สปสช.ย้ำ การล้างไตทางหน้าท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) เป็นสิทธิในระบบบัตรทอง ผู้ป่วยใช้สิทธิได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย มีข้อดีคือล้างไตเพียงวันละ 1 ครั้งระหว่างนอนหลับ ทำให้ออกไปใช้ชีวิตช่วงกลางวันได้อย่างสะดวก เล็งเพิ่มหน่วยบริการภาคเอกชนในพื้นที่ กทม. หลังจำนวนผู้ใช้เครื่อง APD ยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2567 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ สปสช. ได้จัดบริการบริการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (Automated peritoneal dialysis : APD) มาตั้งแต่ปี 2564 พบว่า แนวโน้มผู้ป่วยที่ล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จาก 380 รายในปี 2564 เป็น 4,649 ราย ในปี 2567 คิดเป็น 5.26% ของผู้ป่วยล้างไตทางหน้าท้องทั้งหมด
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การล้างไตด้วยเครื่อง APD ต่างจากการล้างไตทางหน้าท้องด้วยตัวเอง (CAPD) ตรงที่ CAPD จะมีรอบการล้างเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 รอบ/วัน และต้องเปลี่ยนน้ำยาล้างไตทุก 4-6 ชั่วโมง ส่วนการล้างไตด้วยเครื่อง APD จะล้างเพียง 1 ครั้งต่อวันโดยใช้เวลา 8-12 ชั่วโมง โดยสามารถเปิดให้เครื่องทำงานขณะนอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืน จึงเหมาะกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และวัยทำงาน ทำให้ผู้ป่วยสามารถออกไปใช้ชีวิตประจำวันหรือออกไปทำงานในตอนกลางวันถึงช่วงเย็นได้สะดวกและไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว รวมถึงผู้สูงอายุที่จะช่วยให้พักผ่อนได้มากขึ้นด้วย
"การล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่อง APD เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธินี้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ยืมเครื่อง APD ไปใช้ได้ที่บ้าน และมีน้ำยาล้างไตจัดส่งถึงบ้านด้วย ซึ่ง สปสช.มีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ป่วยใช้เครื่อง APD เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวิต เพราะเป็นการใช้กำลังของเครื่องแทนกำลังของคนในการดันน้ำยาเข้าไปในช่องท้องของผู้ป่วย เพื่อแลกเปลี่ยนน้ำยาล้างไตกับของเสียจากร่างกายได้อย่างอัตโนมัติ ใช้เวลา 8-10 ชั่วโมงต่อครั้ง ทำให้ระบายของเสียได้มาก และยังทำช่วงกลางคืนขณะนอนหลับเพื่อความสะดวก ทำให้ผู้ป่วยออกไปใช้ชีวิตในช่วงเวลากลางวันได้อย่างปกติ ก่อเกิดความสะดวกในการใช้ชีวิตทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล" นพ.จเด็จ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ใช้เครื่อง APD สูงสุดได้แก่ เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 624 ราย รองลงมาเป็น เขต 10 อุบลราชธานี จำนวน 456 ราย เขต 5 ราชบุรี 363 ราย เขต 4 สระบุรี 273 ราย และเขต 8 อุดรธานี 247 ราย อย่างไรก็ดี ในพื้นที่ กทม. พบว่าจำนวนผู้ใช้เครื่อง APD ยังมีไม่มาก สปสช. จึงได้ส่งเสริมให้เกิดหน่วยบริการในพื้นที่ โดยเพิ่มหน่วยบริการภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้น
โดยล่าสุดได้มีการเปิดตัวศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง เคดีเคซี ถือเป็นเอกชนแห่งแรกที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านบริการล้างไตผ่านทางช่องท้อง และในอนาคต สปสช. จะขยายจำนวนหน่วยบริการภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมดูแลผู้ป่วยให้มากขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยสามารถสอบถามจากแพทย์หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญโรคไตที่ดูแลท่าน หรือ โทร.สายด่วน สปสช. 1330 เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
- 151 views