กรมควบคุมโรค เผยต้นปีถึง 13 พ.ย.67 ป่วยไอกรน 1,290 ราย เสียชีวิต 2 ราย ชี้นโยบายให้วัคซีนต้องครอบคลุมกว่า 90% ของทุกพื้นที่ บางพื้นที่ยังไม่ถึง  ย้ำ! ผู้ปกครองพาลูกหลานรับวัคซีนตามกำหนด สำหรับเด็กเล็ก ต้องได้รับตั้งแต่ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ขวบครึ่ง และเข็มกระตุ้นตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไป สามารถเข้ารับวัคซีนฟรี ได้ที่ รพ.รัฐทั่วประเทศ

 

นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลกรณีพบการระบาดของ โรคไอกรน ในโรงเรียนย่านปทุมวัน  ว่า ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค กองระบาดวิทยา ได้ลงสอบสวนโรคร่วมกับสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) และสำนักงานเขตปทุมวัน เบื้องต้นพบว่า เด็กนักเรียนมีอาการป่วยจึงไปตรวจที่โรงพยาบาลแล้วยืนยันป่วยโรคไอกรน การสอบสวนโรคและค้นหาผู้ป่วยและผู้สัมผัสเพิ่มเติมพบว่าเพื่อนในโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน และกลุ่มที่มีกิจกรรมร่วมกัน มีอาการป่วยแต่มีอาการไม่รุนแรง

ทั้งนี้ สาเหตุของการแพร่ระบาด นักเรียนอยู่รวมในห้องแอร์ปรับอากาศ และทำกิจกรรมร่วมกัน ขณะนี้ทีมสอบสวนโรคติดตามพบผู้ป่วยและผู้สัมผัสใกล้ชิดที่ตรวจยืนยันพบเชื้อ รวมทั้งสิ้น 20 ราย ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตามและควบคุมโรคในกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดเพิ่มเติม

(ข่าว : คร.เผยผลสอบสวนโรค "เด็กนร.ป่วยไอกรน" กว่า 20 ราย ชี้อาการไม่รุนแรง ไม่แนะนำปิดโรงเรียน)

ทำความรู้จัก โรคไอกรน

สำหรับ โรคไอกรน เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบทางเดินหายใจ ที่พบมานานแล้ว ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ และมีวัคซีนป้องกัน โรคนี้สามารถติดต่อได้ผ่านการไอ จาม และการหายใจเอาละอองฝอยที่มีเชื้อเข้าไป มักพบการระบาดในสถานที่ที่มีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก เป็นต้น

โดยสถานการณ์ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 13 พฤศจิกายน 2567 จากระบบเฝ้าระวังโรคดิจิทัล กองระบาดวิทยา  (Digital Disease Surveillance: DDS) พบผู้ป่วย 1,290 ราย อัตราป่วย 44.74 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย อัตราป่วยตาย ร้อยละ 0.16 พบรายงานผู้ป่วยมากที่สุดในภาคใต้ โดยเฉพาะเขตสุขภาพที่ 12 จำนวน  1,066 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงที่สุด คือ ยะลา 575 ราย รองลงมา ได้แก่ ปัตตานี 199 ราย และนราธิวาส 198 ราย ตามลำดับ กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงที่สุด คือ 0 – 4 ปี จำนวน 795 ราย รองลงมา 5 – 9 ปี 144 ราย และ 10 – 14 ปี 42 ราย ตามลำดับ

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ป่วยที่น่าเป็นห่วงคือเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ที่อาจจะได้รับวัคซีนไม่ครบหรือภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรงพอ และกลุ่มผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากได้รับเชื้อจะมีอาการรุนแรง ส่วนกลุ่มเด็กโต และผู้ใหญ่ที่แข็งแรงดี ที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันไอกรน (รวมคอตีบ บาดทะยัก) ครบตามกำหนด ตั้งแต่ตอนเล็กๆ แล้ว หากป่วยอาการจะไม่รุนแรง มีไข้ น้ำมูก ไปรักษาก็จะดีขึ้น  อย่างไรก็ตามหลังอายุ 10 ปี ระดับภูมิคุ้มกันอาจเริ่มตกลง การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ก็จะช่วยลดความรุนแรงจากการป่วยได้

นโยบายให้วัคซีนไอกรนครอบคลุมกว่า 90% ของทุกพื้นที่  

พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ โฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายของกระทรวงสาธารณสุข สำหรับวัคซีนที่อยู่ในโปรแกรมของภาครัฐ (รวมไอกรน) เน้นความครอบคลุมการได้รับวัคซีน ในเด็กอายุ น้อยกว่า 5 ปี ต้องให้ได้มากกว่าร้อยละ 90 ของทุกพื้นที่ (ยกเว้นหัด เน้นความครอบคลุมมากกว่า ร้อยละ 95) ซึ่งจะสามารถป้องกันการระบาดได้ แต่ในขณะนี้พบว่าบ้างพื้นที่ที่มีการระบาดโรคไอกรน มีการฉีดวัคซีนยังไม่ครอบคลุม จึงขอเน้นย้ำผู้ปกครอง พาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนให้ครบตามกำหนด สำหรับเด็กเล็ก ต้องได้รับตั้งแต่ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน 1 ขวบครึ่ง และเข็มกระตุ้นตั้งแต่ 4 ขวบขึ้นไป สามารถพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนฟรี ได้ที่โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ สำหรับเด็กโต อายุมากกว่า 10 ขวบขึ้นไป และผู้ใหญ่สามารถพิจารณาการรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรับวัคซีนไอกรนในรูปแบบที่เหมาะสมกับอายุ ต่อไป

นอกจากวัคซีนแล้ว การป้องกันโรคไอกรนสามารถใช้วิธีปฏิบัติ เช่นเดียวกับการป้องกันโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจอื่นๆ ควรแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อแก่ผู้อื่นตามคำแนะนำของแพทย์ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อผ่านน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ในผู้สัมผัสผู้ป่วยไอกรน ควรไปรับคำปรึกษาจากแพทย์ เพื่อพิจารณาเรื่องยาป้องกันในผู้สัมผัสใกล้ชิดและมีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง และควรสังเกตติดตามอาการภายใน 3 สัปดาห์หลังสัมผัสโรค หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422