กรมควบคุมโรค ร่วมสำนักอนามัย กทม. ลงพื้นที่สอบสวนโรคเบื้องต้นเด็กนร.ป่วย “ไอกรน” รร.สาธิต มศว ปทุมวัน พบกว่า 20 ราย กำลังติดตามข้อมูลเพิ่มเติม เป็นการระบาดที่พบได้ ไม่ใช่ครั้งแรก อาการไม่รุนแรง แตกต่างจากการระบาดทางชายแดนใต้ จะคนละรูปแบบ ไม่แนะนำมาตรการปิดโรงเรียน
เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข พญ.จุไร วงค์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ประเด็นการสอบสวนโรคไอกรน หลังพบนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ป่วยจากโรคนี้เป็นคลัสเตอร์ในกรุงเทพมหานคร ว่า กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักอนามัย กทม. ร่วมกันไปสอบสวนโรค ซึ่งได้รับการแจ้งมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน แต่เคสมีตั้งแต่ปลายตุลาคม โดยกรณีนี้จะเป็นเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปีที่ 5 และ 6 แต่ปีที่ 5 จะมากที่สุด ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง โดยรวมมีผู้ป่วยประมาณ 20 ราย ขณะนี้กำลังสอบสวนโรคอยู่ว่า ติดจากไหน มีใครป่วยบ้าง ทั้งสอบสวนโรคทั้งโรงเรียน และบ้าน ทั้งนี้ มีบางส่วนแพร่เชื้อให้ในบ้าน แต่ไม่มาก ยังต้องติดตามต่อเนื่อง
ข้อแตกต่างไอกรนระบาดภาคใต้-กทม.
ผู้สื่อข่าวถามว่าโรคไอกรน ปกติจะพบในภาคใต้ เพราะอะไรถึงพบในพื้นที่กทม. พญ.จุไร กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องบอกว่า โรคไอกรน มี 2 Scenario ที่แตกต่างกัน อย่างเด็กโต ในโรงเรียน อาการไม่รุนแรง มีไข้ น้ำมูก ไปรักษาก็จะดีขึ้น เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ตอนเล็กๆ ได้วัคซีนมาก่อนแล้ว แต่จำเป็นต้องมีวัคซีนกระตุ้น หลังอายุ 10 ปีขึ้นไปภูมิคุ้มกันจะเริ่มตก ซึ่งเป็นทุกวัคซีน อย่างไรก็ตาม ภูมิคุ้มกันตกไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค แต่ร่างกายที่แข็งแรงจะมีภูมิคุ้มกันสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านโรค จึงพบว่าเด็กโตเมื่อป่วยแต่ไม่รุนแรง แต่กรณีทางชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปลายปี 2566 เจอเคสเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีลงมา โดยเฉพาะต่ำกว่า 6 เดือน จะมีความรุนแรงและเสียชีวิต เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้ได้รับเชื้อตั้งแต่อายุต่ำกว่า 3 เดือน ซึ่งติดจากคนรอบข้าง ดังนั้น ไอกรนจะรุนแรงในเด็กเล็ก และผู้มีโรคประจำตัว หอบหืด ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้สูงอายุ
พญ.จุไร กล่าวอีกว่า กรณีเด็กเล็กที่ป่วยไอกรนทางชายแดนใต้ เพราะไม่ได้รับวัคซีน ด้วยเหตุนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข จึงมีมาตรการให้หญิงตั้งครรภ์รับวัคซีนไอกรน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในแม่และผ่านไปยังบุตร เนื่องจากกว่าเด็กจะได้รับวัคซีนก็ 2 เดือน ซึ่งก่อนหน้านั้นก็มีความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ไอกรนในเด็กเล็กกับเด็กโตจึงแตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อเด็กเล็กได้รับวัคซีนไอกรน ก็ขอให้ไปรับตามที่กำหนด โดยไอกรนจะเป็นวัคซีนรวมกับคอตีบ กับบาดทะยัก ให้ตั้งแต่ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ขวบครึ่ง และกระตุ้นประมาณ 4 ขวบ ขณะนี้ยังพบไอกรน รวมถึงโรคอื่นๆ พบในเด็กโตด้วย จึงแนะนำว่าหลัง 10 ขวบขึ้นไป ขอให้ไปรับวัคซีนไอกรนกระตุ้นด้วยอีก 1 เข็ม ซึ่งเป็นวัคซีนรวม
สอบสวนหาสาเหตุเคสรร.สาธิตฯ
เมื่อถามว่ากรณีเคสที่พบในกรุงเทพฯ ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นหรือไม่ พญ.จุไร กล่าวว่า ต้องไปสอบสวนโรคอีกครั้ง แต่แม้ไม่ได้รับการกระตุ้น อาการป่วยก็ไม่หนัก อย่างไรก็ตาม หากได้รับการกระตุ้น ภูมิคุ้มกันก็จะขึ้นเร็ว กำจัดเชื้อได้เร็ว และลดการแพร่กระจาย
“สิ่งที่ต้องระวังคือ ไอกรนแพร่คนรอบข้างได้ เพราะจะไอมาก ไอจนจะแทบหยุดหายใจ และไอเป็นเวลานานเฉลี่ย 2 สัปดาห์ ทำให้แพร่เชื้อได้ แต่หากได้รับยารักษาถูกต้องภายใน 7 วันก็จะไม่แพร่ อย่าง 5 วันได้ยาปฏิชีวนะก็จะไม่แพร่เชื้อแล้ว ส่วนกรณีนี้ น่าจะเกี่ยวกับการเล่นกีฬา ซึ่งหากเด็กเริ่มไอ ขอให้พัก เพราะถ้าไปออกกำลังกายก็จะเสี่ยงแต่เชื้อได้” พญ.จุไร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้เรียกว่าเป็นการระบาดได้หรือไม่ พญ.จุไร กล่าวว่า ได้ เพราะมีเคสยืนยันกว่า 20 ราย และมีเคสเข้าข่ายอยู่ ซึ่งมีการพิจารณาให้ยา แต่ไม่จำเป็นต้องให้ยาทั้งโรงเรียน เราจะพิจารณาเฉพาะใกล้ชิด เนื่องจากเชื้อนี้จะอยู่ในสารคัดหลั่ง น้ำลาย กินข้าวร่วมกัน ไม่ใช้ช้อนกลาง
เมื่อถามว่า เป็นครั้งแรกของการพบระบาดในกทม.หรือไม่ พญ.จุไร กล่าวว่า อาจจะมีมานานแล้ว เพียงแต่ครั้งนี้ตรวจแล้วเจอ สิ่งสำคัญคือ เมื่อพบแล้วเราสามารถป้องกันการแพร่กระจาย และโรคนี้รักษาได้ โรคนี้แตกต่างตรงนี้แพร่เชื้อได้นาน ตลอดช่วงไอแพร่เชื้อได้ 2-3 สัปดาห์ แต่ไม่ต้องกังวล เพราะเมื่อพบก็รักษาได้แล้ว
ถามว่าเพราะอะไรถึงทราบว่าเด็กนักเรียนป่วยไอกรน พญ.จุไร กล่าวว่า เบื้องต้นทราบว่าเด็กมีอาการแล้วไปตรวจรพ.เอกชน มีการตรวจด้วย PCR ทำให้พบเชื้อ หลังจากนั้นจึงพบว่าเพื่อนในโรงเรียนเดียวกันป่วยด้วย แต่ต้องบอกว่าไม่ใช่คลัสเตอร์แรก มีมาก่อน เพียงแต่เราควบคุมได้ และใช้มาตรการสุขอนามัย ทั้งหยุดโรงเรียน คัดกรองที่โรงเรียน แยกเด็กป่วย หากคนป่วยไม่ไปโรงเรียนก็ไม่แพร่เชื้อ ยกเว้นในห้องป่วยยกห้องก็อาจต้องปิดชั้นเรียน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องปิดโรงเรียนหรือไม่ พญ.จุไร กล่าวว่า ปัจจุบันแนะนำการปิดโรงเรียนที่โรคมือ เท้า ปาก เพราะเชื้อไวรัสอยู่ในสิ่งแวดล้อม การปิดโรงเรียน เพื่อทำความสะอาดดกำจัดเชื้อ แต่ไอกรน จะมีมาตรการเหมือนโควิด เหมือนไข้หวัดใหญ่ เพราะเชื้ออยู่ที่คนต้องใส่หน้ากากอนามัย หรือคนไม่ป่วยหากไปอยู่ในสถานที่ปิดให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ สุขอนามัยส่วนบุคคล แต่การปิดโรงเรียน ก็อาจขึ้นกับโรงเรียน มีหลายปัจจัย ขึ้นกับพื้นที่ แต่มาตรการทางสาธารณสุขที่เน้นให้ปิดโรงเรียน จะเป็นโรคมือเท้าปาก หรือโรคอุจจาระร่วง เป็นต้น
“ขอให้อย่าวิตกกังวล ตระหนักก็เพียงพอ เพราะโรคนี้ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ มีมานานแล้ว เพียงแต่ตระหนัก อย่างเด็กเล็กควรรับวัคซีนตามกำหนด และขอย้ำผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ หากยิ่งป่วยโรคหอบหืดต้องระมัดระวังด้วยเช่นกัน และหญิงตั้งครรภ์ขอให้ไปฉีดวัคซีนไอกรนด้วย ซึ่งหากฝากครรภ์ แพทย์ก็จะแนะนำอยู่แล้ว” พญ.จุไร กล่าว
พญ.จุไร กล่าวอีกว่า ในเรื่องการให้วัคซีนของภาครัฐ ซึ่งเป็นวัคซีนรวมมีไอกรนด้วยนั้น กำหนดว่าต้องมากกว่าร้อยละ 90 ทุกพื้นที่จะป้องกันการระบาดได้ แต่พบว่าพื้นที่ที่มีการระบาดของไอกรนนั้น ความครอบคลุมของวัคซีนในเด็กเล็กที่ต้องได้รับตั้งแต่ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ขวบครึ่ง และกระตุ้นตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไป ต้องเกินร้อยละ 90 ทุกพื้นที่ ทุกตำบล ทุกอำเภอ หากจุดไหนเริ่มต่ำแสดงว่าเริ่มระบาด ซึ่งทางชายแดนภาคใต้การครอบคลุมของวัคซีนยังน้อย และยังมีโรคหัดด้วย ซึ่งเด็กเล็กๆ หาก 2 เดือน 4 เดือนไม่ได้รับก็จะพบไอกรนระบาดได้ และมีความรุนแรง เสียชีวิตได้ในเด็กเล็ก แต่เด็กโตมีประวัติรับวัคซีนอาจไม่เสี่ยงรุนแรงมาก เพียงแต่จะไปแพร่ระบาดผู้อื่น ซึ่งต้องระวังในกลุ่มเสี่ยง อย่างกลุ่ม 608 เป็นต้น
โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ในเรื่องการตรวจหาเชื้อไอกรนนั้น จะมีค่าใช้จ่ายสูง การเลือกตรวจจะเป็นกลุ่มเสี่ยง เด็กต่ำกว่า 1 ปี มีโรคประจำตัว ภูมิคุ้มกันบกพร่อม หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม อาการที่ผู้ปกครองสังเกตได้ คือ เบื้องต้นจะคล้ายหวัด มีอาการป่วย 2-3 วัน ขอให้พักอยู่บ้านก่อน จะได้ไม่แพร่เชื้อโรงเรียน และปัจจุบันมีชุดทดสอบจำหน่ายว่า เป็นโควิด ไข้หวัดใหญ่ หรือ RSV หากทดสอบแล้วทุกอย่างเป็นลบ และลูกไม่ได้มีไข้สูง วิ่งเล่นได้ จริงๆ พักผ่อนก็จะดีขึ้น แต่หากผ่านไปแล้ว 3-4 วันเริ่มไอมาก ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติว่า มีการป่วยที่โรงเรียนหรือไม่ หรือมีเพื่อนที่โรงเรียนป่วยหรือไม่ หรือเด็กมีโรคหอบหรือไม่ ซึ่งหากมีปัจจัยทางแพทย์จะตรวจหาเชื้อไอกรนด้วยวิธี PCR ต่อไป
- 936 views