เลขาธิการสปสช. รับคณะทำงานศึกษาหลังเปลี่ยนนโยบาย “ล้างไต” ก่อนหน้านี้จาก “ล้างไตทางช่องท้องทางเลือกแรก” เป็น”ล้างไตด้วยวิธีใดก็ได้” ทำให้เคสฟอกเลือดสูง ผู้ป่วยเพิ่ม อัตราเสียชีวิตพุ่ง! เตรียมเสนอเข้าบอร์ดสปสช. 4 พ.ย.หาทางปรับระบบ ไม่ใช่เปลี่ยนนโยบายกลับไปกลับมา ยืนยันหลักการต้องให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการจำเป็นที่มีคุณภาพและมาตรฐาน
ตามที่ Hfocus ได้นำเสนอผลการศึกษาของคณะทำงานพัฒนานโยบายการล้างไต ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สรุปผลการติดตามหลังเปลี่ยนนโยบายรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จากเดิม “ล้างไตทางช่องท้องทางเลือกแรก” เป็น “ล้างไตด้วยวิธีใดก็ได้” พบว่า ทำผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยการฟอกเลือด(HD) มากขึ้น อัตราเสียชีวิตสูงจาก HD ภายใน 90 วันอย่างมีนัยสำคัญ ภาระงบประมาณพุ่ง 1.6 หมื่นล้านบาท มิหนำซ้ำมีแรงจูงใจค่าตอบแทนอายุรแพทย์โรคไตเกี่ยวข้อง โดยเตรียมเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) เปลี่ยนนโยบายใหม่ 4 พ.ย.นี้
(อ่านผลศึกษา : คณะทำงานฯสรุปนโยบาย “ล้างไตด้วยวิธีใดก็ได้” พบข้อเสียเพียบ! ชงบอร์ด สปสช. 4 พ.ย.)
ล่าสุดวันที่ 1 พฤศจิกายน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีย เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า สปสช. ยืนยันว่า ต้องเพิ่มการเขาถึงบริการให้กับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการทดแทนไต เนื่องจากไตวายระยะสุดท้าย ตั้งแต่มีนโยบายเรื่องการล้างไตที่ให้สิทธิการรักษาอื่นๆได้ เพราะบางคนอาจต้องล้างไตทางช่องท้อง หรือล้างทางเส้นเลือด แต่จากการดำเนินการระยะหนึ่ง พบว่า ผู้ป่วยล้างทางเส้นเลือด (ฟอกเลือด) มากกว่าล้างทางช่องท้อง ซึ่งการล้างไตผ่านช่องท้องกลับลดลง และยังพบว่า ผู้ป่วยที่ล้างทางเส้นเลือดเสียชีวิตสูง ซึ่งงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น
“เราพยายามดูว่า จะมีอะไรปรับระบบให้ดีขึ้น ไม่อยากจะบอกว่า เปลี่ยนนโยบายกลับไปกลับมา ซึ่งคณะทำงานฯที่ไปศึกษาจึงเห็นว่าควรดูเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน แต่ยังคงยืนยันว่า การเข้าถึงบริการของผู้ป่วยเป็นเรื่องของความจำเป็น อย่างตอนที่เปลี่ยนนโยบาย มีคนประมาณ 6.9 พันคน เมื่อบังคับให้ล้างไตโดยวิธีที่ไม่ประสงค์ เขาก็ไปจ่ายเงินเอง จึงยืนยันหลักการให้ผู้ป่วยได้เข้ารับบริการที่มีความจำเป็น แต่คงไว้ซึ่งคุณภาพและมาตรฐาน ว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น และจะแก้ไขอย่างไร” นพ.จเด็จกล่าว
เลขาธิการสปสช.กล่าวอีกว่า ต้องบอกว่าไม่มีใครสบายใจที่ล้างไตเยอะแยะ และเสียชีวิตมาก แต่เพราะตัวเลขที่ศึกษาบอกเช่นนั้น ซึ่งขอไปดูรายละเอียด สาเหตุ ที่อาจเพราะสภาพผู้ป่วย หรือเป็นเพราะระบบที่จัดไม่ดีพอหรือไม่ จึงจำเป็นต้องนำเข้าบอร์ดสปสช. เพื่อดูและศึกษาเพิ่มเติม แต่เราก็พบว่าตอนนี้มีเทคโนโลยีใหม่ๆในการล้างไตทางช่องท้อง ผ่าน เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (Automate peritoneal dialysis)
“ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ จะมีการนำเสนอเข้าบอร์ดสปสช. จะนำผลการศึกษาของคณะทำงานชุดนี้ไปรายงานว่าเกิดปัญหา พบจำนวนผู้ป่วยมาก และเสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งต้องมีมาตรการในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ป้องกันเคสใหม่เพิ่มขึ้น หรือมีแล้วจะคัดกรอง จัดระบบอย่างไรให้เหมาะสมกับผู้ป่วย ซึ่งอยากให้มองในแง่ดีว่า เรากำลังจะพัฒนาระบบ ไม่ใช่เปลี่ยนนโยบายกลับไปกลับมา เมื่อเห็นปัญหาก็มาดูแล” นพ.จเด็จกล่าว
- 346 views