"ผศ.นพ.สุรศักดิ์" ประธานเครือข่ายลดบริโภคเข็ม เผย “การล้างไตทางช่องท้อง” อาจพบอัตราเสียชีวิตสูง! เหตุเสี่ยงโรคติดเชื้อ-โรคหัวใจ แต่ถ้าผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานทั้ง 2 วิธี ผลรักษาอาจไม่ต่างกัน ชี้ถ้าเป็นไปได้ผ่าตัดเปลี่ยนไตดีที่สุด พร้อมแนะปชช. ลดเค็ม-ลดอาหารกึ่งสำเร็จรูป-เครื่องแกง และอย่าซื้อยากินเองควรปรึกษาแพทย์ก่อน ช่วยลดการเกิดโรคไต
ตามที่ Hfocus ได้นำเสนอผลการศึกษาของคณะทำงานพัฒนานโยบายการล้างไต ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สรุปผลการติดตามหลังเปลี่ยนนโยบายรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จากเดิม “ล้างไตทางช่องท้องทางเลือกแรก” เป็น “ล้างไตด้วยวิธีใดก็ได้” พบว่า ทำผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาด้วยการฟอกเลือด(HD) มากขึ้น อัตราเสียชีวิตสูงจาก HD ภายใน 90 วันอย่างมีนัยสำคัญ ภาระงบประมาณพุ่ง 1.6 หมื่นล้านบาท มิหนำซ้ำมีแรงจูงใจค่าตอบแทนอายุรแพทย์โรคไตเกี่ยวข้อง โดยเตรียมเสนอคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) เปลี่ยนนโยบายใหม่ 4 พ.ย.นี้
(อ่านผลศึกษา : คณะทำงานฯสรุปนโยบาย “ล้างไตด้วยวิธีใดก็ได้” พบข้อเสียเพียบ! ชงบอร์ด สปสช. 4 พ.ย.)
ล่าสุด 4 พ.ย. 2567 ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเข็ม เปิดเผยกับ Hfocus ถึงประเด็นดังกล่าวว่า มองว่าผู้ป่วยบางคนที่เริ่มการฟอกเลือดช้าเกินไป เริ่มเข้าสู่การรักษาช้าเกินไป เช่น ผู้ป่วยอาการยังไม่มากก็ยังปฏิเสธอยู่จนกระทั่งรอจนอาการป่วยมากแล้วก็พบว่าสายเกินไปแล้ว ซึ่งในอดีตคนไข้กลุ่มนี้ถ้าเลือกล้างไตทางช่องท้องเป็นอันดับแรก ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตจาก โรคติดเชื้อ โรคหัวใจ อื่นๆ ซึ่งในอดีตประมาณสัก 5 ปีที่แล้ว พบว่าจะเสียชีวิตสูงกว่าคนไข้ที่ฟอกเลือด รวมถึงคนไข้กลุ่มนี้เมื่อมีอาการเขามากแล้วจะมีโรคประจําตัวเยอะ แล้วก็สุขภาพร่างกายทรุดโทรมมาก หรือการรักษาสายเกินไปก็ทําให้เป็นสาเหตุเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
"อันนี้อาจจะเป็นเพราะว่าการเข้าถึงการรักษาช้าเกินไป แล้วคนไข้หรือญาติก็มักจะเลือกการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เพราะว่าง่ายแล้วคนไข้ก็ไม่ต้องรับผิดชอบ ก็คือส่งคนไข้ไปที่โรงพยาบาล พยาบาลไปเคลียกับหมอก็จะทําการล้างไตให้แล้วก็กลับมาบ้าน ไม่ต้องมาเตรียมการล้างไตเอง เพราะฉะนั้นกลุ่มนี้ก็จะเข้าสู่การรักษาด้วยเครื่องฟอกเลือดไตเทียม ก็อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งทําให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้เพิ่มขึ้น" ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่านโยบายล้างไตที่จะมีการเสนอเข้าบอร์ดสปสช. 4 พ.ย.นี้ มองว่าควรออกมาทิศทางใด เพื่อประโยชน์ผู้ป่วยมากที่สุด... ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่า 1. ผู้ป่วยควรจะได้รับข้อมูลการรักษาทั้งวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ล้างไตทางช่องท้อง หรือแม้กระทั่งการปลูกถ่ายไต ตั้งแต่เป็นโรคไตระยะที่ 4 ก็คืออาการยังไม่มาก มีอาการเล็กน้อย อ่อนเพลียนิดหน่อย แต่ว่ายังไม่ถึงกับอาการแย่มาก เพราะฉะนั้นระยะที่ 4 ต้องได้รับข้อมูลอย่างถูกต้องว่าถ้าเปลี่ยนไตได้ก็ไปผ่าตัดไตหรือว่าเปลี่ยนไตอันนี้ดีที่สุด คนไข้จะกลับไปทํางานได้ แล้วก็มีชีวิตเหมือนคนคนปกติ 2. คือคนไข้ก็ต้องเลือกระหว่างฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือ ล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน อันนี้แพทย์ต้องดูว่าทีมบุคลากรก็ต้องให้ข้อมูล เช่น การล้างไตทางช่องท้องต้องทําเองที่บ้าน อาจจะมีเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ กลางคืนจะทําให้สะดวกมากขึ้น
ส่วนวิธีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม คนไข้บางคนไม่สามารถทําเองที่บ้านได้ก็มาทําที่โรงพยาบาล อย่างอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 4 ชั่วโมง อันนี้คนไข้ก็จะสะดวกขึ้น ถ้าท่านเป็นหน่วยไตเทียมใกล้บ้าน เพราะว่ามันต้องเดินทางมาอาทิตย์นึง 3 วันมาที่โรงพยาบาลหรือมาที่หน่วยไตเทียม ซึ่งถ้าคนไข้อยู่ในชุมชนที่มีโรงพยาบาลชุมชนหรือว่ามีศูนย์ใกล้บ้านกก็จะสะดวก ซึ่งอยากจะให้มีการเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ อย่ารอให้เป็นมากแล้วค่อยมาทํา
"มองว่าถ้าเกิดทําแบบนี้ เริ่มต้นการรักษาผมคิดว่าไม่แตกต่างกัน เพราะว่าข้อมูลทั่วไปแล้วทุกประเทศก็คือการรักษาด้วยเครื่องฟอกเลือด ด้วยเครื่องไตเทียมหรือว่าล้างไตทางช่องท้อง ผลการรักษาดีเท่ากัน ขึ้นอยู่กับคนไข้แล้วขึ้นอยู่กับสภาพสิ่งแวดล้อม มีญาติพี่น้องดูแลหรือไม่ หรือว่าการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมนั้นมีมาตรฐานมากน้อยแค่ไหน ถ้าเกิดทําได้มาตรฐานทั้งสองวิธี และผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างถูกต้อง ถูกเวลา มองว่าผลการรักษาจะเท่าเทียมกัน แต่ถ้าเป็นไปได้คือผ่าตัดเปลี่ยนไตจะดีที่สุด" ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า "วิธีชะลอหรือว่าป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตอันนี้สําคัญที่สุดป้องกันดีกว่ารักษาเพราะว่ารักษามันไม่หาย" เพราะฉะนั้นอยากให้ประชาชนกินเค็มให้น้อยที่สุด เพราะว่ากินเค็มมากมันทําให้ไตเสื่อมเร็ว แล้วก็เป็นสาเหตุทําให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งก็จะนําไปสู่โรคไต โรคหัวใจ เรื่องของการกินเค็ม เครื่องปรุงต่างๆ อาหารสําเร็จรูป บะหมี่สําเร็จ ขนมกรุบกรอบ อาหารที่รสชาติจัด รวมทั้งเครื่องแกง อย่าง แกงจืด แกงเขียวหวาน แกงเผ็ด ต้องทานน้ำซุปน้อยๆ อันนี้ก็เป็นวิธีที่สําคัญ
อีกทั้ง อย่าซื้อยากินเองที่ไม่จําเป็น กินยาเท่าที่จําเป็น โดยเป็นยาที่แพทย์แนะนําจะดีที่สุด โดยเฉพาะยาที่กินติดต่อกันต่อเนื่องเป็นปีกินไม่ได้ต้องปรึกษาแพทย์ก่อน รวมทั้งอาหารเสริม สมุนไพร ยาชุด ยาหม้อต่างๆ ไม่มีข้อมูลรักษาโรคไตได้อย่าไปซื้อยามากินเอง ไม่ว่าจะเป็นยาไทย ยาจีน หรือยาฝรั่งก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรจะปลอดภัยที่สุด
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง
- เลขาฯสปสช. ชงผลศึกษาปรับนโยบาย “ล้างไต” ใหม่เข้าบอร์ด สปสช.4 พ.ย.นี้
- 279 views