ราชกิจจาฯ เผยแพร่ประกาศ สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการในการบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล พ.ศ. 2567 ย้ำต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว มีความปลอดภัย มีมาตรฐาน ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามหลักการธรรมาภิบาล
เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2567 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ประกาศสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการในการบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล พ.ศ. 2567 ลงนามโดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สำหรับสาระสำคัญระบุว่า โดยที่สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีอํานาจหน้าที่ในการดําเนินการและให้บริการ ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข พัฒนาระบบฐานข้อมูล ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สารนิเทศและ การสื่อสารและการประชาสัมพันธ์ เพื่อใช้ในการบริหารงานและการบริการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ตามข้อ 2 (5) และ (2) แห่งกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567
ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อที่ผ่านมา สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นถึงความสําคัญในการให้บริการการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนผู้รับบริการ ด้วยการบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล ดังนั้น เพื่อให้การบริการการแพทย์และสาธารณสุข ทางไกลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว มีความปลอดภัย มีมาตรฐาน ตรวจสอบได้ และเป็นไปตามหลักการธรรมาภิบาล
ทั้งนี้ อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรฐาน การให้บริการของหน่วยบริการในการบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล พ.ศ. 2567
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 ในประกาศนี้ “การบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล” หมายความว่า การให้บริการการแพทย์ และสาธารณสุขของหน่วยบริการแก่ผู้รับบริการโดยผู้ให้บริการ ด้วยระบบการบริการการแพทย์และ สาธารณสุขทางไกล เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการปรึกษา การตรวจ การวินิจฉัย การรักษา การพยาบาล การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ และการฟื้นฟูสภาพร่างกาย และเพื่อประโยชน์ สําหรับการศึกษาต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
“ระบบการบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล” หมายความว่า ระบบงานที่มีการนําดิจิทัลมาใช้ในการบริการการแพทย์และการสาธารณสุขที่อยู่ต่างสถานที่ด้วยวิธีการส่งสัญญาณข้อมูลภาพและเสียงหรือวิธีการอื่นใด
“ข้อมูลการบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับบริการ การปรึกษา การตรวจ การวินิจฉัย การรักษา การพยาบาล การป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ และ การฟื้นฟูสภาพร่างกาย ที่ได้จากระบบการบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล
“หน่วยบริการ” หมายความว่า หน่วยบริการในสังกัดสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข “ผู้รับบริการ” หมายความว่า ผู้ขอรับบริการในหน่วยบริการตามประกาศนี้
“ผู้ให้บริการ” หมายความว่า ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ ผู้ประกอบโรคศิลปะ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพ การพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ประกอบ วิชาชีพกายภาพบําบัด ผู้ประกอบวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย
ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน หรือผู้ประกอบ วิชาชีพทางการแพทย์ และสาธารณสุขอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น และให้หมายความรวมถึงบุคคล ตามมาตรา 31 แห่งกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ
ข้อ 4 หน่วยบริการที่ประสงค์จะให้บริการโดยระบบการบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล ต้องจัดให้มีองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้
(1) จัดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพนั้น ๆ ในจํานวนที่เพียงพอต่อการบริการ การแพทย์และสาธารณสุขทางไกล โดยไม่กระทบต่อการให้บริการหลักภายในหน่วยบริการนั้น
(2) จัดให้มีการขึ้นทะเบียน ยืนยันตัวตนของผู้รับบริการ และผู้ให้บริการที่มีความรัดกุมของ ระบบความปลอดภัยในบัญชี มีระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตน และระดับความน่าเชื่อถือ ของการยืนยันตัวตนตามเกณฑ์มาตรฐานของสํานักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และสํานักงานพัฒนา รัฐบาลดิจิทัล หรือระดับความปลอดภัยที่สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขกําหนด
(3) จัดให้มีระบบเทคโนโลยี และเครื่องมือสื่อสารที่สามารถสื่อสารระหว่างผู้ให้บริการและ ผู้รับบริการได้อย่างชัดเจน เชื่อมโยงการพิสูจน์ยืนยันตัวตน การนัดหมายในหน่วยบริการได้อย่างเพียงพอเหมาะสมต่อการบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล
(4) จัดให้มีกระบวนการการพิสูจน์ยืนยันตัวตนก่อนดําเนินการบริการการแพทย์และสาธารณสุข ทางไกล ของผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ สามารถระบุหน้าที่การให้บริการและหน่วยบริการที่ให้บริการ
(5) จัดให้มีกระบวนการบันทึกข้อมูล วัน เวลาการให้บริการ รายงานผลการให้บริการ การตรวจสอบและการยืนยันกระบวนการการให้บริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกลทุกขั้นตอน ด้วยการบันทึกเสียง ภาพ ข้อความ หรือวิดีโอ และสามารถตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้ โดยให้ถือว่า งานที่บันทึกไว้เป็นงานสร้างสรรค์ของหน่วยบริการ
(6) จัดให้มีกระบวนการชี้แจงรายละเอียด ขั้นตอนปฏิบัติ ผลที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการ การแพทย์และสาธารณสุขทางไกลทุกด้าน ความเสี่ยงต่อการรับการบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล และกระบวนการบันทึกข้อมูลใน (5) แก่ผู้รับบริการทราบและได้รับความยินยอมจากผู้รับบริการก่อน การให้บริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล
(7) จัดให้มีเอกสารคู่มือ หรือแนวปฏิบัติ การดําเนินการในระบบการบริการการแพทย์ และสาธารณสุขทางไกล ตามแนวทางและมาตรฐานที่สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขกําหนด
(8) จัดให้มีการบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล รวมทั้งการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ ตามแนวทางและมาตรฐานภายใต้ประกาศนี้ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน
(9) จัดให้ผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต สามารถเข้าถึงระบบประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ ของสํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
(10) จัดให้มีมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศ และระบบจัดเก็บข้อมูล ระบบจัดการความเสี่ยงและการควบคุมความผิดพลาดทางเทคโนโลยีการสื่อสารตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
(11) จัดให้มีการควบคุมและดูแลผู้ให้บริการและบุคลากรอื่นในหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องกับ การบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพของตน และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ข้อ 5 การปรึกษาระหว่างผู้ให้บริการหรือบุคลากรสาธารณสุขโดยมิได้กระทําต่อผู้รับบริการไม่ถือว่าเป็นการบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกลตามประกาศนี้
ข้อ 6 ผู้ให้บริการต้องปฏิบัติหน้าที่การบริการการแพทย์และสาธารณสุขทางไกลในหน่วยบริการ ภายใต้ประกาศนี้
- 532 views