รร.นนทบุรีวิทยาลัย นำร่อง “โครงการห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์”แห่งแรก บริหารจัดการดูแลนักเรียนเจ็บป่วย รับการตรวจรักษาจากแพทย์ผ่าน “ระบบการแพทย์ทางไกล” บนแอปฯ Clicknic พร้อมจัดส่งยาถึงบ้านไม่เสียค่าใช้จ่าย ลดภาระครูไม่ต้องอยู่เวรห้องพยาบาล
วันที่ 3 พ.ค. 2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่โรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัย จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงาน “โครงการห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งเป็นการนำระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ของแอปพลิเคชัน Clicknic มาประยุกต์ใช้กับห้องพยาบาลในโรงเรียน เพื่อลดภาระครูในการเข้าเวรห้องพยาบาล และช่วยให้นักเรียนได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์โดยตรง
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า แม้ สปสช. จะดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลให้กับผู้มีสิทธิบัตรทอง รวมถึงนักเรียนที่ไม่มีสิทธิรักษาพยาบาลอื่น แต่การไปรับการรักษาที่สถานพยาบาบก็มีค่าเสียโอกาสอื่นๆ เช่น ค่าเดินทาง ต้องลางาน ลาเรียน เสียรายได้ที่ต้องหยุดงาน เป็นต้น ดังนั้น สปสช. มีนโยบายเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา ขณะเดียวกันก็ลดการเสียโอกาสต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งโรงเรียนก็เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่สำคัญ และจากสถิติพบว่าจะมีเด็กที่เจ็บป่วยในโรงเรียนประมาณ 1%
ทั้งนี้ ปกติทุกโรงเรียนมีห้องพยาบาลอยู่แล้วและมีครูคอยดูแลห้องพยาบาล ซึ่งครูเองก็มีภาระการเรียนการสอนและยังต้องมาอยู่เวรห้องพยาบาล แต่ด้วย “โครงการห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์” นอกจากลดภาระครูแล้ว ยังเป็นการยกระดับห้องพยาบาล ด้วยการนำระบบการแพทย์ทางไกลมาใช้ในการดูแลผ่านแอปพลิเคชันสุขภาพ ซึ่งภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีสิทธิประโยชน์ระบบการแพทย์ทางไกลนี้ ครอบคลุมการดูแล 42 กลุ่มอาการ เมื่อมีเด็กนักเรียนที่มีอาการเจ็บป่วยขึ้นก็สามารถพบแพทย์ได้โดยตรง สะดวก เร็วเร็ว ซึ่งโรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัยเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่นำร่องโครงการฯ นี้ หากได้ผลลัพธ์ที่ดี สปสช. อยากให้ที่นี่เป็นต้นแบบ และจะหารือกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อขยายผล นำไปใช้กับโรงเรียนในพื้นที่ กทม. ต่อไป
นายนีล นิลวิเชียร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คลิกนิกเฮลท์ จำกัด ผู้ให้บริการระบบการแพทย์ทางไกลผ่านแอปพลิเคชัน Clicknic กล่าวว่า ปัญหาของห้องพยาบาลในโรงเรียนคือ ครูประจำห้องพยาบาลอาจไม่มีขีดความสามารถด้านการดูแลสุขภาพเทียบเท่ากับบุคลากรทางการแพทย์ ขณะเดียวกันครูเองก็มีภาระงานการสอน เมื่อถึงช่วงพักก็ต้องมาเข้าเวรห้องพยาบาล ส่วนโรงเรียนเองก็มีค่าใช้จ่ายที่ต้องสำรองยาและเวชภัณฑ์ บริษัท คลิกนิกเฮลท์ จึงได้มีแนวคิดจัดทำ “โครงการห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์” และได้รับโอกาสจากผู้บริหารของโรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัย ในการนำระบบของ Clicknic มาให้การดูแลสุขภาพนักเรียนในโรงเรียน โดยมีพยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาลที่สามารถทำหัตถการได้มาประจำอยู่ในห้องพยาบาล โดยบริษัทจะดูแลเรื่องยาให้แก่โรงเรียน ซึ่งยาสามัญทั่วไปจะมีการจัดสำรองไว้ที่ห้องพยาบาล ส่วนยาที่แพทย์สั่งจ่ายในการตรวจรักษาผ่านระบบการแพทย์ทางไกล และต้องจ่ายโดยเภสัชกรก็จะจัดส่งให้เด็กนักเรียนถึงที่บ้าน
ข้อดีของการบริหารจัดการห้องพยาบาลในโรงเรียนรูปแบบคือ เด็กนักเรียนจะได้รับการดูแลโดยบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพ ได้พบแพทย์ผ่านระบบการแพทย์ทางไกลทุกครั้ง และได้รับการจ่ายยาพร้อมคำอธิบายการใช้ยาโดยเภสัชกร และมีพยาบาลหรือผู้ช่วยพยาบาลที่ทำหัตถการได้คอยให้บริการเบื้องต้น ขณะที่ครูจะลดภาระงาน มีเวลาพักมากขึ้น รวมทั้งโรงเรียนก็ไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายด้านยาเองต่อไป โดยนักเรียนที่มีสิทธิบัตรทอง ทาง Clicknic จะเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกับ สปสช. ภายใต้สิทธิประโยชน์การให้บริการผ่านระบบการแพทย์ทางไกล แต่ในส่วนนักเรียนที่ไม่ได้ใช้สิทธิบัตรทอง เช่น ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการของผู้ปกครอง ทาง Clicknic ก็จะให้บริการในรูปแบบเดียวกันและดำเนินการเบิกจ่ายตามสิทธิเช่นกัน
ด้าน นายศักดิ์นรินทร์ หนูทา รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานทั่วไป โรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัย กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและของคุณ สปสช. ที่ให้โรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัย เป็นต้นแบบของโครงการนี้ โรงเรียนมีนักเรียนกว่า 3,600 คน และมีเด็กมารับบริการที่ห้องพยาบาลทุกระยะ ที่ผ่านมาครูที่ดูแลห้องพยาบาลจะเป็นครูที่ได้รับการอบรมทางด้านสุขศึกษาซึ่งมีความรู้การดูแลในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดีศักยภาพในการดูแลไม่เทียบเท่าบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง เป็นเพียงการดูแลเบื้องต้น ซึ่งการบริหารจัดการภายใต้โครงการห้องพยาบาลอิเล็กทรอนิกส์จะทำให้นักเรียนได้รับการดูแล รวดเร็ว ทันท่วงที จากบุคลากรวิชาชีพทางการแพทย์ ขณะเดียวกันทำให้คุณครูที่ต้องผลัดเวรมาประจำห้องพยาบาลได้มีเวลาเพื่อเตรียมการสอนนักเรียนได้มากขึ้น ถือได้เป็นการ “คืนครูสู่ห้องเรียน” อีกทางหนึ่งด้วย
- 308 views