ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิดผลสำรวจบริการ “ระบบการแพทย์ทางไกล” ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง สุ่มตัวอย่างกลุ่มผู้ป่วยนอกและกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พึงพอใจในบริการและยินดีกลับมารับบริการซ้ำ ช่วยประหยัดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่าย พร้อมเสนอให้จัดบริการครอบคลุมทุกพื้นที่ และปรับปรุงกรณีรอพบแพทย์นาน เพิ่มรายการยาให้ครอบคลุม  

เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารมีความก้าวหน้า และส่วนหนึ่งในถูกนำมาใช้ในระบบบริการทางการแพทย์เพื่อพัฒนาศักยภาพการให้บริการ ซึ่ง สปสช. ได้มีนโยบายสนับสนุนให้หน่วยบริการนำ “ระบบบริการสาธารณสุขทางไกล” หรือ Telemedicine มาใช้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึง “บริการปฐมภูมิ” ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) และลดความแออัดของโรงพยาบาล โดยเริ่มต้นในปี 2564 ที่กำหนดสิทธิประโยชน์ให้บริการการแพทย์ทางไกลในผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายเก่าในหน่วยบริการที่มีอาการคงที่และควบคุมโรคได้ดี แต่ยังต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง 

ต่อมาในปี 2566 ได้ขยายการให้บริการการแพทย์ทางไกลในลักษณะผู้ป่วยนอกทั่วไป ผ่านแอปพลิเคชันสุขภาพดิจิทัล สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อย ครอบคลุม 42 กลุ่มโรคและอาการ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5 จังหวัด

นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากการให้บริการการแพทย์ทางไกล เพื่อเป็นการติดตามและประเมินผล ทาง สปสช. โดยสำนักบริการประชาชน ฝ่ายสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค และฝ่ายกำกับติดตามประเมินผล ได้ดำเนินการ “โครงการสำรวจความพึงพอใจผู้ป่วยที่ได้รับบริการการแพทย์ทางไกล” ดำเนินการโดยทำการสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่ใช้บริการการแพทย์ทางไกลด้วยวิธีการสัมภาษณ์โดยสายด่วน สปสช. 1330 ที่กระจายไปในทุกเขตและทุกกลุ่มโรคผู้ป่วย

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2565 – 18 ก.ย. 2566 เป็นการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่รับบริการการแพทย์ทางไกลในลักษณะผู้ป่วยนอก (OP Telemedicine) จำนวน 106 คน ที่รับบริการ 6 แอบพลิเคชันสุขภาพ ได้แก่ Clicknic, Mordee, เดอะโททอลเล่, Saluber MD, SYH และ Good doctor (ปัจจุบันยกเลิกบริการ) และช่วงระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2565 – 7 ก.ย. 2566 เป็นการสุ่มตัวอย่างการให้บริการการแพทย์ทางไกลในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (Tele follow up) จำนวน 111 คน ทั้งในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน ศูนย์สุขภาพชุมชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และโรงเรียนแพทย์ทุกสังกัด เป็นต้น 

 ในส่วนของผลสำรวจความพึงพอใจ เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ในกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยที่รับบริการการแพทย์ทางไกลในลักษณะผู้ป่วยนอก ภาพรวมอายุเฉลี่ย 40.5 ปี เป็นเพศหญิงร้อยละ 79.2 และเพศชายร้อยละ 22.8 ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่ไม่เคยใช้สิทธิบัตรทอง ร้อยละ 22.6 และส่วนใหญ่เป็นการรับบริการด้วยโรคทางเดินหายใจติดเชื้อเฉียบพลัน ร้อยละ 38.68 รองลงมาคือ ปวดตึงกล้ามเนื้อ ร้อยละ 20.75 และปวดศีรษะร้อยละ 9.43 ปวดกล้ามเนื้อจากการบาดเจ็บร้อยละ 5.66 ซึ่งผู้ป่วยร้อยละ 62 ให้คะแนนความพึงพอใจมากที่สุด ผู้ป่วยร้อยละ 34 ให้คะแนนพึงพอใจมาก ผู้ป่วยร้อยละ 5 ให้คะแนนพึงพอใจปานกลาง  และผู้ป่วยอีกร้อยละ 1 ให้คะแนนพึ่งพอใจน้อย 

ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่รับบริการการแพทย์ทางไกลในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พบว่า ภาพรวมมีอายุเฉลี่ย 57.4 ปี เป็นเพศหญิงร้อยละ 57 เพศชายร้อยละ 42.3 ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่รับบริการในโรงพยาบาลรัฐ ได้แก่ โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลยุพราช อยู่ที่ร้อยละ 52 โรงพยาบาลทั่วไป ร้อยละ 15 ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นการติดตามดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงร้อยละ 27 รองลงมาคือ เบาหวานร้อยละ 18 โรคทางเดินหายใจ ร้อยละ 5.41 เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยร้อยละ 72 ให้คะแนนความพึงพอใจมากที่สุด ผู้ป่วยร้อยละ 19 ให้คะแนนพึงพอใจมากและผู้ป่วยร้อยละ 9 ให้คะแนนพึงพอใจปานกลาง

นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับข้อคิดเห็นต่อระบบบริการการแพทย์ทางไกลของผู้ป่วย โดยในส่วนของเหตุผลทีทำให้มารับบริการนั้น ภาพรวมส่วนใหญ่ตอบว่ามีความสะดวก โดยกลุ่มผู้ป่วยนอกอยู่ที่ร้อยละ 66.9 กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอยู่ที่ร้อยละ 45.1, ประหยัดเวลา กลุ่มผู้ป่วยนอกร้อยละ 51.9 กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังร้อยละ 41.5, ประหยัดค่าใช้จ่าย กลุ่มผู้ป่วยนอกร้อยละ 24.6 กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังร้อยละ 16.3 และเจ้าหน้าที่ชวน กลุ่มผู้ป่วยนอกอร้อยละ 0.9 กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังร้อยละ 8.1 

ส่วนการรับบริการที่ได้พบแพทย์นั้น ทั้งกลุ่มผู้ป่วยนอกและกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างได้พบแพทย์ในสัดส่วนที่สูง คือที่ร้อยละ 73 และร้อยละ 65.1 และต่างยินดีที่จะกลับมารับบริการซ้ำ โดยกลุ่มผู้ป่วยนอกอยู่ที่ร้อยละ 85.8 และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอยู่ที่ร้อยละ 78.4 ทั้งนี้มีที่ตอบไม่ยินดีกลับมารับบริการน้อยมาก โดยกลุ่มผู้ป่วยนอกอยู่ที่ร้อยละ 6.6 และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังอยู่ที่ร้อยละ 9.9   

 “ส่วนข้อคำถามว่ารับทราบบริการนี้จากที่ใดนั้น ทั้ง 2 กลุ่มตัวอย่างมีคำตอบที่แตกต่างกัน โดยกลุ่มผู้ป่วยนอก ร้อยละ 68.2 รับทราบจากสื่อต่างๆ ที่ สปสช.ได้เผยแพร่ รองลงมารับทราบจากญาติ เจ้าหน้าที่ เพื่อน แพทย์ และอื่นๆ ส่วนกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังส่วนใหญ่ร้อยละ 45.9 รับทราบจากเจ้าหน้าที่ รองลงมารับทราบจากแพทย์ อื่นๆ และอาสาสมัครสาธารณสุข”นพ.จเด็จ กล่าว

 นอกจากนี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดการให้บริการระบบการแพทย์ทางไกล ยังได้สำรวจความคิดเห็นถึงข้อจำกัดในการับบริการการแพทย์ทางไกลและข้อเสนอแนะ โดยกลุ่มผู้ป่วยนอก ระบุว่า มีระยะเวลารอแพทย์นาน ต้องเข้ามารอคิวพบแพทย์, ให้เพิ่มบริการครอบคลุมทุกพื้นที่, ความครอบคลุมของยายังจำกัด สั่งจ่ายเฉพาะยาในบัญชียาหลัก จ่ายยาน้อย ไม่ครอบคลุมอาการ ไม่เพียงพอต้องไปซื้อเพิ่ม และระยะเวลาจัดส่งยานาน ควรมีทางเลือกอื่นนอกจากจัดส่งโดยไปรษณีย์ 

 ส่วนกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังนั้น ระบุว่า ระบบเครือข่ายไม่เสถียร ระบบแอบพลิเคชันใช้งานยาก ทำให้แพทย์ต้องใช้วิธีโทรศัพท์แทน, ติดต่อ รพ.ยาก กรณีที่ข้อสงสัยและต้องการสอบถามเพิ่มเติม, ให้บริการดีแต่ล่าช้า รอแพทย์นาน และอยากให้เพิ่มหน่วยบริการที่ให้บริการ ครอบคลุมทุกหน่วยบริการของรัฐ  

“จากผลสำรวจที่ปรากฏนี้ สะท้อนให้เห็นทิศทางบริการระบบการแพทย์ทางไกลที่เดินมาถูกทาง และประชาชนส่วนใหญ่ต่างพึงพอใจ ด้วยความสะดวก ทั้งยังประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย ส่วนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับมานี้ สปสช. จะนำไปวิเคราะห์ปัญหา และพัฒนาระบบบริการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นระบบบริการที่ตอบโจทย์ประชาชนและดียิ่งขึ้นต่อไป” นพ.จเด็จ กล่าว