สสส. เดินหน้าลดการบริโภคน้ำตาล หนุนผู้ผลิตปรับสูตรเครื่องดื่ม "หวานน้อย" ผสานความร่วมมือ รพ.จุฬาฯ-ภาคี พัฒนานวัตกรรมคลินิกเฉพาะทางดูแลผู้ป่วยเบาหวาน “C-Diabetes” พร้อม ชู แอปฯ 'Food Choice' - 'Healthier Logo' ตัวช่วยเลือกซื้ออาหารลดหวาน มัน เค็ม ป้องกันโรค NCDs
เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กรุงเทพฯ รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า วันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) เป็นอีกหนึ่งวันที่ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญ ปี 2567 รณรงค์ภายใต้แนวคิด : "Diabetes and Well-Being" เพื่อสร้างความตระหนักว่าผู้เป็นเบาหวานสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป และให้ประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพกายและใจของผู้เป็นเบาหวานให้สมบูรณ์ที่สุด
ปัจจุบันโรคเบาหวานนับเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยทั่วโลก สถิติจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า คนไทยทุกๆ 10 คน เป็นเบาหวาน 1 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากังวลและต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการป้องกันและควบคุมโรคนี้
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มีศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตาบอลิสม มีนวัตกรรมการรักษาที่ทันสมัย อาทิ การให้บริการ ในคลินิกเฉพาะทางภายใต้ชื่อ “C-Diabetes” ซึ่งให้การดูแลแบบองค์รวมสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เช่น การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแบบต่อเนื่อง การใช้ปั๊มอินซูลิน ช่วยให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมีความเสถียรและมีประสิทธิภาพ การให้คำปรึกษาเรื่องโภชนาการ การออกกำลังกาย และการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองได้อย่างมีคุณภาพ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ติดตามข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาด และ CUEZ endocrine” รศ.นพ.ฉันชาย กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า รูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้บางคนมีพฤติกรรมการกินอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ โดยเฉพาะการกินน้ำตาลเกินความจำเป็น ซึ่งมาจากเครื่องดื่มมากที่สุด รองลงมาคือ อาหาร และขนม เป็นต้นเหตุทำให้อ้วนลงพุง ไขมันเกาะผนังหลอดเลือดจนเกิดการอักเสบ หากสะสมเป็นเวลานานจะเสี่ยงป่วยกลุ่มโรค NCDs โดยเฉพาะโรคเบาหวาน
สสส. เดินหน้าลดการบริโภคน้ำตาลตั้งแต่ต้นทาง ร่วมกับ เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันมาตรการทางภาษีความหวาน ภายใต้ พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 ได้จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคสินค้าเสี่ยงต่อสุขภาพ สนับสนุนให้ผู้ผลิตปรับสูตรเครื่องดื่มที่หวานน้อย ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มปรับสูตรลดน้ำตาลเพิ่มขึ้น 35% ขณะที่ข้อมูลจากคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล พบการบริโภคน้ำตาลลดลงจาก 27 ช้อนชา/วัน ในปี 2560 เหลือ 25.2 ช้อนชา/วัน ในปี 2565 แม้ว่าแนวโน้มลดลง แต่ยังสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน กว่า 4 เท่า
“สสส. และภาคีเครือข่าย เร่งปรับการทำงานให้เข้มข้นควบคู่กับการรณรงค์สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องผ่านนวัตกรรมสนับสนุนการปรับพฤติกรรมสุขภาพ เช่น แอปพลิเคชัน Food Choice สแกนบาร์โค้ดบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร การทำงานเชิงระบบ เช่น เกณฑ์การรับรองผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพ (Healthier Logo) เป็นกติกากลางให้ภาคอุตสาหกรรมใช้รับรองผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มลดหวาน มัน เค็ม เกิดการผลักดันนโยบายลดการบริโภคหวานระดับชาติ เสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพในกลุ่มเด็กนักเรียน ขยายผลร้านกาแฟอ่อนหวาน โรงพยาบาลอ่อนหวาน โรงเรียนบูรณาการอ่อนหวาน กว่า 2,000 แห่ง ” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวและว่า
ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดหวาน ต้องทำควบคู่กับการลด ละ เลิกเหล้า บุหรี่ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันและลดเสี่ยงโรค NCDs ในระยะยาว
- 76 views