธิอะไรติดมาด้วย สธ.ต้องคิดว่าสิ่งที่เคยได้จาก ก.พ. จะหาอะไรมาแทนจากไหน และถ้าเชื่อว่าสิ่งที่จะสร้างขึ้นมาใหม่มีความเสี่ยง จะรับได้หรือไม่
“โรดแม็ปในการออกนอกระบบคือการที่ท่านต้องตั้งต้นชีวิตใหม่ทั้งหมด ถ้าท่านออกโดยอนุโลมใช้ระเบียบเก่าของ ก.พ. ขอโทษนะครับ ออกมาทำซากอะไร” อดีตรองเลขาธิการ ก.พ.ร.กล่าวชัด
นายวราสิทธิ์ กาญจนสูตร ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า มีโอกาสได้เข้ามาร่วมงานกับ สวรส. โดยได้โจทย์ให้ศึกษาสภาพปัญหาการบริหารราชการและบริหารบุคลากรในระบบสุขภาพของกระทรวง มีทีมงานและที่ปรึกษาจาก ก.พ.ร. ร่วมทำงานด้วยกัน ซึ่งจากการศึกษางานที่เคยทำมาก่อนหน้านี้ สภาพปัญหาก็คล้ายกัน คืออยู่ที่ฝ่ายนโยบายว่าจะตัดสินใจให้ สธ. ออกนอกระบบเมื่อใด อย่างไร
“ที่ผ่านมามีหมออยู่ 2-3 คนที่พยายามผลักดันกฎหมาย ซึ่งน่าเสียดายว่าหากมีกระบวนการผลักดันที่เข้มแข็ง ในยุคที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีนโยบายคืนความสุข ก็อาจจะคืนความสุขให้บุคลากรทางการแพทย์ด้วยก็ได้” อดีตข้าราชการรายนี้ เชื่อเช่นนั้น
โจทย์การศึกษาอีกข้อคือการเปรียบเทียบการบริหารของหน่วยงานอื่นที่มีรูปแบบการบริหารเฉพาะด้วย ที่ใกล้เคียงคือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ มีคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ แต่ถ้าเป็นกระทรวงศึกษาธิการ มี พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มีระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ มีระเบียบข้าราชการครูบุคคลากร มีระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งหากเทียบกับ สธ. กฎหมายสุขภาพแห่งชาติ ไม่ใช่กฎหมายที่พูดถึงเรื่องการบริหารราชการ การบริหารบุคลากรยังเป็นไปตามปกติ ซึ่งในระบบของ ก.พ. ครึ่งหนึ่งเป็นข้าราชการ สธ. อีกครึ่งเป็นของกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ การจะออกจากระบบ ก.พ.ก็คงลำบากในการตัดสินใจ
อย่างไรก็ตาม ก.พ.เป็นคนดูระบบภาพรวมทั้งประเทศ จะไปตัดบทบาทคงไม่ได้ แม้แต่ตำรวจและครู ก.พ.ก็ยังต้องไปเกี่ยวข้องในการดูภาพรวมการบริหารบุคลากรให้เกิดความเป็นธรรม และหากติดตามข่าวจะมีการพูดถึงเรื่องเขตสุขภาพ ตัวเขตสุขภาพอาจเป็นทางออกอีกทางหนึ่งในการปรับปรุงกระบวนการบริหารของ สธ. ซึ่งหน่วยบริการสามารถบริหารงบประมาณได้เอง แม้ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคลเหมือนโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย
ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา กล่าวต่อไปว่า ในการศึกษาขั้นต่อไป จะดูเรื่องแนวคิดการจัดตั้งองค์กร สภาพปัญหาการบริหารราชการของ สธ. เทียบกับ กระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งก็ต้องรอดูผลการศึกษาว่าจะมีข้อเสนอแนะ และข้อเสนอในการการตรากฎหมายออกมาอย่างไร
- 2573 views