ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ ชี้ถึงเวลาการเปลี่ยนแปลงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มงบฯค่าต้นทุนผู้ป่วยใน-ผู้ป่วยนอก ปรับโครงสร้างสิทธิการรักษา ให้กลุ่มบัตรทองเดิมที่มีฐานะร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ คล้ายผู้ประกันตน ให้ สปสช.รับผิดชอบค่าใช้จ่าย การรักษานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือนอก fee schedule
ถึงเวลาการเปลี่ยนแปลงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
โครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทองเริ่มมาตั้งแต่ปี 2545 กำหนดให้คนไทยทุกคนมีสิทธิ ได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ โดยจัดให้มี "กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ ส่งเสริมให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิภาพ
"สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" หรือ "สิทธิบัตรทอง หรือสิทธิ 30 บาท" เป็นสิทธิตามกฎหมายที่รัฐบาลจัดให้คนไทยทุกคนตั้งแต่แรกเกิด และตลอดช่วงชีวิต (ไม่ใช่สิทธิเพื่อการสงเคราะห์เฉพาะกลุ่ม) ใครบ้างมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ?
- เด็กแรกเกิด ที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการจากบิดามารดา
- บุตรข้าราชการที่บรรลุนิติภาวะ (อายุ 20 ปีขึ้นไปหรือสมรส) และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ
- บุตรข้าราชการคนที่ 4 ขึ้นไป และไม่มีสิทธิประกันสุขภาพจากหน่วยงานรัฐ เช่น สิทธิข้าราชการคุ้มครองบุตรเพียง 3 คน
- ผู้ประกันตนที่ขาดการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม (หมดสิทธิประกันสังคม)
- ข้าราชการที่เกษียณอายุหรือออกจากราชการโดยมิได้รับบำนาญ
- ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และไม่ได้เป็นผู้ประกันตน
ในปัจจุบันงบประมาณที่รัฐจัดสรรมาให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแลประชากรไทยประมาณ 47 ล้านคน ซึ่งครม. อนุมัติงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 30 บาทรักษาทุกโรค ปี 2568 รวมวงเงิน 2.35 แสนล้านบาท งบเหมาจ่ายรายหัวทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 3,844.55 บาท/คน อย่างไรก็ตามเราจะเห็นในข่าวและสื่อสังคมออนไลน์ที่โรงพยาบาลต่างๆ ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลของโรงเรียนแพทย์ ว่าการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจาก สปสช.นั้นทำได้ต่ำกว่าที่ควรจะได้รับ อัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน (IPD) ที่ สปสช. จ่ายให้กับโรงพยาบาลต่ง ๆต่อ 1 adjRW ก็สูงสุดไม่เกิน 8350 บาท และในช่วง 3 เดือนหลังของปี 2567 ลดลงมาเหลือ 7000 บาทต่อ 1 adjRW เพราะงบประมาณที่ได้รับมาไม่เพียงพอ
ในปี 2567 นี้ ทาง สวรส. ได้ทำการศึกษาต้นทุนของโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลทั่วไป พบว่าค่าต้นทุนต่อ 1 adjRW ประมาณ 13,000 บาท โรงพยาบาลศูนย์อยู่ที่ประมาณ 17,000 บาท ดังนั้นการที่ สปสช. ก็ยังกำหนดค่าตอบแทนในการจ่ายให้ รพ. ต่างๆ ในปี 2568 เท่าเดิม คือ 8350 บาท นั้นหมายความว่าแต่ละโรงพยาบาลก็ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงกว่ารายรับที่ได้ หรือพูดง่ายๆ ว่าขาดทุนอย่างแน่นอน เมื่อถึงจุดนี้ผมอยากให้ผู้มีอำนาจทั้งหลายในการออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพและระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ตลอดจนนักการเมืองผู้ที่มีส่วนในการออกนโยบายด้านสาธารณสุขได้ลองทบทวนและต้องปฏิรูปกันใหม่ เพราะถ้ายังทำตามแบบเดิมที่ผ่านมา 22 ปี ผมเชื่อว่า รพ.ต่างๆ ก็จะไม่สามารถรับภาระด้านงบประมาณต่อไปได้ ทุก รพ. คงหาแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างประหยัดที่สุด และอาจไม่มียาให้ใช้ตามที่ควรต้องได้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจมากเกินกว่าที่คิดไว้มาก
ผมเองเริ่มทำงานเป็นหมอตั้งแต่ ปี 2533 ก่อนที่จะมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็เคยเห็นความลำบากของผู้ป่วยที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่ควรได้รับ บางครอบครัวต้องล้มละลาย ขายวัวควายที่นามารักษา ดังนั้นผมก้ไม่อยากให้เกิดปัญหาแบบนั้น เพราะระบบสุขภาพของเราก็เดินหน้ามาไกล มีการพัฒนามาอย่างดีและต่อเนื่องจนเป็นระบบสุขภาพที่ดีประเทศหนึ่งในโลก ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ แต่ถ้ารัฐบาลยังไม่รีบแก้ปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่องของโรงพยาบาลต่างๆ โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีการรักษาด้วย hi-technology จะประสบปัญหาขาดทุนมากยิ่งขึ้น เพราะมีค่าต้นทุนต่อ 1 adjRW ที่สูง ดังนั้นผมจึงอยากเสนอแนวทางการแก้ไข ดังนี้
1. การเพิ่มงบประมาณให้เพียงพอต่อค่าต้นทุนผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลแต่ละระดับ ซึ่งทำได้ยาก เพราะงบประมาณของประเทศในแต่ละปีก็มีจำกัด จึงเสนอแนวทางที่ 2 ดังนี้
2. การปรับโครงสร้างของประชาชนตามสิทธิการรักษาจากปัจจุบันมี 3 ส่วน คือ สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ ปรับเปลี่ยนเป็น 4 ส่วน คือ 1. ประชาชนสิทธิบัตรทอง ได้แก่ ประชาชนที่ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย มีฐานะยากจน ไม่มีรายได้ที่แน่นอน เด็ก ผู้สูงอายุ 2. ผู้ที่มีรายได้สูงขึ้นแต่ไม่ได้มีสิทธิประกันสังคม หรือข้าราชการ เช่น เจ้าของกิจการ ร้านค้าต่างๆ มีรายได้แน่นอน มีการเสียภาษี กลุ่มนี้อาจต้องใช้แนวทางคล้ายกับประกันสังคมโดยมีการส่งค่ารักษาพยาบาลให้หน่วยงานของรัฐที่ดูแลเรื่องนี้ 3. สิทธิประกันสังคม และ 4. สิทธิข้าราชการ ซึ่งในกลุ่มที่ 3 และ 4 คือคงเดิม
เมื่อปรับโครงสร้างใหม่ก็จะมีงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่เพิ่มขึ้นมาจ่ายให้โรงพยาบาลต่างๆ เพราะจำนวนประชากรในกลุ่มบัตรทองมีจำนวนที่ลดลง และยังคงหลักการของหลักประกันสุขภาพคือประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการรักษาได้ ที่ต่างจากเดิม คือ กลุ่มบัตรทองเดิมที่มีฐานะทางการเงินไม่ขัดสน ร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ คล้ายผู้ประกันตน เนื่องจากมีงานประทำ มีรายได้เหมือนกัน เพียงแต่ไม่ใช่รูปบริษัท หรือโรงงานตามแนวทางของประกันสังคม ซึ่งรายละเอียดการจ่ายค่ารักษาพยาบาลต้องไปศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเหมาะสมมากที่สุด (ผมเพียงเสนอหลักการเบื้องต้นเท่านั้น) หรือถ้าไม่มีการจ่ายให้หน่วยงานของรัฐ ก็ต้องให้ประชาชนกลุ่มนี้ทำประกันสุขภาพทุกคน เพื่อให้มีหลักประกันว่าถ้าเจ็บป่วยจะได้รับการรักษาตามสิทธิพื้นฐานที่คนไทยทุกคนควรได้รับ
3. การกำหนดให้ชัดเจนในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า การรักษาใดๆ ที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือนอกรายการ fee schedule ทาง สปสช.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าวแทนประชาชน แล้ว สปสช. ก็มีแนวทางการตรวจสอบถึงความเหมาะสมว่าโรงพยาบาลได้ปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสมหรือไม่
ผมเชื่อมั่นว่าแนวทางในข้อ 2 และ 3 น่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหางบประมาณที่ไม่เพียงพอของ สปสช. โดยที่ประชาชนยังได้รับการรักษาที่เป็นไปตามมาตรฐาน ระบบหลักประกันสุขภาพก็ยังเดินหน้าไปได้แบบเดิม และมีความมั่นคงมากขึ้น ประชาชนได้รับการรักษาที่ดีขึ้น
- 190 views