1 เม.ย. 67 นี้ สปสช.-สปส.เตรียมระบบให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จัดสิทธิประโยชน์ตรวจสุขภาพ 14 รายการ-บริการสร้างเสริมสุขภาพฯ Fee Schedule 24 รายการ สำหรับ "ผู้ประกันตน"
วันที่ 30 มีนาคม 2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25-26 มีนาคม 2567 สปสช.ได้ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ชี้แจงแนวทางการจัดบริการและการขอรับค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ให้แก่สถานพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคมที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกับ สปสช. เรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 เมษายน 2567 นี้เป็นต้นไป
บูรณาการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ประกันตน
โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานประกันสังคม ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกันในการบูรณาการให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ประกันตน ภายใต้ชุดบริการการตรวจสุขภาพประจำปี ที่ สปส.กำหนด จำนวน 14 รายการ และชุดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามรายการบริการ (Fee Schedule) ที่สปสช. กำหนดจำแนกตามกลุ่มอายุ จำนวน 24 หมวดรายการ นอกจากนี้ยังเป็นการบูรณาการหน่วยบริการจากที่เคยขึ้นทะเบียนแยกกันของทั้งสองหน่วยงาน ให้เป็นหน่วยบริการภายใต้ระบบเดียวกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกันตนให้สามารถเข้ารับริการในหน่วยบริการเพียงแห่งเดียวแต่ได้รับบริการครอบคลุมตามรายสิทธิประโยชน์ทุกรายการที่ทั้งสองหน่วยงานกำหนด โดยไม่ต้องเดินทางไปขอรับบริการหน่วยบริการหลายแห่งเหมือนเช่นในอดีตอีกต่อไป
“ที่ผ่านมาทั้ง 2 หน่วยงานก็ได้ให้สิทธิในการสร้างเสริมสุภาพและป้องกันโรค โดยในชุดบริการตรวจสุขภาพประจำปีแก่ผู้ประกันตนอยู่แล้ว 14 รายการนั้นมีบางรายการที่มีส่วนที่ซ้ำซ้อนกัน วันนี้ได้ชี้แจงให้โรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. แล้ว ให้ทราบว่า การให้บริการตรวจสุขภาพประจำปีแก่ผู้ประกันแล้ว 14 รายการภายใต้ระบบใหม่จะมีการรับผิดชอบร่วมกันระหว่าง 2 หน่วยงาน ในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น” ทพ.อรรถพร กล่าว
สำหรับหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับทั้งสองหน่วยงานแล้ว สามารถให้บริการตรวจสุขภาพประจำปี จำนวน 14 รายการ โดยเบิกชดเชยค่าบริการผ่านระบบ KTB นอกเหนือจากนั้นยังสามารถให้บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคจากโปรแกรมอื่นๆ ตามที่ สปสช. กำหนด หรือใช้โปรแกรม KTB ก็ได้ จากนั้นเมื่อได้ข้อมูลแล้ว สปสช. จะทำการประมวลผล และตรวจสอบความถูกต่องก่อนการเบิกจ่าย และดำเนินการตัดข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายและออกรายงานให้แก่หน่วยบริการทุกวันที่ 15 และสิ้นเดือนของทุกเดือน ในขณะเดียวกันข้อมูลรายการใดที่ สปส. รับผิดชอบก็จะตัดข้อมูลส่งให้ สปส. เพื่อดำเนินการเบิกจ่ายโดยจะมีการกำหนดรอบโอนเงินให้ตรง หรือใกล้เคียงกันกับ สปสช.ต่อไป
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการใช้งานนั้น ผู้ประกันตน ผู้มีสิทธิบัตรทอง และประชาชนคนไทยทุกสิทธิการรักษา สามารถเข้ารับได้ที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการของ สปสช. และ สปส. โดยจะต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนและหลังเข้ารับบริการ สำหรับผู้ประกันตนคนไทยสามารถใช้บัตรประชาชน หรือคิวอาร์โค้ด (QR Code) จาก Health ID ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง เพื่อยืนยันตัวตนกับหน่วยบริการ ส่วนผู้ประกันตนต่างด้าวต้องใช้เอกสารที่ สปส. กำหนด คือเลขผู้ประกันตน 13 หลัก และเลขพาสปอร์ต หรือ Work Permit
อย่างไรก็ดี ภายในแอปฯ เป๋าตัง จะมีส่วนที่เป็นกระเป๋าสุขภาพที่จะมีการระบุสิทธิประโยชน์ที่สามารถใช้บริการได้ ซึ่งส่วนนี้ทางธนาคารกรุงไทย และ สปสช. ได้ร่วมกันพัฒนามาประมาณ 2-3 ปี เพื่อให้ประชาชนคนไทยสามารตรวจสอบสิทธิของตัวเอง ดูประวัติ ผลคัดกรองในบางรายการ รวมถึงการแจ้งเตือนการนัดหมายได้ และจะมีการเพิ่มข้อมูลบริการจาก สปส. เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับต่อไป
นอกจากนี้ ในส่วนของหน่วยบริการที่เข้าร่วม ภายใต้ Krungthai Digital Health Platform นั้น จะมีระบบอำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยบริการ สามารถใช้ตรวจสอบสิทธิ ยืนยันตัวตนผู้รับบริการ ตรวจสอบเงื่อนไขในแต่ละกิจกรรม บันทึกข้อมูลตลอดจนส่งข้อมูลเพื่อเบิกจ่าย โดยประเด็นสำคัญคือ หน่วยบริการจำเป็นต้องมีการจัดการระบบ Hospital Portal เพื่อเตรียมข้อมูลที่จะแสดงให้ประชาชนทราบก่อนเลือกเข้ารับบริการ เช่น เวลาเปิดทำการ เบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น
- 3926 views