“สมศักดิ์” รับยื่นหนังสือ “แสดงความขอบคุณ” จากสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทฯ หลังบอร์ด สปสช. เห็นชอบเพิ่มสิทธิประโยชน์ “จัดพาหนะรับส่งเข้ารับบริการสาธารณสุขในระบบบัตรทอง” พร้อมมอบ สปสช. สู่กระบวนการ “ทบทวนรายการอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการในชุดสิทธิประโยชน์”
เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้รับมอบหนังสือจาก นายวิเชียร หัสถาดล ประธานฝ่ายฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เพื่อขอแสดงความขอบคุณในการพัฒนาระบบบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ และขอให้ทบทวนรายการอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการในชุดสิทธิประโยชน์ โดยมีกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมรับมอบ ก่อนการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มีคณะผู้แทนสมาคมสภาคนพิการฯ ประกอบด้วย นางสาวกิจจาพร ชื่นบุญ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) นางสาวฐิติพร พริ้งเพลิด อุปนายกคนที่ 2 สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย และ นางประไพร เจริญสวัสดิ แกนนำชมรมเครือข่ายสมาคมฯ เขตกรุงเทพมหานคร นางสาวจรรยา บัวศร ผู้อำนวยการสำนักงานสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ร่วมยื่นหนังสือฯ ในครั้งนี้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า บอร์ด สปสช. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดูแลคนพิการในด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) แล้ว ยังสนับสนุนการเข้าถึงบริการที่จำเป็น อาทิ การจัดพาหนะรถรับส่งการเข้ารับบริการสาธารณสุขในระบบบัตรทอง ที่บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 67 โดยมอบให้ สปสช. ไปดำเนินการ เพื่อให้เป็นมติบอร์ดฯ ดังกล่าว ส่วนในประเด็นที่ขอให้ทบทวนรายการอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการในชุดสิทธิประโยชน์นี้ เบื้องต้นขอรับเรื่องไว้และจะได้มอบ สปสช. นำเข้าสู่กระบวนการในการทบทวนเพื่อให้เกิดการดูแลผู้พิการได้ดียิ่งขึ้นต่อไป
อย่างไรก็ดี ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ต้องขอขอบคุณทางสมาคมสภาคนพิการฯ และเครือข่ายคนพิการ
ที่ได้มีส่วนร่วมในระบบบัตรทองฯ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล สามารถตอบโจทย์ด้านสาธารณสุขให้กับประชาชนได้อย่างครบถ้วน
ด้าน นางสาวฐิติพร กล่าวว่า การจัดบริการพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ ประกอบด้วย คนพิการที่ได้ขึ้นทะเบียนคนพิการ ผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ และผู้ป่วยที่มีความยากลำบากในการไปรับบริการสาธารณสุขด้วยตนเอง เพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุขในระบบบัตรทองนี้ เป็น 1 ใน 2 ข้อเสนอการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์จากการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปของทางเครือข่ายคนพิการ ซึ่งบอร์ด สปสช. ได้มีมติเห็นชอบไปแล้วนั้น ดังนั้นในวันนี้ทางสมาคมสภาคนพิการฯ จึงมาเพื่อขอบคุณที่ท่านได้ให้ความสำคัญต่อคนพิการ โดยนำข้อเสนอนี้สู่การปรับปรุงและพัฒนาการจัดบริการพาหนะรับส่งจากบ้านไปกลับโรงพยาบาล ทำให้คนพิการสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขโดยสะดวกเพิ่มขึ้น
นายวิเชียร กล่าวว่า ส่วนอีก 1 ข้อเสนอการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ฯ นั้น คือ ขอให้ทบทวนรายการและราคาอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเรื่องรายการอุปกรณ์ อวัยวะเทียม ในการบำบัดรักษาโรค และข้อบ่งชี้ พ.ศ. 2564 อยากขอให้ บอร์ด สปสช. ดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากเป็นรายการและราคาที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2558 ไม่สอดคล้องกับราคาที่จำหน่ายในปัจจุบันแล้ว ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่สามารถซื้ออุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นให้แก่คนพิการอย่างแท้จริง หรือจัดซื้อได้แต่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นของคนพิการ
“ตัวอย่างเช่น รายการที่ 74 รหัส 8903 เบาะรองนั่งสำหรับคนพิการ กำหนดลักษณะคุณสมบัติของเบาะรองนั่งสำหรับคนพิการได้อย่างครอบคลุมและหลากหลายชนิด แต่เมื่อพิจารณาราคาจ่ายกำหนดไว้ไม่เกิน ๘๐๐ บาท จะเห็นว่าราคาดังกล่าวไม่สามารถจัดซื้อเบาะรองนั่งชนิด Air cushion และ gel cushion ได้ เนื่องจากราคาที่จำหน่ายสูงกว่าราคาที่ประกาศกำหนด ส่งผลให้คนพิการที่สูญเสียการรับความรู้สึกช่วงลำตัวหรือก้นลงไป ผู้ที่บาดเจ็บไขสันหลังที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อช่วยกระจายน้ำหนักตัวและป้องกันแผลกดทับ เข้าไม่ถึงทั้งที่จำเป็นเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้” ประธานฝ่ายฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ กล่าว
นางสาวกิจจาพร กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ขอให้มีการพิจารณาเพิ่มรายการอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการในชุดสิทธิประโยชน์ด้วย โดยเฉพาะชุดอุปกรณ์สื่อส่งเสริมพัฒนาการเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูคนพิการทางออทิสติก ทางสติปัญญา และทางการเรียนรู้ รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการอื่นๆ เช่น อุปกรณ์พยุงหลัง (Black Support) สำหรับเด็กและผู้ใหญ่พิการ ที่มีความจำเป็นด้วย
นอกจากนี้ขอให้ สปสช. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการรับฟังความคิดเห็นจากผู้แทนองค์การคนพิการแต่ละประเภทต่อการทบทวน ปรับปรุง และการเพิ่มรายการอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ เข้าชุดสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทอง โดยจัดให้มีการประชุมหารือเพื่อให้โอกาสผู้แทนองค์การคนพิการแต่ละประเภท ได้นำเสนอและให้ข้อมูลรายการอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่คนพิการต้องการจำเป็น เนื่องจากเป็นผู้รับบริการโดยตรงย่อมมองเห็นและเข้าใจปัญหาของคนพิการแต่ละประเภทได้อย่างครอบคลุม
ทั้งนี้ สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ประกอบด้วยองค์กรคนพิการแต่ละประเภท อาทิ สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย และ สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย
- 58 views